Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 19/06/2560 ]
รุกลดสิงห์อมควัน 3 ชายแดนใต้ต้องเริ่มกลไกที่"ครอบครัว ศาสนา และชุมชน"

 อีกหนึ่งกรณีศึกษาจากพื้นที่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการใช้กลไกหรือพลังของ "ครอบครัว ศาสนา และชุมชน" เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาสุขภาพชุมชน
          จากความคุ้นเคย ที่ส่งต่อกลายเป็น ค่านิยมมายาวนานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้พี่น้องซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมีสัดส่วนจำนวนผู้สูบบุหรี่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ คนทั้งประเทศถึง 25% และเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพที่มากขึ้นเรื่อยๆ
          ที่ผ่านมา เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีในชุนชนท้องถิ่นทั่วประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พยายามสร้างแรงกระเพื่อมและพัฒนากลไกเพื่อลดจำนวน "นักสูบ" ทั่วไทย รวมถึงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการใช้หลายกลไกเป็นเครื่องมือด้วยหวังผลการสร้างสุขภาวะระยะยาวให้กับพี่น้อง ในพื้นที่รวมถึงการขับเคลื่อนของ "เครือข่าย ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่" ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักสนับสนุนสุขภาพชุมชน (สำนัก 3) ที่ร่วมทำงานกับภาคี หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั่วประเทศ ซึ่งมี สมพร ใช้บางยาง เป็นประธานเครือข่ายฯ ได้ นำคณะผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในด้านต่างๆ ของ 27 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกัน ประกาศความตั้งใจที่จะควบคุมการสูบบุหรี่ในพื้นที่ให้ลดน้อยลงให้ได้ภายใน 6 เดือน ผ่าน ปฏิญญา "เลิกสูบก็เจอสุข : ปฏิบัติการ ลดพื้นที่สูบ เพิ่มพื้นที่สุข" ซึ่งในกระบวนการนี้ ยังเป็นการ ดึงพลังของ "ผู้นำชุมชน" เข้ามาเสริมกลไก ร่วมกับมาตรการ "ครอบครัว ศาสนา และชุมชน" เพื่อทำงานร่วมกันผลักดันแนวทางดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงและสอดรับกับกลุ่มเป้าหมาย
          ภายใต้ปฏิญญาดังกล่าว ได้กำหนดเป้าหมาย 3 ข้อ คือ 1. สร้าง "บ้านไร้ควัน"จำนวน 990 ครัวเรือน เพื่อเป็นต้นแบบ ลด ละ เลิก คนสูบ และป้องกัน คนในครอบครัวจากการได้รับควันบุหรี่ มือสอง และมือสาม 2. สร้าง "ศาสนสถาน ปลอดบุหรี่ต้นแบบ" จำนวน 66 แห่ง โดยการ บังคับใช้กฏหมายในพื้นที่อย่างเคร่งครัด โดยการใช้กลไลทางศาสนา และทางชุมชนในการกำหนดมาตราการร่วมเพื่อให้เกิดการควบคุมพื้นที่อย่างจริงจัง และ 3. สร้าง "คลินิกช่วย เลิกบุหรี่ต้นแบบ โดยชุมชน" จำนวน 23 แห่ง ที่ดำเนินการโดยชุมชน เป็นกลไกเสริมให้ผู้สูบบุหรี่สามารถลด ละ เลิกบุหรี่
          กลไกสำคัญของการรณรงค์สร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ต้องเริ่มจาก "ผู้นำ" ซึ่งเป็นเสาหลักของชุมชน ทั้ง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. โต๊ะอิหม่าม ควรเป็นตัวอย่าง หากคนเหล่านี้ยังสูบก็จะไม่มีทางทำให้ชาวบ้านเลิกได้
          อิสมาแอ หะยียูโซะ ผู้ใหญ่บ้าน ม.9 ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นหนึ่งในผู้นำชุมชนต้นแบบที่ต้องการเป็นตัวอย่างของผู้ที่เคยสูบบุหรี่แล้ว สามารถเลิกได้ โดยมีเป้าหมายคืออยากสร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวบ้านเห็น และปฏิบัติตาม หลังจากสูบบุหรี่ตั้งแต่วัยรุ่น ปัจจุบันอิสมาแอ เลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด 6 ปี แล้วตั้งแต่ตอนอายุ 34 ปี
          อย่างไรก็ดีเขายอมรับว่ากว่าจะเลิกได้ก็กลับมาสูบใหม่อีกหลายหน เพราะความเคยชิน และยังต้องคลุกคลีกับคนที่ยังสูบ แต่สุดท้ายเพราะมีปัญหาสุขภาพหนักขึ้น ทั้งจากการได้ฟังคำสอน ทางศาสนาอิสลามที่มีบัญญัติกำหนดว่า การสูบบุหรี่เป็น "ฮารอม" หรือข้อห้าม ทำให้ตัดสินใจเลิกครั้งสุดท้าย
          เขาบอกว่าคนในครอบครัวมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่ยิ่งทำให้เขาตัดสินใจเลิกได้
          "พอลูกเห็นผมถือบุหรี่ก็จะบ่น "เอาไปทิ้งเลยนะ" คือบางทีคนอื่นพูดเราไม่ฟัง แต่พอลูกพูดแล้วเรารู้สึกอาย ซึ่งเด็กๆ เองเขาก็ได้ครูสอนให้มาคุยกับพ่อแม่ขอให้เลิกบุหรี่ ถือว่าวิธีที่ได้ผล พอสมควร" อิสมาแอเล่า
          ด้าน อับดุลลาเต๊ะ มะทา โต๊ะอิหม่ามในพื้นที่ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เล่าถึง อีกมาตรการสำคัญคือการทำให้ศาสนสถานเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่อย่างแท้จริง ซึ่งในทางศาสนาอิสลาม การสูบบุหรี่เป็นสิ่งไม่ดี ดังนั้นจึงต้องทำให้พื้นที่มิสยิด ปลอดจากบุหรี่ โดยเริ่มแรกหากยังไม่สามารถทำได้จริง อาจต้องจัดพื้นที่เฉพาะให้คนสูบ
          นอกจากนี้ ทุกวันศุกร์หลังจากอ่าน "คุตบะห์" หรือคำสอนทางศาสนาอิสลามตามปกติแล้วก็จะมีการเพิ่มเนื้อหาไม่ให้ชาวบ้านไปสูบบุหรี่เพิ่มเติม ต้องพูดเรื่อยๆ บ่อยๆ อีกหน่อยสมาชิก ก็จะเริ่มรับฟัง และคล้อยตามเอง
          ซึ่งเดิมที โต๊ะอิหม่าม อับดุลลาเต๊ะ ก็เป็น นักสูบคนหนึ่ง เขาเริ่มสูบบุหรี่เพื่อให้คลาย ความหนาวเย็นตั้งแต่สมัยไปเรียนที่อียิปต์ และ แม้กลับมาไทยแล้วก็ยังสูบต่อเนื่อง จนสุดท้ายค่อยๆ เลิกไปทีละน้อย เพราะคิดว่าต้องเป็นต้นแบบให้ชาวบ้าน หากจะสอนเขาให้เลิกบุหรี่
          มาหามะพับลี หะยีวาจิ ผอ.กองสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม อบต.เฉลิม กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากมัสยิดแล้วในพื้นที่อื่นๆ ทั้ง อบต. สถานที่ราชการต่างๆ ต้องประกาศเป็นพื้นที่ ปลอดบุหรี่ทั้งหมด ยิ่งตัวของผู้นำชุมชนยิ่งต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าไม่สูบบุหรี่ หากใครทำ ไม่ได้ก็ต้องไปแอบสูบไม่ให้คนอื่นเห็น มาตรการต่างๆ เหล่านี้ทำให้ทาง ต.เฉลิม ตั้งเป้าว่าจะลดจำนวนประชาชนที่สูบบุหรี่ให้ได้ 35 % ข้อมูลจาก ปาปารีดะ แก้วกรด นักวิชาการสาธารณสุข ต.บูกิต ที่สะท้อนภาพให้ว่า ต.บูกิต มี 3,200 ครัวเรือน กว่า 80 % เป็นครอบครัวที่มีคนสูบบุหรี่ ตลอดเวลาที่ผ่านมาจะเห็นว่าชาวบ้านหลายคนในชุมชนป่วยเป็นโรคจากการสูบบุหรี่ทะยอยเข้ารับการรักษาตัว หลายโรคไม่ใช่สูบแล้วเป็นเลย แต่สะสมไปเรื่อยกว่าจะรู้ตัวก็เป็นเวลานาน ซึ่งทางชุมชนตั้งเป้าจะลด ให้ได้ 10 % ใน 6 เดือนนี้ โดยมีการจัดตั้งคลีนิค เลิกบุหรี่ของชุมชน และจะใช้รูปแบบจากการขยายผลต่อเนื่อง เดิมทุกวันศุกร์ หลังละหมาดจะมี เจ้าหน้าที่มาตรวจ เบาหวาน ความดันและโรคอื่นๆ ที่มัสยิด โดยจะไปเพิ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาช่วยบำบัดเยียวยาช่วยผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ หรือพูดคุยเพื่อให้คนที่สูบบหรี่หันไปเลิกบุหรี่ ซึ่งจุดเด่นของ ต.บูกิต อยู่ที่การเริ่มนำสมุนไพรท้องถิ่นอย่างรางจืดมาช่วยลดความอยากให้ผู้ติดบุหรี่ให้เลิกได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
          "บุหรี่" อีกโจทย์สำคัญของแต่ละชุมชน จะต้องผนึกกำลังสร้างความร่วมมือร่วมมือใจหาทางจำกัดการสูบบุหรี่ในพื้นที่ให้ลดน้อยลงไปตามเป้าที่แต่ละคนวางเอาไว้ โดยเฉพาะช่วงการถือศีลอด ในเดือนรอมฎอนของพี่น้องชาวมุสลิม ก็เป็นอีกโอกาสอันดีที่จะเริ่มต้นเลิกสูบบุหรี่ เพื่อความสุขของตัวเอง ครอบครัว และชุมชน

 pageview  1205081    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved