พระราชกิจ


        การปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์


             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
             สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลายวาระ เช่น การเสด็จแทนพระองค์ ไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ศาลากลางจังหวัดน่าน และทรงห่มผ้าทิพย์องค์พระเจดีย์ พระบรมธาตุแช่แห้ง ณ วัดพระธาตุแช่แห้ง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน (๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๘)

             - การเสด็จออกแทนพระองค์พระราชทานพระวโรกาสให้คณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้า เช่น เพื่อรายงานเกี่ยวกับ “กองทุนพระราชมรดกสมเด็จพระบรมราชชนก” และการจัดตั้ง “กองทุนเฉลิมพระเกียรติ” การถวายเงินรายได้เพื่อสมทบทุนมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
             - การเสด็จแทนพระองค์ไปทอดพระเนตรการแสดงต่าง ๆ เช่น การแสดงคอนเสิร์ตของคณะนักร้องประสานเสียงกรุงเทพฯ (๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๐) การแสดงออเคสตร้า ที่สถานเอกอัครราชทูตอิตาลี ประจำประเทศไทยจัดส่งมาร่วมแสดง เนื่องในงานมหกรรมการแสดงนานาชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสทรงฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี (๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘) เป็นต้น
             - การเสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานเพลิงพระศพและศพในหลายวาระ


             สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
             สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้โดยเสด็จฯสมเด็จพระบรมราชชนนี เพื่อทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ในทุกท้องถิ่น ณ จังหวัดต่าง ๆ เช่น การเสด็จเยี่ยมราษฎร ตำรวจ ทหาร และข้าราชการ เพื่อพระราชทานสิ่งของ ตรวจสุขภาพและรักษาผู้ป่วยไข้ ตลอดจนการสงเคราะห์ผู้ยากไร้ คนชราอยู่เป็นเนืองนิตย์ ในคราวที่สมเด็จพระบรมราชชนนีไม่อาจเสด็จฯไปทรงร่วมงานด้วยพระองค์เองก็ได้ทรงมอบให้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นผู้แทนพระองค์ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ มีอาทิ

             - การเสด็จแทนพระองค์ไปทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ เช่น การเสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านฮ่องขาด ตำบาลจาน อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ (๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๑) และที่บ้านโนนมะม่วง อำเภอเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร (๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๑) เพื่อพระราชทานอุปกรณ์การเรียน การสอนแก่ครู เครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียนแก่นักเรียน เครื่องนุ่งห่ม แก่ผู้สูงอายุ ของเล่นแก่เด็ก ๆ

             - การเสด็จแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีเปิดสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ณ จังหวัดต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา เช่น สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์กาญจนบุรี (๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑) สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์นนทบุรี (๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖)

             - การเสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสนับสนุนกิจการสาธารณสุข และการช่วยเหลือสงเคราะห์ต่าง ๆ เช่น



  • การพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๕ แสนบาท สนับสนุนโครงการร่วมน้ำใจสู่ยุทธภูมิร่มเกล้า (๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๑)
  • การพระราชทุนทรัพย์จาก “กองทุนการกุศลสมเด็จย่า” จำนวน ๖ แสนบาท เพื่อสมทบกองทุนนมและอาหารเสริม สำหรับการซื้อนมผงช่วยเหลือเด็กอ่อนวัย ๓ เดือนถึง ๑ ปีครึ่ง ที่ประสบปัญหาขาดสารอาหาร และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์อีก ๓ แสนบาท ให้มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ เพื่อจัดซื้อรถกระบะไว้ใช้ในกิจการของมูลนิธิฯ (๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๖)
  • การเสด็จแทนพระองค์ไปในงานที่องค์กรต่าง ๆ จัดกิจกรรมเพื่อนำเงินรายได้โดยเสด็จพระราชกุศลสมเด็จพระบรมราชชนนี เนื่องด้วยโอกาสวันพระราชสมภพ เป็นต้น






        การศึกษา


             การสร้างโรงเรียนและทุนการศึกษา

             พระกรณียกิจในด้านการศึกษาโดยเฉพาะในการสร้างโรงเรียนและการให้ทุนการศึกษานั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้โดยเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนนี ในท้องถิ่นทุรกันดารและชายแดน เพื่อทรงเยี่ยมและพระราชทานสิ่งของแก่นักเรียนและราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้พระราชทานเงินทุนสำหรับสร้างโรงเรียนหลายแห่งและทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน เช่น

             โรงเรียนกัลยาณิวัฒนา ๑ ที่ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นโรงเรียนในเขตตำรวจตระเวนชายแดน เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๘ สมเด็จพระบรมราชชนนีได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารเรียน และได้พระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนกัลยาณิวัฒนา ๑” ปัจจุบันได้เปิดสอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ

             โรงเรียนวราวัฒนา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา (พระอิสริยศักดิ์ในขณะนั้น) ได้พระราชทานเงินทุนสำหรับก่อสร้างโรงเรียนให้กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต ๓ และกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ดำเนินการก่อสร้างโรงเรียน ณ บ้านโคกรัก ตำบลโกรกแก้ว อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ และได้พระราชทานนามว่า “โรงเรียนวราวัฒนา” และทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ เปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ต่อมาได้ย้ายมาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ นอกจากนี้ยังได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงเรียนกัลยาณิวัฒนา ๒ ที่จังหวัดหนองคาย โรงเรียนเฉลิมราษฎรบำรุง ที่จังหวัดเลย เป็นต้น

             ในวาระที่เสด็จเยี่ยมราษฎรทั้งในท้องถิ่นทุรกันดารและในชุมชนแออัดหลายแห่ง ก็ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นการศึกษา จัดซื้อของเล่นเด็กและหนังสือรวมทั้งพระราชทานเครื่องแต่งกายให้เด็ก เช่น ที่ชุมชนแออัดวัดพระยายัง ชุมชนแออัดวัดคลองเตย โรงเรียนประชาบาลบางอีเม้ย โรงเรียนประชาบาลคลองตัน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมเป็นต้น


             การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน

             สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะมั่นคงในการส่งเสริมการศึกษาของเด็ก ทรงตระหนักในความสำคัญอันเป็นพื้นฐานของการศึกษาชั้นสูงต่อไป เคยรับสั่งว่าโปรดเด็กเล็กมาก และทรงมี พระประสงค์ที่จะสอนเด็กเล็กมากกว่า แต่กลับได้ไปสอนเด็กโตตามมหาวิทยาลัย ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เสด็จเยี่ยมศูนย์เด็กหลายแห่ง และเด็กก่อนวัยเรียน

             เมื่อมูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.ส.อ.ท.) ในพระอุปถัมภ์ฯได้ดำเนินงานโครงการศิลปะประดิษฐ์ และสื่อการสอน โดยเชิญชวนให้สมาชิก ส.ส.อ.ท. และผู้สนใจได้มาช่วยกันคิดต้นแบบสื่อการเรียนการสอน เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาของเด็กระดับประถมและก่อนวัยเรียน ในลักษณะเกมช่วยการเรียนรู้และเสริมทักษะ และจัดพิมพ์หนังสือคู่มือ วิธีสร้างสื่อการสอน คณะกรรมการมูลนิธิ ส.ส.อ.ท. ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายองค์อุปถัมภ์ทอดพระเนตร ทรงมีพระกรุณา พระราชทานแนะนำข้อความควรแก้ไขปรับปรุงแก่ผู้คิดแบบเกมสื่อการสอน และทรงสนพระหฤทัยนำนำชุดสื่อการสอนเสริมทักษะภาษาไทย คือ เกมไปโรงเรียน เกมบัตรอักษร ๓ หมู่ และเกมต่อบัตรภาพอักษรไปสาธิต และทดลองแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร และโรงเรียนของตำรวจตระเวนชายแดน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อโดยเสด็จฯสมเด็จพระบรมราชชนนีไปเยี่ยมราษฎร และนำหน่วยแพทย์อาสาฯไปยังท้องที่ในถิ่นทุรกันดารในจังหวัดต่าง ๆ สมเด็จพระบรมราชชนนี ก็ได้ทรงสนพระราชหฤทัยในสื่อการสอนและบางครั้งทรงร่วมสังเกตในการสาธิตเกมแก่เด็ก

             สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้พระราชทานพระดำริไว้หลายประการสำหรับสื่อการเรียนการสอนนักเรียนระดับประถมศึกษา เช่น เมื่อเสด็จ ณ โรงเรียนมูลนิธิราชประชาสมาสัยได้พระราชทานพระดำริว่า “ครูผู้สอนควรทำงานเพื่อเด็กด้วยความอดทน และเสียสละ ควรศึกษาหาความรู้ในสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ ป้อนให้แก่เด็ก ควรสอนให้อ่านได้มิใช่ท่องได้และครูควรประดิษฐ์อุปกรณ์การสอนขึ้นเอง พยายามใช้วัสดุที่หาง่าย เช่น วัสดุเหลือใช้หรือที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ควรหวังสิ่งบริจาคเสมอไป”

             ขณะที่ทรงลองเกมสื่อการสอนเสริมทักษะภาษาไทย ชุดนักเรียน ที่มูลนิธิ ส.ส.อ.ท. นำมาขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการได้ขอเข้าเฝ้า และกราบทูลสัมภาษณ์ถึงแนวพระดำริต่าง ๆ และได้เขียนบทสัมภาษณ์พิมพ์งานวารสารพัฒนาหลักสูตร ของกรมวิชาการ ดังจะกล่าวในลำดับต่อไป สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงขอให้ครู ผู้ว่าราชการจังหวัดและตำรวจตระเวนชายแดน รายงานผลการร่วมทดลองมายังโครงการศิลปะประดิษฐ์และสื่อสารการสอนของมูลนิธิ ส.ส.อ.ท. ทำให้สามารถปรับปรุงต้นแบบเสร็จเรียบร้อยและมอบให้โรงพิมพ์องค์การค้าคุรุสภารับไปจัดพิมพ์เผยแพร่จำหน่ายอยู่ในขณะนี้ ในระหว่างที่โดยเสด็จฯสมเด็จพระบรมราชชนนี ไปทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้ทรงเห็นความทุกข์ยากของราษฎรที่ขาดแคลนหลายอย่าง ซึ่งต้องการความอนุเคราะห์ช่วยเหลือโดยเฉพาะการศึกษาของเด็ก ๆ ในท้องถิ่นทุรกันดารเหล่านั้น

             ทรงเห็นความแตกต่างของความเป็นอยู่พื้นฐานทางภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการยากที่จะสอนให้ลงรอยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ จึงมีพระดำริที่จะช่วยให้การเรียนการสอนชั้นประถมศึกษาได้ผลดี และทรงเห็นว่าอุปกรณ์การสอนเป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดความสนใจในบทเรียน ทุกครั้งที่โดยเสด็จฯสมเด็จพระบรมราชชนนีได้ทรงนำตัวอย่างสื่อการสอนในรูปเกมต่าง ๆ ที่โครงการศิลปะและสื่อการสอนของมูลนิธิ ส.ส.อ.ท. นำขึ้นไปทูลเกล้าฯถวายให้ทรงทดลอง ทรงใช้วิธีการของนักวิทยาศาสตร์ในการสังเกตบันทึกข้อมูล วิเคราะห์และติดตามผลการใช้สื่อการเรียนการสอน

             ข้อมูลที่ทรงบันทึกไว้ได้พระราชทานให้แก่กรรมการโครงการศิลปะประดิษฐ์และสื่อการสอนของมูลนิธิ ส.ส.อ.ท. รวมเป็นแฟ้ม ทั้งยังทรงกรุณาวิเคราะห์ปัญหาที่ทรงพบในระหว่างการทดลอง และพระราชทานคำแนะนำแก่กรรมการโครงการ ฯ เพื่อปรับปรุงแก้ไขต้นแบบให้เหมาะสมยิ่งขึ้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไม่เพียงแต่จะทรงพระกรุณาสาธิตสื่อการเรียนการสอน ที่โครงการศิลปะประดิษฐ์ และสื่อการสอนของมูลนิธิ ส.ส.อ.ท. จัดทำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเท่านั้น หากยังทรงคิดต้นแบบสื่อสารการสอนพระราชทานให้โครงการฯ จัดทำด้วยสื่อการเรียนการสอน ที่พระราชทานดำริและต้นแบบให้มูลนิธิ ส.ส.อ.ท. จัดทำได้แก่



  • เกมต่อบัตร อักษร - ภาพ (๓๒ อักษร) (เสริมการอ่านภาษาไทย ในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑)
  • เกมต่อบัตร ภาพ - คำ ระดับชั้น ป.๑ (เสริมการอ่านภาษาไทย ในชั้นประถมปีที่ ๑)
  • เกมต่อบัตรคณิตศาสตร์ ระดับชั้น ป.๑ (เสริมทักษะการบวกเลข ในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑)
  • เกมต่อบัตรภาพ - คำ ระดับชั้นอนุบาล (เสริมการอ่านภาษาไทย ในชั้นอนุบาล)
  • เกมต่อบัตรคณิตศาสตร์ ระดับชั้นอนุบาล (เสริมทักษะการอ่านตัวเลขและจำวนวนภาพ ในชั้นอนุบาล)



             นอกจากจะทรงพระดำริแบบสื่อการสอนช่วยเสริมทักษะการเรียนภาษาไทย และคณิตศาสตร์เบื้องต้นแล้ว สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ยังทรงมีพระดำริที่จะให้จัดทำเกมเสริมประสบการณ์ชีวิต ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการงานพื้นฐานอาชีพ และด้านสังคมศึกษา ตลอดจนเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไว้เพื่อพระราชทานแก่มูลนิธิ ส.ส.อ.ท. รับไปจัดทำต้นแบบเพื่อการทดลองผล รวมทั้งทรงมีพระเมตตาพระราชทานทุนสร้างสื่อการสอนให้แก่มูลนิธิ ส.ส.อ.ท. สำหรับในการดำเนินงานด้วย






        การแพทย์และการสาธารณสุข


             ทุนการกุศลสมเด็จย่า

             ก่อนสมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งรองประธานทุนการกุศลสมเด็จย่า แต่ก็ทรงงานเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว ภายหลังสมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ก็ยังทรงเป็นรองประธานทุนการกุศลสมเด็จย่าต่อไป โดยไม่มีประธาน เช่นเดียวกัน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิ พอ.สว. และประธานของ ศิริราชมูลนิธิ สืบแทนสมเด็จพระบรมราชชนนี นอกเหนือจากองค์กรการกุศลและมูลนิธิต่าง ๆ แล้ว สมาคมและองค์กรวิชาการทางการแพทย์และทางสาธารณสุข ได้รับพระกรุณาธิจาก สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงพระกรุณาเสด็จเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการทั้งระดับประเทศ ระดับภาคพื้นเอเชีย และระดับนานาชาติ และองค์ประธานในกิจกรรมทางการแพทย์และการสาธารณสุขมากมาย

             พระจริยวัตรและความสนพระหฤทัย ทุกครั้งที่เสด็จเปิดประชุมวิชาการทางการแพทย์และการสาธารณสุข เป็นที่ชื่นชมสรรเสริญจากบรรดาแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งชาวไทยและชาวประเทศ จนในปัจจุบันนี้ วงการแพทย์การพยาบาลและการสาธารณสุขของไทย ต่างมีความประทับใจและยกย่องเทิดทูน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นเสมือนผู้แทนองค์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” และ “องค์บิดาแห่งการสาธารณสุขไทย” สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในความรู้สึกของวงการแพทย์ การพยาบาล การสาธารณสุขไทย เปรียบเสมือนองค์ผู้สืบสานเจตนารมณ์และพระราชกรณียกิจแห่งองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี ด้วยทรงเป็นพระราชธิดา และทรงศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานวิชาหนึ่งของการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข


             มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ฯ

             เป็นอีกมูลนิธิหนึ่งซึ่ง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้พระราชทานพระกรุณาธิคุณและพระเมตตา จนสามารถช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาจากครอบครัวยากจนให้ได้มีโอกาสเข้ารับการรักษา และคุ้มครองหัวใจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจในเด็กได้เป็นจำนวนมาก

             มูลนิธิเด็กโรคหัวใจในพระอุปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗ ซึ่งด้วยพระบารมีและพระเมตตาที่ได้พระราชทานข้อแนะนำต่าง ๆ ตลอดจนพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินจากกองทุนการกุศลสมเด็จย่า แก่มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ฯ อย่างสม่ำเสมอ ทำให้กิจกรรมของ “มูลนิธิเด็กโรคหัวใจในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจที่ยากจน ให้เข้ามารับการตรวจรักษา ในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้อย่างกว้างขวาง โดยให้การอนุเคราะห์เปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม ให้เครื่องกระตุ้นหัวใจ ให้อุปกรณ์เครื่องช่วยการเต้นของหัวใจ ช่วยการรักษาโดยใช้ Balloon Catheter ให้อุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ในการผ่าตัด ตลอดจนการให้การรักษาทางการผ่าตัดโดยไม่ใส่วัสดุเทียม ทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ กลับคืนมาอย่างน่าประทับใจ เป็นที่ชื่นชมยินดีปรีดาของครอบครัวอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังทำให้แพทย์ พยาบาล ตลอดจนประชาชนทั่วไป เข้าใจ และมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับโรคหัวใจในเด็กมากขึ้น รวมทั้งให้ทุนกุมารแพทย์ ศึกษาอบรมสาขาเฉพาะโรคหัวใจในทารกและเด็ก ทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย

             สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเปรียบเสมือนแสงสว่างที่ส่องทางสว่างให้แก่มูลนิธิโรคหัวใจ ฯ ดำเนินการช่วยเหลือเด็กไทยที่น่าสงสาร ที่นอกจากจะยากจน อยู่ห่างไกลแล้ว ยังต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคหัวใจ ซึ่งหลายชนิดเป็นมาแต่กำเนิด ชีวิตช่างน่าเวทนาเสียจริง แต่หลังจากที่เป็นมูลนิธิเด็กโรคหัวใจในพระอุปถัมภ์ฯแล้ว ชีวิตเด็กน้อยที่น่าเวทนาสงสารเหล่านี้ก็เปลี่ยนไป กลับมีชีวิตที่ร่าเริง แจ่มใส และมีคุณภาพชีวิตที่ปกติ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา ตลอดจนหมู่บ้าน ชุมชน กลับมีชีวิตชีวา มีความสุข สุขใดจะเทียบเท่ามีลูกน้อยที่ร่าเริง สมบูรณ์ อยู่ในบ้าน ประเทศชาติได้ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า ด้วยพระบารมีและพระเมตตาแห่งองค์สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยแท้


             มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

             กำเนิดขึ้นด้วยพระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชชนนีร่วมกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในการที่จะสงเคราะห์ผู้พิการขาขาดที่ยากไร้ให้มี “ขาเทียม” ทดแทน ด้วยพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณและพระกรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์ที่จะช่วยเหลือผู้พิการขาขาด ซึ่งเมื่อทรงพบว่า นายแพทย์เทิดชัย ชีวะเกด จาก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถประดิษฐ์ขาเทียมจากขยะพลาสติกและวัสดุในประเทศไทย โดยมีต้นทุนการผลิตเพียงขาละ 300 บาท ทรงเห็นเป็นโอกาสดีที่ผู้พิการขาขาดที่ยากจนจะได้มีโอกาสใส่ขาเทียม เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวและครอบครัวได้ เพราะขาเทียมที่มีอยู่ในที่อื่น ๆ นั้น มีราคาแพง และต้องเสียเวลารอคอยนานมาก สมเด็จพระบรมราชชนนี จึงพระราชทานเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชทานเงินจำนวน ๗๕๐,๐๐๐ บาท เป็นทุนจดทะเบียน “มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้า ฯ กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นประธาน ซึ่งภายหลัง เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีสวรรคตแล้ว สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์ “มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระบรมราชชนนี” มีวัตถุประสงค์หลักคือ จัดทำขาเทียมให้แก่ผู้ป่วยยากจนทุกเชื้อชาติ ศาสนา โดยไม่คิดมูลค่า รวมทั้งฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ให้สามารถทำขาเทียมตามแบบของมูลนิธิฯได้ ตลอดจนค้นคว้า วิจัยพัฒนาคุณภาพของขาเทียมด้วย

             การปฏิบัติงานของมูลนิธิขาเทียม ฯ ในส่วนของผู้ป่วย จะจัดหน่วยเคลื่อนที่ไปทำขาเทียมให้ผู้ป่วยที่ยากจนตามจังหวัดต่าง ๆ โดยมีอาสาสมัครที่เป็นแพทย์ เจ้าหน้าที่และช่างทำขาเทียมจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศที่ผ่านการฝึกอบรมจากมูลนิธิ ฯ แล้วเดินทางไปครั้งละ ๔๐ - ๕๐ คน ขนอุปกรณ์สัมภาระ เครื่องมือเครื่องใช้ เต๊นท์ ตลอดจนอาหารเสบียงสำรอง ไปตั้ง ณ โรงพยาบาลภูมิภาคที่กำหนด แล้วเปิดหน่วยทำขาเทียมให้แก่ผู้ป่วยที่ขาขาด

             ในระยะแรก ๆ หน่วยเคลื่อนที่ของ “มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ออกปฏิบัติงานปีละ ๕ ครั้ง ปัจจุบันเพิ่มเป็นปีละ ๗ ครั้ง และพัฒนาคุณภาพขาเทียมเป็นมาตรฐานสากล โดยใช้พลาสติกความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene) ซึ่งผลิตในประเทศไทย สามารถทำได้แล้วเสร็จภายใน ๑ วัน มีลักษณะเบา (๑.๕ กิโลกรัม) แต่แข็งแรง ทนทาน ค่าใช้จ่ายเพียงขาละ ๗๐๐ บาท นับถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ มูลนิธิขาเทียม ฯ ได้ออกหน่วยไปแล้ว ๓๙ ครั้ง ใน ๓๕ จังหวัด รวมทั้งนครเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และชายแดนไทยที่ติดกับเขมร (เพื่อบริการคนเขมรที่พิการขาขาด) ด้วย ทำ “ขาเทียม” ให้แก่ผู้ป่วยที่ยากจน รวม ๔,๗๑๐ ขา นอกจากนี้ มูลนิธิขาเทียม ฯ ยังให้อุปกรณ์การแพทย์และช่างที่ประจำตามโรงพยาบาลต่าง ๆ นำไปทำขาเทียมตามแบบของมูลนิธิ ฯ ให้แก่ผู้ป่วยขาขาดที่ยากจนอีกประมาณ ๓๐๐ ขา นับรวมทั้งสิ้นที่มูลนิธิขาเทียม ฯ ทำให้ผู้ป่วยขาขาดมี “ขาเทียม” ไปแล้วประมาณ ๕,๐๐๐ ขา

             สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระเมตตาและพระกรุณาธิคุณต่อผู้พิการขาขาดอย่างล้นพ้น โดยมีพระประสงค์ให้ผู้พิการขาขาดมี “ขา” เดินได้ ทำมาหาเลี้ยงชีพได้ตามปกติ เพราะบางคนเกิดมาไม่เคยเดินเลย ขาขาดมาแต่กำเนิด เช่น เด็กผู้ป่วยคนหนึ่งอายุ ๓ ขวบแล้วยังไม่เคยเดินเลย ขาขาดแต่กำเนิด อีกคนหนึ่งใช้ไม่ค้ำยันมา ๒๖ ปี ตั้งแต่เกิดมา เพิ่งจะมา “เดิน” เมื่อได้รับ “ขาเทียมพระราชทาน” นี้ เพราะสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มักจะทรงโปรดที่จะเสด็จเยี่ยมการปฎิบัติงานของหน่วยเคลื่อนที่ของมูลนิธิขาเทียม ฯ และพระราชทานขาเทียมให้เมื่อทำเสร็จแล้ว ที่น่าปลาบปลื้มยินดีของผู้พิการขาขาดที่มาขอรับ “ขาเทียมพระราชทาน” นั้น ผู้ป่วยจะมาลงทะเบียนที่ หน่วยเคลื่อนที่ได้รับการตรวจโดยแพทย์ วัดและจำลองแบบแล้วนำไปทำขาเทียม เอามาให้ลอง ปรับปรุงจนได้ที่ ทดลองเดิน ถ้าไม่ดีก็ปรับปรุงแก้ไขจนใช้ได้ดี ขบวนการทั้งหมดนี้สามารถทำเสร็จได้ภายในวันเดียว แต่ส่วนใหญ่ในการปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่ขาเทียม ฯจะมีครั้งหนึ่ง ๆ ๑๐๐ - ๒๐๐ จึงมักทำเป็นวัน ๆ รอพระราชทานพร้อม ๆ กัน ภายหลังลงทะเบียนแล้ว ๓ - ๔ วัน ก็ได้ขาเทียม “เดิน” กลับได้ทันที ที่ยิ่งกว่านั้นคือ ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อีกด้วย นอกจากนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ยังทรงเป็นพระธุระขอให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกสลากการกุศลหารายได้ให้แก่มูลนิธิขาเทียมฯ ทำให้การปฎิบัติงานทำ “ขาเทียมพระราชทาน” เจริญก้าวหน้าและกว้างขวางเช่นปัจจุบัน ซึ่งเชื่อว่าจะพัฒนาเจริญรุ่งเรืองและขยายวงกว้างต่อไปมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ด้วยน้ำพระหฤทัยอันประเสริฐของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์


             โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ

             เด็กออทิสติกเป็นอย่างไร แต่ก่อนนี้คนทั่วไปแม้กระทั่งในวงการแพทย์เองยังรู้จักกันไม่มากนัก ไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง เชื่อว่ามีความผิดปกติของหน้าที่ของระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีปัจจัยเกี่ยวข้องกับไวรัส กรรมพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในร่างกาย ทำให้เกิดความผิดปกติที่แสดงพฤติกรรมให้เห็นว่าเด็กไม่สามารถพัฒนาด้านสังคม การพูดภาษา และการสื่อความหมายไปตามวัยอย่างเหมาะสม ซึ่งจะปรากฏให้เห็นได้ในระยะ ๓ ขวบแรกของชีวิต เช่นในขวบปีแรกเด็กปกติจะเริ่มพูดได้เป็นคำ ๆ และเรียนรู้ความหมายไปด้วย แต่เด็กออทิสติกจะพูดเป็นคำ ๆ พูดตามไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ความหมาย เมื่อเด็กโตขึ้นจะมีท่าทางแปลก ๆ แยกตัวออกไปอยู่ในโลกของตัวเองหลายรายเกิดร่วมกับโรคปัญญาอ่อนด้วย

             สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงทราบว่าเด็กออทิสติก ได้รับการตรวจรักษาดูแลโดยโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จังหวัดสมุทรปราการ ทรงพระเมตตาที่จะช่วยเหลือเด็กออทิสติกตามแต่จะทรงช่วยได้ จึงโปรดให้ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงเพ็ญแข ลิ่มศิลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ และคณะแพทย์พยาบาล เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบทูลถวายรายงานเกี่ยวกับเรื่องเด็กออทิสติกอย่างละเอียด ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นำเด็กออทิสติกเข้าเฝ้า ฯ ทรงซักถามและพระราชทานข้อแนะนำ รวมทั้งทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ของโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์และมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ด้วย

             ด้วยพระเมตตาคุณแห่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เด็กออทิสติกและโรคออทิซึม เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เด็กออทิสติกได้รับการดูแลรักษากว่า ๑๐ แห่ง ทั่วประเทศ ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องให้ดีขึ้น จนสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติและอยู่ในสังคมได้ หลายคนสามารถเรียนต่อจนได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษาได้ดำเนินชีวิตด้วยตนเองได้ ทั้งนี้ด้วยพระเมตตาของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์โดยแท้


             มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร (ชุมพร) จุฑาธุช

             เป็นอีกมูลนิธิหนึ่งที่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นประธาน ตั้งขึ้นตามพระประสงค์ของหม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร จุฑาธุช เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อให้ทุนการศึกษาและรางวัลแก่นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล อาจารย์พยาบาล และพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ด้วยพระเมตตาที่จะทรงส่งเสริมการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลากรที่มาจากการปฎิบัติงานในต่างจังหวัด โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับเป็นประธานการประชุมพิจารณาคัดเลือกทุนการศึกษาและรางวัล พิธีมอบทุนรางวัลครั้งแรกประทานโดย หม่อมเจ้าหญิงบุณจิราธร ฯ เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พศ. ๒๕๒๒ ณ โรงพยาบาลสมิติเวช ต่อจากนั้นพระราชทานโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เป็นประจำทุกปี นับถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับทุนการศึกษาและรางวัลหลายร้อยราย นับเป็น “แม่หลวงของพยาบาล” ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขโดยแท้


             มูลนิธิช่วยการสาธารณชุมชน ในพระอุปถัมภ์ฯ

             ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อสนับสนุนกิจการของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในการดูแลสุขภาพของประชาชนทั่วเขตกรุงเทพมหานคร สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๖ ด้วยพิจารณาว่ามูลนิธิช่วยการสาธารณสุขชุมชนมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะของเด็กเล็กในแหล่งเสื่อมโทรม ทรงห่วงใยในสวัสดิภาพของเด็กและครอบครัวชุมชนแออัด ทรงใส่พระหฤทัยในปัญหาสุขภาพ อนามัย ยาเสพติด และโรคเอดส์ ได้เสด็จเยี่ยมชุมชนแออัดหลายแห่ง พระราชทานความช่วยเหลือนานัปการ รวมทั้งโปรดให้มูลนิธิช่วยการสาธารณสุขชุมชนสนับสนุน สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชน (Mini Health Center) ให้ทั่วทุกแห่ง แห่งใดจัดตั้งไม่ได้ ก็ให้จัดตั้งตู้ยาชุมชนแทน นับถึง พ.ศ. ๒๕๔๑ กรุงเทพมหานคร มีศูนย์บริการสาธารณสุข ๖๐ แห่ง ศูนย์สุขภาพชุมชน ๒๗๐ แห่ง ตู้ยาชุมชน ๒๐๐ แห่ง

             ด้วยพระเมตตาคุณและพระกรุณาธิคุณของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สุขภาพของอนามัยของประชากรใน “ชุมชน” ของกรุงเทพมหานครดีขึ้น และปัญหาต่าง ๆ ลดน้อยลงตามลำดับ


             มูลนิธิถันยรักษ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ

             จัดตั้งเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินจากทุนการกุศลสมเด็จย่า จำนวน ๑๒ ล้านบาท เป็นทุนเริ่มก่อตั้งมูลนิธิถันยรักษ์ ฯ โดยทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ และประธานกิตติมศักดิ์ และ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นประธานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและการตรวจโรคมะเร็งเต้านม โดยจัดตั้งศูนย์ถันยรักษ์ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อเป็นสถานที่ให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคเต้านมที่ครบวงจร โดยมีเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยที่สามารถตรวจเอกซเรย์เต้านม ที่สามารถช่วยให้การเจาะชิ้นเนื้อมาวิเคราะห์ได้แม่นยำ เที่ยงตรง และเจ็บปวดน้อย ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นเครื่องแรกของประเทศไทย

             ในฐานะองค์ประธานของมูลนิธิถันยรักษ์ ฯ และด้วยพระเมตตาต่อผู้เจ็บป่วย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงตระหนักถึงภารกิจของมูลนิธิถันยรักษ์ ฯ และทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนี ที่จะให้ผู้หญิงไทยรอดพ้นอันตรายจากมะเร็งเต้านม โดยได้รับความรู้ความเข้าใจและการป้องกันตนเองที่ถูกต้อง รวมทั้งได้รับการตรวจวินิจฉัยจากศูนย์ถันยรักษ์ ฯ โดยเท่าเทียมกัน จึงทรงพระกรุณาเสด็จมาประชุมคณะกรรมการบริหารมูลนิธิถันยรักษ์ ฯ เป็นประจำ พระราชทานคำแนะนำและพระดำริในการดำเนินงาน รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินจากทุนการกุศลสมเด็จย่าแก่มูลนิธิถันยรักษ์ อีกจำนวน ๒ ล้านบาท เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ เพื่อเป็นเงินทุนซื้อเครื่องแมมโมแกรมแบบดิจิตอลซิสเต็ม และเป็นทุนสำหรับกิจการทั่วไปของมูลนิธิถันยรักษ์ ฯ ต่อไปด้วย เป็นพระกรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม เป็นอย่างยิ่ง


             มูลนิธิอาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

             นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จแปรพระราชฐานและประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณถึงความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นขัดสนในเรื่องอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคเมื่อยามเจ็บไข้ของตำรวจตระเวนชายแดนและราษฏรทั่วไปที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารเรื่อยมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้ง “หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ใช้ชื่อย่อวา “พอ.สว.” ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยเชิญชวนนายแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลเข้ามาเป็นอาสาสมัคร เป็นหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ในพระองค์เดินทางไปทำการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในหมู่บ้านที่ห่างไกลทุรกันดาร ต่อมาได้พัฒนาและเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับจนมี พอ.สว. ประจำจังหวัดรวม ๕๐ จังหวัดทั่วประเทศ และเพิ่มภารกิจมากขึ้น จากการเป็นหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ก็มี “แพทย์ทางอากาศ” หรือ “แพทย์ทางวิทยุ” ช่วยรักษาทางวิทยุ ช่วยนำผู้ป่วยบางประเภทมารักษายังโรงพยาบาลจังหวัดหรือในกรุงเทพ ฯ พร้อมทั้งออกค่ารักษาพยาบาลให้ด้วย เป็นต้น และในปี พ.ศ.๒๕๑๗ ได้พระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จดทะเบียนเป็น “มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” (มูลนิธิ พอ.สว.) เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ด้วย

             สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้โดยเสด็จฯสมเด็จพระบรมราชชนนีในกิจการของ พอ.สว. มาตลอด ตั้งแต่ครั้งยังเป็นหน่วยแพทย์ พอ.สว.จนกระทั่งเป็นมูลนิธิ พอ.สว. จะปรากฏเห็นกันโดยทั่วไปว่าทั้งสองพระองค์เสด็จ ฯ เยี่ยมราษฎร ทรงนำหน่วยแพทย์ พอ.สว.ไปทำการตรวจรักษาผู้ป่วย ณ หมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดาร และในบางรายได้ทรงรับผู้ป่วยไว้ในพระราชานุเคราะห์ส่งต่อไปรักษา ณ โรงพยาบาลในส่วนจังหวัดหรือกรุงเทพ ฯ ส่วนมาก จะเห็นว่าเสด็จ ฯโดยเฮลิคอปเตอร์ เพราะเป็นถิ่นทุรกันดาร บางแห่งไม่มีทางรถยนต์ มีแต่ทางเท้า แต่ก็มีประชาชนมาเฝ้า ฯ รับเสด็จ ฯ และมาขอรับการตรวจอย่างเนืองแน่น ทำให้สุขภาพอนามัยของประชาชนในถิ่นทุรกันดารดีขึ้นตามลำดับ จำนวนผู้มาเฝ้า ฯ กลับเพิ่มทวีขึ้น เพราะพวกเขาเจริญขึ้นทั้งทางสุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่มากขึ้น แต่มารับการตรวจรักษาน้อยลง

             จวบจนเมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ กล่าวได้ว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิ พอ.สว. ไม่ใช่เป็นเพียง “พระราชมรดก” แต่ทรงเห็นแก่สุขภาพอนามัย ความเป็นอยู่ ตลอดจนการศึกษาและการพัฒนา “คน” ของประชาชนคนไทย ซึ่งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เขตแดนที่มีความเจริญน้อยกว่าเป็นสำคัญ ด้วยพระเมตตาจะให้พวกเขาเหล่านั้นมีชีวิต มีวิญญาณสมกับเป็น “คน” มีคุณภาพชีวิต มีครอบครัว มีสังคมที่มีความสุข เป็นน้ำพระหฤทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาและพระกรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง โดยมิได้คิดถึงพระองค์เองเลยสักนิดว่าจะต้องทรงงาน ต้องทรงตรากตรำพระวรกายมากเพียงใด เพียงเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมีความสุขสมบูรณ์เท่านั้น






        การสังคมสงเคราะห์


             สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสนพระหฤทัยในสวัสดิภาพของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ได้โดยเสด็จฯสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเยี่ยมและพระราชทานพระอนุเคราะห์แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในท้องถิ่นทุรกันดารมาตลอด ทรงศึกษาและสังเกตความเป็นอยู่ของราษฎร ทรงสอบถามปัญหา ทรงแนะนำให้ราษฎรรู้จักปฏิบัติตน ดูแลตนเองให้ถูกต้องเพื่อให้มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดขึ้นได้ ทรงมีพระประสงค์ที่จะให้เด็กด้อยโอกาสได้มีการพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจ มีการศึกษาที่เหมาะสมกับวัย ด้วยทรงเห็นว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพของประชากร

             ไม่เพียงแต่ประชาชนในดินแดนที่ห่างไกลเท่านั้นที่พระราชทานพระเมตตา ความเป็นอยู่ของประชาชนในเมืองก็ทรงมีความสนพระหฤทัย ทรงตระหนักถึงปัญหาชุมชนแออัด จึงทรงเสด็จเยี่ยมชุมชนแออัดหลายแห่ง ในกรุงเทพมหานครเป็นการส่วนพระองค์ เช่น ชุมชนคลองเตย ชุมชนวัดพระยายัง ชุมชนย่านสวนลุมพินี ชุมชนกองขยะซอยอ่อนนุช และชุมชนเพชรเกษม ๑๐๔ เป็นต้น รับส่งว่า “ต้องไปถึงที่จึงจะรู้ว่าชาวบ้านและเด็กเหล่านี้มีความลำบากแค่ไหน ก็ดีใจที่มีโอกาสเห็นด้วยตนเองที่คลองเตย อ่อนนุช และหนองแขม ” ในขณะที่เสด็จทรงมีพระเมตตาซักถามถึงปัญหาเดือดร้อน ทรงทักทายเด็ก ๆ ด้วยพระพักตร์ที่แสดงความห่วงใย ก่อให้เกิดพลังใจแก่ผู้ทุกข์ยากตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาชุมชน เจ้าหน้าที่เขต และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสนใจดูแลและพัฒนาชุมชนนั้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การถมหลุมบ่อ การซ่อมถนน การบริการสาธารณูปโภค เป็นต้น นอกจากนี้ การเสด็จเยี่ยมชุมชนดังกล่าว ยังเป็นการเผยให้เห็นชีวิตอีกด้านหนึ่งของสังคม และปลุกจิตสำนึกอันก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการให้ความอนุเคราะห์ในวงกว้างมากขึ้น

              สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระหฤทัยของนักสังคมสงเคราะห์อย่างเต็มเปี่ยม แม้ทรงลำบากอย่างไรก็ไม่ทรงย่อท้อดังเหตุการณ์ในการเสด็จเยี่ยมชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง ระหว่างที่ทรงพระดำเนินไปบนทางปูด้วยไม้แผ่นเก่า ๆ แผ่นหนึ่งผุหักลง พระบาททะลุลงไป และไม้ครูดพระชงฆ์เป็นแผลอักเสบอยู่เดือนกว่า แต่มีรับสั่งว่า “...ไม่เป็นไรจะได้ไม่ลืมการเยี่ยมสลัมครั้งนี้ ...” เป็นที่ปลาบปลื้มแก่ราษฎรที่ได้เข้าเฝ้าในครั้งนั้นยิ่งนักที่ได้เห็นความมุ่งมั่นในการทรงงานของพระองค์เพื่อชาวไทย

             โดยที่ทรงสนพระหฤทัยปัญหาเด็กเล็กในชุมชนแออัด ทรงอ่านพบประกาศหาทุนของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมจากหนังสือพิมพ์ ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ จึงโปรดให้เลขานุการในพระองค์ฯ ติดต่อสอบถามความเป็นมาของมูลนิธิฯ แล้วพระราชทานทุนทรัพย์จากทุนการกุศลสมเด็จย่าและทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมจัดตั้งเป็น “กองทุนนมและอาหารเสริม” และ “กองทุนงบฉุกเฉิน” เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ยากไร้ในชุมชนแออัดให้พ้นสภาวะขาดสารอาหารและช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอัคคีภัย อุบัติภัย และภัยจากเคมี

             ต่อมาทรงรับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมไว้ในพระอุปถัมภ์ เนื่องในโอกาสที่มูลนิธิก่อตั้งมาครบ ๑๐ ปี ทรงมีรับสั่งแก่คณะกรรมการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ว่า “การเริ่มต้นที่ดีของชีวิตเด็กนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เด็กควรมีการพัฒนาพร้อมกันทุกด้าน แต่ด้านสุขภาพอนามัยควรทำก่อนเพราะสำคัญมาก”

             มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ได้ดำเนินงานสนองพระดำริมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ได้พระราชทานทุนทรัพย์จาก “ ทุนการกุศลสมเด็จย่า” และ “ทุนการกุศล กว.” เป็นรายปี สามารถนำดอกผลมาใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเด็กอ่อนวัยแรกเกิดถึง ๕ ปี ที่อยู่ในสภาวะยากลำบากนับพันคนต่อปีที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวน ๑๖ ชุมชน และยังไม่ได้ขยายไปถึงเด็กที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิอื่น ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ มูลนิธิสัมพันธกิจ จังหวัดเชียงราย มูลนิธิเพื่อเด็กไทยในชนบทจังหวัดขอนแก่น

             ความช่วยเหลือที่ให้แก่เด็กปฐมวัยเหล่านี้ ได้แก่ นมผงคุณภาพ และอาหารเสริมที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็ก การส่งเสริมให้เด็กได้รับการตรวจสุขภาพและรับวัคซีนครบตามอายุ การตรวจวัดพัฒนาการเด็กตามวัย การอบรมพ่อแม่และผู้ดูแลเด็กให้มีความรู้ความเข้าในเรื่องการดูแลเลี้ยงดูเด็กเล็กอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้เด็กสามารถเติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจ

             พระกรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานแก่มูลนิธิฯ อย่างสม่ำเสมอโดยตลอด เป็นการบ่งชี้ความสนพระหฤทัยและเต็มเปี่ยมพระหฤทัยที่จะแก้ปัญหา และช่วยเด็กด้อยโอกาสให้มีความหวังที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี เป็นอนาคตที่น่าภาคภูมิใจของประเทศชาติต่อไป






        การสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ


             สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้เสด็จเยือนประเทศต่าง ๆ ตามคำกราบทูลเชิญเสด็จอย่างเป็นทางการ และเสด็จเยือนเป็นการส่วนพระองค์เมื่อทรงมีความสนพระหฤทัย การเสด็จเยือนต่างประเทศ นอกจากเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีกับเจ้าของประเทศแล้ว ก็ยังเป็นโอกาสที่ทรงแนะนำให้ชาวไทยรู้จักประเทศในแง่มุมต่าง ๆ อย่างถ่องแท้ด้วย ความสนพระหฤทัยในด้านโบราณคดีประวัติศาสตร์ ศิลปะ จะเห็นได้จากการเสด็จทอดพระเนตรแหล่งโบราณคดี และศิลปะที่สำคัญในประเทศอยู่เป็นนิจ ในการเสด็จเยือนต่างประเทศ ก็จะทรงศึกษาความเป็นมา ศิลปวัฒนธรรมของประเทศนั้น

             ก่อนที่จะจัดทำกำหนดการข่าวสารเสด็จเยือนต่างประเทศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย จึงมิใช่เพียงว่าเสด็จที่ใดและทรงพบใคร แต่จะให้ข้อมูลทุก ๆ ด้านของประเทศนั้น ทั้งทางลึกและทางกว้าง ทรงค้นคว้าข้อมูล และตรวจแก้บทโทรทัศน์ด้วยพระองค์เองก่อนการเสนอข่าวทุกครั้งเพื่อความถูกต้อง ภายหลังการเสด็จเยือนต่างประเทศ บ่อยครั้งก็จะทรงนิพนธ์และรวบรวมเรื่องราวของประเทศนั้น จัดพิมพ์เป็นหนังสือ เช่น การเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ๖ ครั้ง ก็ทรงมีพระนิพนธ์ ๖ เล่ม บางครั้งนอกจากจะทรงนิพนธ์หนังสือแล้ว ยังทรงจัดทำวิดีทัศน์ด้วย เช่น สาธารณรัฐตุรกี และบางครั้งก็มีเพียงวิดีทัศน์เท่านั้น เช่น การเสด็จเยือนหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้

             พระกรณียกิจในการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศ ในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๑ - ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ พอสรุปได้ดังนี้

             วันที่ ๑๕ – ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๑ เสด็จเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส ตามคำกราบทูลเชิญของรัฐบาลฝรั่งเศส ในขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งนายกสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย วัตถุประสงค์หลักของการเสด็จเยือน จึงเป็นการศึกษาดูงานด้านการสอนภาษาฝรั่งเศส และโปรดให้อาจารย์ภาษาฝรั่งเศส ๔ คน ตามเสด็จไปด้วย ได้ทรงพบกับนักวิชาการและบุคคลสำคัญในกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส ก่อให้เกิดความช่วยเหลืออย่างกว้างขวางจากรัฐบาลฝรั่งเศสต่อประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน



ขอขอบคุณ ที่มา : http://www.hrh84yrs.org





Copyright © 2007 health information system development office , All rights reserved
This site is best viewed with Internet Explorer 768 x 1024 resolution