HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



กินหมูดิบ….ถึงตาย ไม่ใช่แค่หูดับ








โรคไข้หูดับ หรือ โรคติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic infectious disease) ซึ่งในโรคนี้เป็นการติดต่อจากหมู/สุกรสู่คน โรคไข้หูดับเป็นโรคที่พบได้ประปรายทั่วโลก โดยมักพบในประเทศที่มีการเลี้ยงหมูเป็นอุตสาหกรรม และในปี พ.ศ. 2548 พบมีการระบาดครั้งใหญ่ในประเทศจีน มีผู้ติดเชื้อทั้งหมดประมาณ 100 คน ซึ่งในชั้นต้นของการระบาดครั้งนี้ มีการเสียชีวิตมากกว่า 20 คน

โรคไข้หูดับ พบได้ในทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุแต่ทั้งนี้ เกือบทั้งหมดจะพบโรคเกิดในผู้ ใหญ่ โดยพบในเพศชายสูงกว่าในเพศหญิง อาจเพราะเพศชายทำงานสัมผัสกับหมูมากกว่าเพศหญิง

ในประเทศไทยมีรายงานโรคนี้ครั้งแรกในผู้ป่วย 2 คนในปี พ.ศ. 2530 และยังมีรายงานพบโรคไข้หูดับในอายุน้อยที่สุด คือ ในเด็กอายุ 1 เดือน 1 ราย และพบว่า ประมาณ 88% ของผู้ป่วย ดื่มสุราร่วมด้วย ซึ่งอาจเกี่ยวกับคนดื่มสุรามักกินหมูสุกๆดิบๆซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งต่อการติดเชื้อโรคนี้


การติดเชื้อสู่คน


การติดเชื้อไข้หูดับไม่ได้เกิดจากระบบการหายใจ แต่เป็นการติดเชื้อผ่านบาดแผลตามร่างกาย (บางครั้งเราอาจไม่รู้ตัวว่ามีบาดแผลก็ได้) หรือเข้าทางเยื่อบุตา ผู้ที่ติดเชื้อมักมีอาชีพเกี่ยวกับการเลี้ยงหมู ทำงานในโรงงานชำแหละหมู หรือผู้สัมผัสกับสารคัดหลั่งของหมู เช่น น้ำมูก น้ำลาย และผู้ที่มีความเสี่ยง หมายรวมถึงผู้จำหน่าย หรือผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ หรือดิบๆสุกๆ

โรคนี้ระบาดอยู่ในหลายประเทศที่มีการเลี้ยงหมูรวมทั้งประเทศไทย มักพบในชุมชนที่มีการเลี้ยงหมู ในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ แพร่ และน่าน

มีรายงานความเสี่ยงการติดโรคนี้มากขึ้น ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้ที่เคยตัดม้ามออก ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยติดสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือโรคหัวใจ

จากรายงานที่มีการรวบรวมทั่วโลกพบว่า การติดเชื้อพบในผู้ใหญ่เกือบทั้งสิ้น อายุที่พบจากการศึกษาในประเทศไทย เฉพาะในปี พ.ศ. 2554 พบว่าเกิดโรคอยู่ระหว่างอายุ 29-82 ปี


อาการของผู้ที่ติดเชื้อ


การติดเชื้อจากสุกรไปสู่คนเกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่น ติดทางบาดแผลที่ผิวหนัง การกินเนื้อหรือเลือดสุกรที่ไม่สุก การติดเชื้อทางการหายใจ มีโอกาสน้อยและไม่รุนแรงเท่าการติดเชื้อโดยการสัมผัสโดยตรง อาการที่พบ ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน มีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง บางรายติดเชื้อในกระแสเลือด โดยไม่พบภาวะเยื่อหุ้มสมอง บางรายแสดงอาการไข้ร่วมกับมีผื่น หลอดเลือดอักเสบ และอุจจาระร่วง บางรายติดเชื้อในเลือดอย่างรุนแรง บางรายติดเชื้อในเยื่อหุ้มหัวใจแบบกึ่งเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่รอดชีวิตบางรายยังคงมีความพิการหลงเหลืออยู่ เช่น หูหนวกทั้ง 2 ข้าง และเป็นอัมพาตครึ่งซีก


อาการทั่วไป


- มีไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นเหียน ปวดศีรษะ


อาการเฉพาะ


1. เยื่อหุ้มสมองอักเสบมีไข้ ปวดศีรษะมาก คอแข็ง หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทหูจะทำให้การได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลันจนถึงขั้นหูหนวก หูหนวก ภายหลังที่หายจากอาการป่วยแล้วอาจจะมีความผิดปกติในการทรงตัว หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทตาจะทำให้ม่านตาอักเสบ ลูกตาฝ่อ หรือตาบอดได้

2. ติดเชื้อในกระแสโลหิตเป็นอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

3. กลุ่มอาการ Toxic Shock Syndrome

4. กลุ่มอาการอื่น ได้แก่ ข้ออักเสบ หรือลิ้นหัวใจอักเสบ


วิธีการรักษา


การรักษาไข้หูดับ คือการให้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาเพนนิซิลลิน (Penicillin) หรือยาเซฟไตร อะโซน (Ceftriaxone) เข้าหลอดเลือดดำ ในรายที่แพ้ยาดังกล่าวอาจใช้ยา แวนโคมัยซิน (Van comycin) ทั้งนี้เชื้อมักดื้อต่อยา อีรีโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือยาซัลฟา(Sulfa-group)

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนที่รอดชีวิตมา ยังอาจมีความผิดปกติหลงเหลืออยู่ เช่น ความผิดปกติในการทรงตัว เนื่องจากเชื้อได้เข้าไปทำลายเยื่อหุ้มสมอง หรือหากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทตา จะทำให้ม่านตาอักเสบ ลูกตาฝ่อ หรือตาบอดได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางคนยังอาจเป็นอัมพาตครึ่งซีกได้เช่นกัน


วิธีการป้องกัน


การป้องกันไข้หูดับทำได้โดย

1. สวมรองเท้าบู๊ต สวมถุงมือ สวมเสื้อผ้าที่รัดกุม ระหว่างปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับหมู/สุกรทุกขั้นตอน จะป้องกันการแพร่เชื้อจากสุกรมาสู่คนได้

2. ล้างมือ ล้างเท้า ล้างตัวให้สะอาดหลังการสัมผัสสุกร และเนื้อสุกร

3. เมื่อเกิดแผลต้องระวังในการสัมผัสสุกร

4. กำจัดเชื้อจากฟาร์ม โดยการเลี้ยงหมูตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของหมู

5. ไม่รับระทานเนื้อหมูที่ไม่สุกดี เช่น จิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุกพอ หรือ ลาบสุกๆดิบๆ เป็นต้น

6. ไม่กินหมูที่ป่วย หรือหมูตายจากโรค


สถานการณ์โรคไข้หูดับ หรือ โรคติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


พ.ศ. 2543 - 2549 พบผู้ป่วยติดเชื้อ Streptococus suis จำนวน 81 ราย

พ.ศ. 2546-2549 พบผู้ป่วยติดเชื้อ Streptococus suis จำนวน 40 ราย สัดส่วนเพศชายต่อหญิงเท่ากับ 3 : 1 อายุเฉลี่ย 55 ปี จากการสอบประวัติผู้ป่วยพบ 2 ใน 3 มีประวัติกินเนื้อหมูดิบ 1 ใน 5 มีแผลที่ผิวหนัง 2 ใน 3 ดื่มสุรา และ 1 ใน 3 มีโรคประจำตัว อาการของโรคที่ดำเนินไปพบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ : เยื่อบุหัวใจอักเสบ : ติดเชื้อในกระแสเลือดเท่ากับ 2:1:1 บางรายมีอาการลูกตาอักเสบ และเยื่อบุช่องท้องอักเสบ พบอัตราตาย ร้อยละ 20

พ.ศ. 2545-2549 พบผู้ป่วยติดเชื้อ Streptococus suis ที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบจำนวน 15 ราย พบผู้ป่วยหูตึง หูหนวกถาวร 10 ราย โดยเริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 1 - 9 วัน หลังเกิดอาการไข้ ปวดศีรษะ เกิดอาการหูตึงทั้ง 2 ข้าง 7 ราย 5 ใน 7 ราย หูเสื่อมปานกลางถึงหูหนวก อาการหูตึง 1 ข้าง 3 ราย 2 ราย หูเสื่อมน้อย 1 รายหูหนวก ตรวจพบประสาททรงตัวเสื่อมมาก 6 ราย ใน 12 ราย (no caloric response พบทุกรายที่หูหนวกหรือเสื่อมรุนแรง) มีอาการเดินเซ และเวียนศีรษะ 10 รายใน 15 ราย

จากการรายงานของภาควิชาจักษุวิทยา ในช่วง 3 ปี 2547-2549 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจาก Streptococus suis ที่มีอาการตาบอด ตาฝ่อ ข้างเดียว หรือ สองข้าง อย่างน้อย 10 ราย

พ.ศ. 2553 พบผู้ป่วยจำนวน 185 ราย แยกเป็นเพศชาย 136 ราย เพศหญิง 49 ราย และเสียชีวิต 12 ราย เป็นเพศชายทั้งหมด หากแยกเป็นรายภาคพบว่าผู้ป่วยสูงสุดในภาคเหนือ 171 ราย เสียชีวิต 12 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบ ผู้ป่วย 7 ราย และภาคกลางพบผู้ป่วย 7 รายเช่นกัน จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง

สาเหตุที่มีผู้ป่วยจำนวนมากมาจากการรับประทานเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบ เช่น ลาบ หลู้ ที่นำเลือดหมูสดๆ มาราดบนหมูสุกก่อนรับประทาน แม้ว่าเนื้อจะสุก แต่เลือดดิบก็ทำให้เกิดโรคได้เหมือนกัน ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการติดโรคในภาวะปกติ ได้แก่ ผู้บริโภคเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อสุกร สัตวบาล และสัตวแพทย์ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล รอยถลอก หรือเยื่อบุตา รวมทั้งการบริโภคเนื้อหรือเลือดสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุก







เรียบเรียงโดย :  ธัญญรัตน์ เกิดสุวรรณ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา :  - http://www.dld.go.th/dcontrol/th/images/stories/document/AIert/streptococcus%20suis.pdf

 - http://haamor.com/th/%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8
   %AB%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A/#article102

 - http://www.thaipost.net/node/55174

 - http://dpc10.ddc.moph.go.th/ppat/ebook/3strep/index.html
   (สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่10 - http://dpc10.ddc.moph.go.th)