Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 27/03/2560 ]
'อย.' เล็งคุม 'โซเดียม' อาหารสำเร็จรูป ลดบริโภคเค็ม สกัดโรคเรื้อรัง

 การพูดถึง "โรคร้ายที่มากับการทานเค็ม" ในแวดวงสุขภาพ ดูจะเป็นประเด็นโลกแตกที่ไม่อาจหาข้อยุติได้อย่างเป็นรูปธรรมเสียที แม้หลายคนทราบดีอยู่แล้วว่า การรับประทานอาหารที่ให้โซเดียมมากเกินความจำเป็นต่อร่างกาย นำมาซึ่งโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง ที่สร้างภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาโดยรวมเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
          อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มในวิถีชีวิตของคนเมืองยิ่งมีความยากลำบากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวันล้วนบีบให้ผู้บริโภคหันมา รับประทานอาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของโซเดียมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) เครือข่ายลดบริโภคเค็ม องค์การอนามัยโลก และผู้ประกอบการภาคเอกชน จึงได้หารือเพื่อขับเคลื่อนมาตรการควบคุมปริมาณโซเดียมในอุตสาหกรรมอาหารอย่าง กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส ที่จัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้โซเดียมในกระบวนการผลิต หรือปรุงรสในปริมาณที่มากกว่าผลิตภัณฑ์อาหารประเภทอื่นๆ
          นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนับวัน จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ถึงแม้ว่าทั่วโลกมีมาตรการ ที่หลากหลายในการพยายามดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคแล้วก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ของการเกิดโรคเหล่านั้นมาจากการบริโภคโซเดียมคลอไรด์มากเกินความต้องการจนเกิดอันตรายต่อสุขภาพ เห็นได้จากข้อมูลที่องค์การอนามัยโรคได้จัดทำร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2550 พบว่า ประชากรไทยได้รับโซเดียมจากอาหารโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4,351.7 มิลกรัมต่อวัน ซึ่งมากกว่าปริมาณสูงสูดที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายที่ปริมาณ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ถึง 2 เท่า จากสถานการณ์ดังกล่าว หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีแนวทางในการผลักดันมาตรการลดโซเดียมในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร โดยเริ่มมีการหารือกับผู้ประกอบการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการปรับสูตรอาหาร หรือการบังคับใช้สัญลักษณ์เตือนอาหารเกลือสูงในบะหมี่และโจ๊กกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็น แช่แข็ง ผงและก้อนปรุงรส รวมไปถึงการพิจารณามาตรการเก็บภาษีเกลือโซเดียม ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดตั้ง คณะทำงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เครือข่ายผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรม ในการขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมกันโดยใช้ข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนจะบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายต่อไป
          ด้าน นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการดำเนินงานเพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียมอย่างต่อเนื่อง ผ่านการรณรงค์ให้ความรู้ และการสื่อสารเตือนภัย แต่ยังขาดความหลากหลายของมาตรการที่ใช้ในการจัดการปัญหา รวมถึงยังขาดกลไกในการบูรณาการดำเนินงานจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งปี 2558 ที่การดำเนินงานในประเด็นนี้เริ่มมีความ ชัดเจนมากขึ้น เมื่อทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหาและร่วมกัน ผลักดันจนเกิดนโยบาย รวมถึงมีการกำหนดทิศทางผ่านยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ. 2559-2568 ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนได้ทำงานโดยมีเป้าหมาย ร่วมกันคือ "ลดการบริโภคเกลือของประชาชนลง ร้อยละ 30 ภายในปี 2568" นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคยังมียุทธศาสตร์ย่อยที่เรียกว่า SALTS ที่มีรายละเอียดดังนี้
          S (Stakeholder Network) พัฒนาและขยายภาคีเครือข่าย A (Awareness) เพิ่มความรู้ สร้างความตระหนัก และเสริมทักษะให้ประชาชน บุคลากรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง L (Legislation and Environmental reform) ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้ผู้ประกอบการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ผลิตภัณฑ์มีปริมาณโซเดียมลดลง รวมทั้งเพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมต่ำ T (Technology and Innovation) พัฒนาและวิจัยองค์ความรู้ให้นำไปสู่การปฏิบัติ S (Surveillance, Monitoring and Evaluation) พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินผล
          ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ย่อยนี้ จะเป็นตัวกำหนดชี้วัดเป้าหมายความสำเร็จ รวมถึงกระบวนการติดตามการทำงานให้เกิดผลสำเร็จของกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายภายในระยะเวลา 20 ปีนับจากนี้
          "หากผู้ประกอบการร่วมกันลดโซเดียมในผลิตภัณฑ์ลง 3-5% ผู้บริโภคไม่มีทางรับรู้ถึงความเค็มที่ลดลง และไม่ส่งผลกระทบกับยอดขายอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการจะได้คือ รายได้ ของผู้ประกอบการจะไม่ลดลง ในขณะที่ลูกค้าหรือ ผู้บริโภคมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและมีชีวิตที่ยืนยาวสามารถบริโภคสินค้าต่างๆ ได้นานขึ้น ส่วนนี้เองจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายในระยะยาว" รองเลขาธิการ อย. กล่าวในตอนท้าย

 pageview  1205019    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved