Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 21/06/2560 ]
'หูตึง-ได้ยินไม่ชัด'ต้องรีบแก้ไข

 การได้ยินในวัยสูงอายุ บางปัญหาดูจะแก้ง่ายกว่าที่คิด แต่หลักใหญ่อยู่ที่หลายคนยังไม่ยอมไปพบแพทย์ บางครั้งหากปล่อยให้การได้ยินมีปัญหาลุกลามอาจมีผลต่อการใช้ชีวิต เช่นเหตุการณ์อุบัติเหตุ ต่าง ๆ หรือการไม่ได้ยินสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด ไทย จึงจัดงาน "ชราชนม์คนคุณภาพ" ขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน
          พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร โสต ศอ นาสิกแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า ปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ คนไข้ส่วนใหญ่ที่มาพบหมอมักบอกว่า ได้ยินเป็นปกติ แต่เด็กสมัยนี้พูดเร็วจนจับใจความไม่ได้จริงๆ แล้วปัญหานี้เกิดขึ้นในผู้สูงอายุอย่างช้าๆ ตามอายุ ซึ่งคนไข้มักปรับตัวได้ เช่นเดียวกับคนรอบตัวก็จะมีการปรับโดยอัตโนมัติ ในการพูดให้ดังขึ้น แต่จริงๆ แล้วยิ่งอายุมาก การได้ยินก็เสื่อมตามไปเรื่อยๆ จากการวิจัยพบว่า คนที่อายุ 60-70 ปี มีความเสี่ยงการได้ยินจะเสื่อมลง 20 เปอร์เซ็นต์ พออายุ 70-80 ปี มีความเสี่ยงเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งอายุ 80 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงสูง 70 เปอร์เซ็นต์
          เมื่อมีปัญหาการได้ยินจะมีผลให้เวลาคนอื่นพูดคุยด้วย ผู้ป่วยจะไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ได้ยิน และมีผลทำให้สมองของผู้ป่วยเสื่อมลงเรื่อยๆ มีผลวิจัยว่า โรคอัลไซเมอร์ หรือสมองเสื่อมเกิดมากขึ้นในผู้ป่วยที่มีปัญหาการได้ยิน เพราะเมื่อลูกหลานคุยกับผู้ป่วยไม่รู้เรื่อง ก็ไม่อยากจะสื่อสารอีก ทำให้คนไข้ต้องอยู่คนเดียว แยกตัวจากสังคมรอบข้าง พอเวลาออกไปไหนก็ไม่มั่นใจว่า จะเดินทางไปคนเดียวได้หรือไม่
          บางคนกลายเป็นไม่มั่นใจตัวเอง ว่าถ้าสัญญาณอันตรายดัง หรือมีรถขับผ่านมาจะได้ยินเสียงนั้นหรือไม่ สิ่งนี้ทำให้คนไข้เก็บตัว และสมองไม่มีพัฒนาการ
          ปัญหาการได้ยิน ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีขี้หูมาอุดตัน ทำให้ระดับการได้ยินลดลง หากนำขี้หูส่วนนี้ออกจะทำให้การได้ยินกลับมาเป็นปกติ คนไข้บางคนจะมีอาการหูข้างหนึ่งได้ยินปกติ แต่อีกข้างไม่ค่อยได้ยิน คนไข้ก็แย้งว่า แคะหูทุกวันด้วยคอตตอนบัด แต่ การใช้คอตตอนบัดหมอไม่แนะนำ เพราะหากจิ้มเข้าไปในหูแรง ๆ จะทำให้เยื้อแก้วหูทะลุ หรือได้รับบาดเจ็บได้
          การใช้คอต ตอนบัด ขี้หูอาจไม่ออกมา แต่ทำให้ขี้หูที่อยู่ภายในถูกดันให้ลึกแน่น เข้าไปอีก กลายเป็นว่า ทำให้การได้ยินของหูมีปัญหา การรักษาแพทย์จะใช้กล้องส่องเข้าไปภายในหู ภาพจะออกมาบนทีวี ทั้งคนไข้และแพทย์จะเห็นภาพพร้อม ๆ กัน โดยหมอใช้เครื่องดูดขี้หูออกมา
          จากนั้นจะมีการตรวจการได้ยินของหูชั้นใน ให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องที่เก็บเสียง มีการปล่อยเสียงออกมา เมื่อผู้ป่วยได้ยินเสียงจะกด ปุ่ม โดยมีการตรวจการได้ยินทั้งหูซ้ายและขวา ด้วยความถี่การได้ยินเสียงต่ำและสูง
          ปกติผู้สูงอายุมักมีปัญหากับเสียงสูงก่อน เช่น เสียงผู้หญิง เด็กร้อง เสียงนก หรือเสียงที่มีความแหลม โดยเสียงนี้จะมีปัญหาก่อนที่จะมีปัญหาในเสียงต่ำ ที่มีความทุ้มของเสียง
          เมื่อตรวจพบปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ ปกติคนไทยมีสิทธิการรักษา สามารถไปขึ้นทะเบียนคนพิการ และรับสิทธิช่วยเหลือ โดยรับเครื่องช่วยฟังได้ฟรี ซึ่งผู้ป่วยที่ตรวจพบไม่ต้องกังวล เพราะคนไทยทุกคนมีสิทธิในการรักษา แต่ปัญหาใหญ่คือ ผู้สูงอายุไม่ยอมที่จะมาพบแพทย์
          เครื่องช่วยฟังมีทั้งที่แนบอยู่หลังใบหู ซึ่งตัวจุกที่ใส่เข้าไปในหู ต้องมีการหล่อให้เหมาะกับขนาดหูของแต่ละคน เพราะถ้าเครื่องขยายเสียงใส่พอดีหู จะทำให้การขยายของเสียงได้ดีมากขึ้น ถ้าเครื่องขยายเสียงไม่พอดีหู จะทำให้เกิดเสียงหวีด...อย่างที่หลายคนเจอ ส่วนเครื่องช่วยฟังอีกแบบจะซ่อนอยู่ในช่องหูมีขนาดกะทัดรัดลง หากไม่สังเกตก็ไม่เห็นเครื่องช่วยฟัง ซึ่งเป็นอีกเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น แต่ต้องหล่อให้พอดีกับหูของแต่ละบุคคล
          ในผู้สูงอายุบางราย เมื่อมีความเสื่อมของหูมาก อาจต้องใช้เครื่องช่วยฟังขนาดใหญ่ เพราะถ้าใช้เครื่องเล็ก ไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ป่วยได้ยินได้ ขณะที่ผู้สูงอายุบางรายที่ไม่สามารถงอนิ้วได้ ต้องใช้เครื่องช่วยฟังที่แนบหลังใบหู เพราะสะดวกในการที่ผู้ป่วยจะหยิบจับเปลี่ยนได้เอง
          สิ่งสำคัญที่ต้องใส่เครื่องช่วยฟัง จะทำให้ผู้สูงอายุมีการสื่อสารกับคนรอบข้าง และกระตุ้นสมองมากขึ้น ตลอดจนทำให้จิตใจแจ่มใสขึ้น ยิ่งผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว จำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยฟัง เพราะหากมีสัญญาณไฟไหม้ดัง มีเสียงขโมยขึ้นบ้าน หรือมีเสียงเหตุร้ายขึ้น จะได้ใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจจากอันตรายเหล่านี้ แม้อยู่เพียงลำพัง
          'เสียงหวีดที่ผู้สูงอายุมักได้ยินเวลาอยู่เงียบๆ เช่น ก่อนนอนที่ปิดเสียงทุกอย่างแล้ว มักเกิดจากประสาทหูเสื่อม ผู้ป่วยต้องมาเช็ก การได้ยิน ถ้ามีปัญหาการเสื่อมจะต้องใส่เครื่องช่วยฟัง บางคนมีปัญหาจนนอนไม่ได้ อยากแนะนำให้เปิดเสียงนกร้อง เสียงน้ำตก หรือเสียงสวดมนต์ฟังก่อนนอน เท่านี้เสียงหวีดก่อนนอนจะหายไป"
          หลายคนยังมองว่า การใส่เครื่องช่วยฟังจะทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็วมากขึ้น เนื่องจากมีเสียงแหลม ๆ เข้ามา แต่จริงแล้วเครื่องรุ่นใหม่จะสามารถตั้งได้ว่า ไม่ให้ขยายเสียงเกินกี่เดซิเบล ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ใส่ปลอดภัยขึ้น.

 pageview  1204509    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved