Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 18/10/2559 ]
ท่าจีนล้นตลิ่งท่วมสุพรรณอินทนนท์หนาวยะเยือก8องศา

  อธิบดีกรมชลฯ ทำหนังสือถึง 7 ผู้ว่าฯ ภาคกลาง เตือนสถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยา มีแนวโน้มสูงเกินเก็บกัก เหตุร่องมรสุมพาดผ่านไทย แม่น้ำป่าสัก-ท่าจีนระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ชาวกรุงเก่ากว่า 2 หมื่นครัวเรือนใน 7 อำเภอเดือดร้อนหนัก น้ำในแม่น้ำป่าสักเอ่อล้นหลังเขื่อนพระราม 6 ติดธงแดง เร่งระบาย เขื่อนอุบลรัตน์วิกฤต เร่งพร่องน้ำรอรับน้ำบ่า พายุฝนกระหน่ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจชัยภูมิ ราษฎรกว่าพันหลังคาเรือนจมน้ำ พื้นที่เกษตรเสียหายนับหมื่นไร่ ปริมาณน้ำเขื่อนลำตะคองเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่จ่ายน้ำออก เตรียมรองรับปริมาณน้ำไหลเข้าเพิ่มเติม เหตุพื้นที่ท้ายเขื่อนยังมีปริมาณฝนตกหนัก แม่น้ำยม จ.พิจิตร วิกฤตเช่นกัน หลังรับน้ำจากสุโขทัย-พิษณุโลก เตือนประชาชน 4 อำเภอลุ่มน้ำยมเฝ้าระวัง ขณะที่ดอยอินทนนท์ยะเยือกแล้ว 8 องศา นักท่องเที่ยวแห่สัมผัสอากาศหนาวชมทะเลหมอก
          วันที่ 8 ต.ค. นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เผยถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำภายในเขื่อนลำตะคอง ภายหลังจากในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีปริมาณฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดปริมาณน้ำกักเก็บภายในเขื่อนลำตะคองมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และในพื้นที่ อ.ปากช่อง ซึ่งเป็นพื้นที่เหนือเขื่อนมีปริมาณฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอยู่ที่ 6 ล้าน ลบ.ม. โดยล่าสุดมีปริมาณน้ำกักเก็บภายในเขื่อน 88.034 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 28 อย่างไรก็ตามทางเขื่อนชลประทานยังคงสั่งการให้งดจ่ายน้ำออกจากเขื่อน เนื่องจากต้องรักษาและเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บภายในเขื่อน อีกทั้งในพื้นที่ท้ายเขื่อนยังมีปริมาณฝนตกลงมาเติมตามแหล่งน้ำต่างๆ อยู่จำนวนมาก
          นายสุทธิโรจน์กล่าวว่า ขณะที่หลายฝ่ายเป็นห่วงถึงมวลน้ำในแต่ละพื้นที่ที่ตกลงมาในพื้นที่ท้ายเขื่อนที่อาจไหลลงมาท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อน รวมทั้งเขตเศรษฐกิจที่ตัวเขตเทศบาลนครนครราชสีมานั้น ยืนยันว่าจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบยังไม่พบว่ามีพื้นที่ใดที่อาศัยติดริมลำตะคองได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นตลิ่ง เนื่องจากทางเขื่อนลำตะคองประชาสัมพันธ์ไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ เจ้าหน้าที่ประตูระบายในลุ่มน้ำลำตะคอง ทั้ง 5 อำเภอ ตั้งแต่ อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่มวลน้ำจะไหลเข้าถึงให้เตรียมความพร้อมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่และติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นยังสั่งการให้เจ้าหน้าที่เริ่มเปิดประตูระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำลงสู่พื้นที่ต่ำไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อเตรียมรับปริมาณน้ำที่จะไหลเข้ามาสมทบในพื้นที่และป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน
          ที่ จ.ศรีสะเกษ นายธวัช สุระบาล ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำในพื้นที่ อ.ศิลาลาด หลังฝนตกหนักในพื้นที่ติดต่อกันมานาน ทำให้น้ำท่วมขังในที่นาราษฎร เบื้องต้นระดมชาวบ้าน เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ นายธวัชเผยว่า จากการสำรวจพบว่านาข้าวของราษฎรเดือดร้อนจากน้ำท่วมขัง 2 จุด ประกอบด้วย ในพื้นที่ ต.กุง 500 ไร่ และในพื้นที่ ต.หนองบัวดง 800 ไร่ รวม 1,300 ไร่ สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษประสานจัดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งสูบน้ำออกจากนาข้าว เพื่อลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุด โดยจะสูบน้ำเข้าแก้มลิง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ เก็บกักน้ำได้ 150,000 ลบ.ม. เพื่อใช้ยามขาดแคลน
          ที่หอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา หน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ กำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะ อ.ฆ้องชัย อ.กมลาไสย และอ.ร่องคำ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มและติดกับแม่น้ำชี แม่น้ำปาว เฝ้าระวังเตรียมพร้อมรับมือ จัดเตรียมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำ เรือท้องแบนไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยเหลือและอพยพประชาชนหากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากเกรงว่ามวลน้ำจาก จ.ชัยภูมิและขอนแก่นที่ยังกระจายอยู่ตามทุ่งนา ซึ่งมีปริมาณมหาศาลจะไหลลงแม่น้ำชีและไหลมายังพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์พร้อมกันในสัปดาห์หน้า
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำชียังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการตรวจสอบบริเวณสถานีวัดระดับน้ำและข้อมูลอุทกวิทยา กรมชลประทาน จุดที่ TE.16A บริเวณเชิงสะพานบ้านท่าพระเนาว์ ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ล่าสุดเช้าวันเดียวกันนี้ อยู่ที่ 5.30 เมตร ยังคงอยู่ในระดับที่รองรับน้ำได้อีกมาก ขณะที่กระแสน้ำยังคงเชี่ยวกรากและหนุนสูงอย่างต่อเนื่อง อันมีผลมาจากมวลน้ำหนุนจาก จ.ชัยภูมิ ตามลำน้ำชีที่เริ่มไหลเข้าพื้นที่ จ.ขอนแก่น ขณะที่จากการตรวจสอบปริมาณน้ำเก็บกักของเขื่อนอุบลรัตน์เช้าวันเดียวกันนี้ อยู่ที่ 2,431 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 73 ของความจุอ่าง ในจำนวนนี้นำไปใช้งานได้ 1,200 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 49 ขณะที่ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องบริเวณโดยรอบเขื่อนอุบลรัตน์ตลอดตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ วันละ 50.95 ล้าน ลบ.ม.
          นายทรงวุฒิ กิจวรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการ ส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย กรมชล ประทาน กล่าวว่า จากพายุฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องคาดการณ์ว่าจะยังคงมีฝนตกทั่วทั้ง จ.ขอนแก่น ไปจนถึงวันที่ 17 ต.ค. หากระดับน้ำเขื่อนสูงมากจนเขื่อนอุบลรัตน์ต้องเปิดสปิลเวย์ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงที่ข้าวกำลังตั้งท้องออกรวงทั้งในพื้นที่เกษตรด้านเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน จะส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย จึงต้องปรับการระบายน้ำจาก 9 ล้าน ลบ.ม. เป็น 10 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งจะไม่ส่งผลต่อภาวะน้ำท่วมฉับพลัน มีเพียงภาวะน้ำหนุนเท่านั้น เนื่องจากแม่น้ำพองและพื้นที่รับน้ำยังคงสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกจำนวนมาก จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำในภาพรวมเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้ตลอดทั้งฤดูฝนและมีน้ำใช้ตลอดทั้งช่วงหน้าแล้ง
          นายทรงวุฒิกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ระดับน้ำในเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณน้ำเต็มเขื่อน จึงจำเป็นต้องพร่องน้ำด้วยการระบายน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำหนุนในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ ขณะที่มวลน้ำจากแม่น้ำชีที่ไหลมาจาก จ.ชัยภูมิ ขณะนี้มวลน้ำเข้าเขต จ.ขอนแก่น แล้วในพื้นที่ อ.แวง ใหญ่ หากรอให้น้ำเต็มเขื่อนแล้วระบาย อาจเป็นช่วงจังหวะที่มวลน้ำหลากจาก จ.ชัยภูมิ ตามลำน้ำชีเข้าเขต อ.เมือง พอดีจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมได้
          สถานการณ์จากฤทธิ์พายุฝนที่กระหน่ำลงเขตพื้นที่จ.ชัยภูมิตั้งแต่กลางดึกถึงรุ่งเช้า ทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนถนนหลายสายในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ โดยเฉพาะบริเวณหน้าวงเวียนรอบอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล ซอยประมงและชุมชนหนองบ่อ หนักสุดระดับน้ำสูงกว่า 40-60 ซ.ม. เทศบาลเมืองชัยภูมิเร่งติดตั้งเครื่องระบายน้ำลงคลองลำห้วยเสวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มวลน้ำป่าที่ไหลมาจาก อ.เทพสถิตได้ไหลทะลักเข้าอ่างเก็บน้ำลำคันฉู อ.บำเหน็จณรงค์ จนเกินความจุทำให้อ่างเสี่ยงเก็บน้ำไม่ไหวต้องเร่งระบายลงมามากกว่าวันละไม่น้อยกว่า 10 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้น้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรเสียหายนับหมื่นไร่ มีบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมเสียหายกว่า 1,000 หลังคาเรือน และล่าสุดมวลน้ำจ่อใกล้เข้าท่วมรอยต่ออำเภอใกล้เคียงในเขต ต.บ้านขาม ต.บ้านกอก และต.ละหาน ในเขต อ.จัตุรัส ขอให้ประชาชน ในพื้นที่อำเภอใกล้เคียงรับมือเกิดน้ำท่วม ฉับพลัน
          วันเดียวกัน นายสมยศ แสงมณี ชล ประทานจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า สถานการณ์แม่น้ำยม จ.พิจิตร ยังอยู่ระหว่างวิกฤต น้ำมีปริมาณสูงขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากรับน้ำมาจาก จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก ประกอบกับฝนตกลงมาต่อเนื่องทุกวันและน้ำป่าหนุน ชลประทานจังหวัดพิจิตรเร่งระบายน้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน ฝากเตือนไปยังประชาชน 4 อำเภอลุ่มน้ำยม ประกอบด้วย อ.สามง่าม อ.โพธิ์ ประทับช้าง อ.บึงนาราง และ อ.โพทะเล ซึ่งขณะนี้น้ำท่วมอยู่แล้วให้รับมือกับปริมาณน้ำที่จะสูงเพิ่มขึ้นอีกระลอก
          ทางด้านสถานการณ์น้ำที่ จ.พระนครศรี อยุธยา นายวิทิต ปิ่นนิกร นายอำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ประกาศให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำป่าสักเตรียมความพร้อม ขนย้ายของมีค่าไว้ในที่ปลอดภัย โดยจะรายงานสถานการณ์น้ำของเขื่อนพระรามหกให้ทราบเป็นระยะ ทั้งนี้ ชาวบ้าน ต.ท่าหลวง และใกล้เคียง อ.ท่าเรือ ทราบว่าเขื่อนพระรามหกปักธงแดงหน้าเขื่อนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงระดับน้ำของเขื่อนพระรามหกปล่อยน้ำท้ายเขื่อนขึ้นอีกเป็นอัตราสูง ทำให้ชาวบ้านเดินทางมาที่บริเวณเขื่อนพระรามหกเพื่อมาสอบถามและดูปริมาณน้ำบริเวณหน้าเขื่อน ส่วนบริเวณหน้าตลาด อ.ท่าเรือ ระดับน้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหลืออีกเพียง 30 ซ.ม.จะล้นเข้าท่วมถนนหน้าเทศบาล ทำให้ประชาชนต่างวิตกกังวลกลัวว่าน้ำจะเพิ่มมากขึ้นในคืนนี้
          นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าฯ พระนคร ศรีอยุธยา กล่าวว่า จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ประชาชน ได้รับผลกระทบ 7 อำเภอ กว่า 2 หมื่นครัวเรือน รวมถึงศาสนสถาน สถานที่ราชการ วัด มัสยิด โรงเรียน และสถานีอนามัย ทางจังหวัดและหน่วยงานต่างๆ เข้าช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว
          ด้านนายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำอยู่ที่ 1,998 ลบ.ม./วินาที ทำให้ปริมาณน้ำสูงขึ้นมาเท่าระดับเดิมที่ลดลงไปอีก 1.50 เมตร ส่วนเขื่อนพระราม 6 จะระบายเพิ่มขึ้นจาก 594.88 ลบ.ม./วินาที เป็น 606 ลบ.ม./วินาที แต่ยังไม่ถึงจุดที่จะทำให้น้ำท่วมตลาดเทศบาลตำบลท่าเรือ หากเขื่อนพระราม 6 ระบายเพิ่มขึ้นเกิน 700 ลบ.ม./วินาที น้ำจะเข้าท่วมตลาดเทศบาลตำบลท่าเรือทันที
          ส่วนที่วัดกษัตราธิราชวรวิหาร ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าน้ำล้นตลิ่งและซึมลอดใต้ฐานเขื่อนป้องกันน้ำท่วมชั้นที่ 1 ของทางวัดและเข้าไปในสนามหน้าวัด ระดับน้ำสูงประมาณ 50 ซ.ม. และน้ำไหลเข้ามาถึงแนวป้องกันชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นปูนกว้าง 1 เมตร สูง 1 เมตร ยาวเกือบ 400 เมตร ทำหน้าที่ป้องกันพระอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์ทั้งหมดไว้ได้
          นายวิทิต ปิ่นนิกร นายอำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เรียกผู้นำท้องถิ่นและกำนันจาก 10 ตำบลในพื้นที่มาประชุมด่วน เพื่อประเมินสถานการณ์ หลังจากเขื่อนพระราม 6 แจ้งว่ามีน้ำไหลมาหน้าเขื่อนที่กั้นแม่น้ำป่าสัก เขต ต.ท่าหลวง มากถึง 981 ลบ.ม./วินาที แยกเป็นน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปล่อยลงมา 580 ลบ.ม./วินาที น้ำจากจังหวัดสระบุรีอีก 321 ลบ.ม./วินาที น้ำจากลพบุรีและเจ้าพระยา ผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก 170 ลบ.ม./วินาที ทำให้เขื่อนพระราม 6 เร่งปล่อยน้ำลงแม่น้ำป่าสักตอนล่างที่ 606 ลบ.ม./วินาทีแล้ว และผันเข้าคลองระพีพัฒน์ 160 ลบ.ม./วินาที แต่ยังมีน้ำตกค้างหน้าเขื่อนอีก 215 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเกินกำลังที่เขื่อนพระราม 6 จะกั้นได้ ดังนั้น อาจระบายน้ำเพิ่มขึ้นไปอีก โดยเที่ยงวันเดียวกันนี้กำหนดปล่อยเพิ่มเป็น 630 ลบ.ม./วินาที และอาจถึง 650 ลบ.ม./วินาทีในช่วงเย็น จึงให้พื้นที่ตอนล่างในเขต อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง และพระนครศรีอยุธยา เตรียมรับสภาพน้ำล้นตลิ่งในชุมชนริมน้ำ
          ส่วนที่วัดอัมพวา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย ม.2 ต.บางหัก อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่าเขื่อนปูนหน้าวัดถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนเขื่อนพังเป็นทางยาวกว่า 100 เมตร จมหายลงไปในแม่น้ำน้อย น้ำยังกัดเซาะแนวคันดินหน้าวัด ขณะที่โบสถ์ของวัดอัมพวาถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1.20 เมตร
          ว่าที่เรือตรีศรัณยวัชร พูลสวัสดิ์ นายอำเภอบ้านหมอ จ.สระบุรี นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือราษฎร หมู่ที่ 1, 3, 4 ต.บ้านครัว ต.บางโขมด เขต อ.บ้านหมอ ที่มีปริมาณน้ำเอ่อท่วมบ้านเรือนกว่า 30 หลังคาเรือน เพราะอยู่ใกล้คลองเริงรางที่รับน้ำมาจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งรับน้ำมาจากคลองมโนรมย์ ทั้งยังมีฝนตกมาสมทบ และมีแนวโน้มปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยให้หน่วยงานต่างๆ เฝ้าจับตาและคอยช่วยเหลือราษฎร
          สำหรับสถานการณ์แม่น้ำท่าจีนวันเดียวกันนี้มีระดับสูง หลังจากมีการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาลงสู่แม่น้ำท่าจีน ผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำท่าจีนที่ไหลผ่าน จ.สุพรรณบุรี ใน 6 อำเภอ มีปริมาณสูงขึ้น ล่าสุดเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำท่าจีน ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.รั้วใหญ่ ต.พิหารแดง กว่า 100 หลังคาเรือน ชาวบ้านต้องเดินลุยน้ำและใช้เรือสัญจรเข้าออกหมู่บ้าน โดยทางจังหวัดสุพรรณบุรีประกาศเตือนให้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์น้ำแม่น้ำท่าจีนยังสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ราบลุ่ม 3 อำเภอท้ายน้ำ ได้แก่ อ.เมือง อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง
          ที่ จ.จันทบุรี นายเฉลิมพล ศักดิ์คำ นายกเทศมนตรีเมืองท่าช้าง นำเจ้าหน้าที่กองช่าง พร้อมเครื่องจักร ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือประชาชนที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ริมคลองซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์น้ำหลากซัด ดินทรุด โดยเฉพาะที่บ้านเลขที่ 30/2 หมู่ที่ 5 ต.ท่าช้าง ของนางลัดดา อมรชัยมงคล ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากในช่วงนี้พื้นที่ จ.จันทบุรี มีฝนตกชุก ทำให้น้ำในคลองเพิ่มสูงและไหลแรง ประกอบกับดินอุ้มน้ำไว้ไม่ไหวทำให้บ้านทรุดตัว
          ในขณะที่ฝนยังคงตกหนักต่อเนื่องในหลายจังหวัดของภาคกลางและภาคอีสาน สภาพอากาศหนาวเย็นเริ่มเข้าปกคลุมพื้นที่ยอดดอยทางภาคเหนือ นายพรเทพ เจริญสืบสกุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ รายงานว่าวันเดียวกันนี้บรรยากาศบนดอยอินทนนท์อากาศเปิด เห็นพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า และทะเลหมอกที่จุดชมวิวสวยงามมาก อุณหภูมิที่ยอดดอยวัดได้ 8 องศาเซลเซียส ส่วนที่บริเวณจุดชมวิว กิ่วแม่ปาน อุณหภูมิวัดได้ 9 องศาเซลเซียส ช่วงวันหยุดนักท่องเที่ยวทยอยขึ้นมาสัมผัสอากาศหนาวและชมวิวพระอาทิตย์ทะเลหมอกกันอย่างคึกคัก
          ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ รายงานว่าปีนี้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวจริงจังในช่วงปลายเดือนตุลาคมเป็นต้นไป และจะสิ้นสุดประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้อากาศจะหนาวกว่าทุกปี อุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงฤดูหนาวอยู่ที่ 16-18 องศา
          นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชล ประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสุพรรณบุรี เพื่อเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาฉบับที่ 3 ว่า ในช่วงที่ผ่านมาร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศไทย ทำให้ฝนตกหนัก 4-6 ต.ค. และมีฝนตกต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ใน จ.กำแพงเพชร และนครสวรรค์ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และวันที่ 9 ต.ค.สูงสุดประมาณ 2,350 ลบ.ม./วินาที และมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังสูงสุด 450 ลบ.ม./วินาที รวมเข้ากับเขื่อนเจ้าพระยา 2,800 ลบ.ม./วินาที และมีแนวโน้มสูงขึ้นเกินกว่าระดับเก็บกัก และไม่สามารถบริหารการรับน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกเต็มตามศักยภาพ เนื่องจากมีน้ำหลากจากลำน้ำสาขาไหลลงสู่แม่น้ำและคลองส่งน้ำที่ใช้ลำเลียงน้ำสู่ทะเลและพื้นที่เกษตรที่จะใช้รับน้ำ เกษตรกรยังเก็บเกี่ยวไม่แล้วเสร็จไม่สามารถนำน้ำเข้าได้ จึงต้องเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจาก 2,000 ลบ.ม./วินาที เป็น 2,300 ลบ.ม./วินาที จะทำให้ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีระดับสูงขึ้น 25-75 ซ.ม. จึงให้เตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัทห้างร้านที่ตั้งริมตลิ่งและประชาชนสองฝั่งเจ้าพระยาเฝ้าระวัง
          นอกจากนี้ กรมชลประทานยังทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา เพื่อเตือนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำป่าสัก ฉบับที่ 3 เนื่องจากขณะนี้คงมีร่องมรสุมพัดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง วันที่ 8 ต.ค. มีปริมาณ 900.5 ล้านลบ.ม. สามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกเพียง 59.50 ล้านลบ.ม. โดยจะมีปริมาตรน้ำเต็มเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในวันที่ 10 ต.ค. หากไม่มีการปรับเพิ่มการระบายน้ำกรมชลประทานจึงต้องเริ่มปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค. ในอัตราเดิมวันละ 50 ล้านลบ.ม. เป็นอัตราวันละ 60 ล้านลบ.ม. และเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนพระราม 6 ในอัตราวันละ 51.8 ล้านลบ.ม. เป็น 60 ล้านลบ.ม.
          ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำท่าจีนฉบับที่ 1 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร เนื่องจากปริมาณน้ำตามธรรมชาติลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากพื้นที่ตอนบนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำเข้าฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก เพื่อช่วยระบายน้ำที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาออกสู่อ่าวไทย และนำน้ำเข้าไปเก็บไว้ในระบบชลประทานและบริหารปริมาณน้ำหลากที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่งลงสู่แม่น้ำท่าจีนโดยไม่ให้มี ผลกระทบกับพื้นที่เพาะปลูก

 pageview  1204893    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved