Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 19/07/2561 ]
อย.ย้ำคุมอาหาร ไขมันทรานส์ ผู้ผลิตปรับตัว-เลี่ยง ฟาสต์ฟู้ด

 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially hydrogenated oils, PHOs) เป็นแหล่งของกรดไขมันทรานส์ และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบเป็นอาหารห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายว่า ไขมันทรานส์เป็นไขมันไม่อิ่มตัว พบได้ทั้งในธรรมชาติ เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์เคี้ยวเอื้อง นม เนย ชีส และเนื้อสัตว์ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง จะพบไขมันทรานส์ได้ในอาหารสำเร็จรูปที่มีเนยเทียม หรือเนยขาวเป็นส่วนประกอบ เช่น โดนัททอด พัฟ พาย เพสตรี เค้ก คุกกี้ เวเฟอร์ เป็นต้น
          "อันตรายจากไขมันทรานส์ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลรวม คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีผลให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดลงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด" เลขาธิการ อย.กล่าว
          เลขาธิการ อย.กล่าวอีกว่า ปี 2559 อย.ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้งบประมาณของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการ "ประเทศไทยปลอดไขมันทรานส์" สำรวจข้อมูลปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์น้ำมันและไขมันและผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งจัดประชุมร่วมกับผู้ประกอบการไขมันและน้ำมัน และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหาร ผู้ผลิตน้ำมันและไขมันยืนยันถึงความเป็นไปได้ในการปรับสูตรและกระบวนการผลิตน้ำมันและไขมัน โดยใช้กระบวนการผสมน้ำมัน (Oil blending) แทน และมีการพัฒนาปรับปรุงสูตรส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหารแล้ว ซึ่งประกาศควบคุมไขมันทรานส์จะออกเป็น "ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย" จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2562 เป็นต้นไป
          "ข้อกำหนด คือ ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย รวมถึงการผลิตเพื่อการส่งออกด้วย ทั้งนี้ ไม่ได้ห้ามการตรวจพบไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหาร อาจมีการใช้วัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์ตามธรรมชาติเป็นส่วนประกอบ และภายหลังจากที่ประกาศมีผลใช้บังคับ อย.จะเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า หรือสถานที่จำหน่ายอย่างเข้มงวด ผู้บริโภคไม่ต้องตื่นตระหนก ผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายในปัจจุบันได้พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว" เลขาธิการ อย.กล่าว
          น.ส.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร อย. กล่าวว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เข้าใจและปรับตัวแล้ว ปัจจุบันมีเทคโนโลยีแทนที่อีกมาก เช่น น้ำมันธรรมชาติมาผสมกัน ฯลฯ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรายใหญ่มีการปรับตัวแล้ว ส่วนรายย่อยก็ไม่ต้องกังวล เพราะต้องรับน้ำมันจากผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งปรับสูตรหมดแล้ว
          พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย และโฆษก สธ. กล่าวว่า ข้อมูลวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่ากรดไขมันทรานส์จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะร่างกายกำจัดไขมันทรานส์ได้ยาก ทำให้มีการอักเสบของผนังหลอดเลือด นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อจอประสาทตาเสื่อม โรคนิ่วในถุงน้ำดี และยังเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ด้วย ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้ลดและเลิกการใช้ไขมันทรานส์ ภายในปี 2566 เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะเชื่อว่าจะลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ 500,000 รายต่อปี
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 50 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 โทษจำคุก 6 เดือน - 2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท

 pageview  1204505    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved