Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 21/06/2560 ]
เชียงใหม่เฝ้าระวังโรคมือเท้าปาก อ.เมืองตัวเลขผู้ป่วยพุ่ง49ราย

 ดร.อิสรีย์ ศิริรัตน์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยเมื่อวันก่อนว่าในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. ของทุกปีมักพบเด็กป่วยเป็นโรค มือ เท้าปากเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นฤดูฝนอากาศชื้น เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี และเป็นช่วงที่โรงเรียนเปิดเทอมเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก ทำให้เกิดการแพร่กระจายโรคได้ง่าย โดยพบผู้ป่วยในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งหมด 430 ราย อำเภอที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อำเภอเมือง จำนวน 49 ราย รองลงมาอยู่ที่ อ.สันป่าตอง และ สารภี อำเภอละ 29 ราย ซึ่งช่วงอายุที่พบมากที่สุดจะอยู่ในกลุ่มเด็กเล็ก 0-4 ปี ขณะที่ สสจ.เชียงใหม่ ได้เฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก และประสานสถานศึกษา โดยเฉพาะศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ให้ดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมโรคนี้อย่างเข้มงวด ทั้งนี้ โรคมือเท้าปาก ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค วิธีที่ดีที่สุดคือการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล จึงขอความร่วมมือครู พี่เลี้ยงศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล ตรวจคัดกรองเด็กเป็นประจำทุกวันในตอนเช้า ให้เด็กล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้ ของเล่น เป็นประจำทุกสัปดาห์ หากพบเด็กป่วยให้แยกเด็กป่วยออกจาก เด็กปกติ หากพบว่ามีเด็กป่วยจำนวนมากขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพิจารณาปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วยหลายคนหรือปิดโรงเรียนชั่วคราวประมาณ 5-7 วันหากมีเด็กป่วยหลายห้อง หรือหลายชั้นเรียน
          ดร.อิสรีย์ กล่าวต่อไปว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่พบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง จากเชื้อไวรัสที่ติดมากับมือ การใช้ช้อน แก้วน้ำร่วมกัน หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผลในปาก หรืออุจจาระของผู้ป่วย ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย บางรายอาจมีไข้ ร่วมกับตุ่มพองเล็ก ๆ ที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก โดยตุ่มพองในปาก จะอักเสบ แดง และแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ มักพบที่เพดานอ่อน ลิ้น กระพุ้งแก้ม ทำให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บ โดยทั่วไปจะหายเองภายใน 7-10 วัน แต่หากเด็กมีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ แขนขาอ่อนแรง กินอาหารหรือนมไม่ได้ ขอให้พาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที
          สำหรับข้อแนะนำของผู้ปกครองที่จะป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคมือ เท้า ปาก ได้แก่ ไม่ควรพาเด็กเล็กไปอยู่ในที่ชุมชนที่มีคนอยู่รวมกันมาก ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังเตรียมอาหาร รับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำห้องส้วมและหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก หลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำร่วมกัน และใช้ช้อนกลางเมื่อกินอาหารร่วมกับผู้อื่น ในการดูแลรักษาผู้ป่วย แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาชาแก้เจ็บแผลในปาก ผู้ดูแลควรเช็ดตัวให้เด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะ ให้นอนพักผ่อนมาก ๆ รับประทานอาหารอ่อน ดื่มน้ำ นม และน้ำผลไม้เย็น ๆ เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปาก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1422.

 pageview  1204973    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved