Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 15/09/2560 ]
กรมสุขภาพจิตแนะวิธีดูแล 'เด็กพิเศษ' เปิดใจยอมรับ..อย่ามองเป็นส่วนเกิน

"ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว" สัญญาณเตือนที่สำคัญของ "กลุ่มโรคออ ทิสติก" (Autistic spectrum disorder) กลุ่มโรคที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของสมอง เป็นโรคหรือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในเด็ก ที่ทำให้มีความบกพร่องของพัฒนาการใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การเข้าสังคม หรือ ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น  ไม่สบตา  ไม่มอง  เรียกไม่หัน ไม่มีสีหน้าท่าทางตอบโต้กับผู้อื่น 2. การพูดสื่อสาร เช่น พูดช้าหรือไม่พูด  บางคนอาจชอบพูดตาม  พูดทวน การพูดมักเรียงประโยคสลับไปมา  3. การควบคุมอารมณ์และมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น ชอบทำอะไรซ้ำ ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยจะทำให้เด็กมีโอกาสพัฒนาได้มากกว่าการรักษาเมื่ออายุมากขึ้น
          เมื่อมีเด็กออทิสติกเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว จะทำอย่างไรในการเลี้ยงดูเขาให้อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข และจะทำอย่างไรเพื่อให้ครอบครัวมีความเข้าใจร่วมกัน ในการปฏิบัติต่อเด็กออทิสติก การดูแลเด็กออทิสติกอาจเป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป แม้ว่าจะใช้เวลานานและพบกับอุปสรรคเป็นระยะ แต่หากทุ่มเทแรงกายแรงใจก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี และทุกครั้งก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้เสมอ ผู้ดูแลเด็กออทิสติกอาจเกิดความอ่อนล้าและท้อแท้บ้างเป็นบางครั้ง หลังจากได้ทุ่มเทฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง และอย่ารู้สึกผิดที่บางช่วงทุ่มเทไม่เต็มที่ อ่อนล้าก็พัก เติมกำลังใจให้ตัวเอง แล้วกลับมาตั้งต้นใหม่เมื่อพร้อม ที่สำคัญทุกคนในครอบครัวและคนรอบข้างควรมีการรับรู้ร่วมกัน มีการพูดคุยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันและช่วยกันดูแล เด็ก แต่ละคนสามารถมีบทบาทในการช่วยเหลือได้ หันหน้าเข้าหากัน ปรึกษากันวาง แผนการช่วยเหลือเด็กให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน อุปสรรคมักมีทางออก ทุกปัญหามีทางแก้เสมอ แต่ต้องใช้เวลา เมื่อผ่านมาได้แต่ละครั้ง ก็จะได้เห็นพัฒนาการของเด็กที่ก้าวหน้าขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นกำลังใจในการดูแลต่อไปได้เป็นอย่างดี
          จากกรณีแม่ทำร้ายลูกออทิสติกจนเสียชีวิตที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตได้ให้ความรู้เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่าผู้เป็นแม่อาจมีภาวะเครียดสะสม เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ รุมเร้า เลี้ยงลูกที่มี อาการออทิสติกเพียงลำพัง ทั้งนี้ ไม่ว่าใครก็ตามที่มีลูกเจ็บไข้ได้ป่วยย่อมมีความวิตกกังวลเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เฉพาะในรายที่มีลูกเป็นออทิสติกเท่านั้น อย่างไรก็ตามขอย้ำว่า ออทิสติก รักษาเร็ว ได้ผลเร็ว ยิ่งพบได้ตอนอายุน้อย ๆ จะยิ่งได้รับโอกาสในการดูแลรักษาได้เร็ว ก็มีโอกาสที่จะดีขึ้นได้ และต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่หายขาดแต่เด็กจะมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้ เข้าโรงเรียนได้ตามวัย ตลอดจนการเปิดใจยอมรับของครอบครัวที่มีเด็กออทิสติก ไม่มองเด็กออทิสติกว่าเป็นส่วนเกินของครอบครัวและสังคม พร้อมจะทุ่มเทและสู้ไปด้วยกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้เด็กออทิสติกมีโอกาสในการรักษา และสร้างพื้นที่ในสังคมเพิ่มขึ้น สัญญาณเตือน ได้ แก่ "ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว"
          ทางด้านการให้บริการดูแลรักษาเด็กออทิสติก อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าได้มีนโยบายให้ทุกหน่วยบริการของกรมสุขภาพจิตต้องดูแลกลุ่มเด็กพิเศษ เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลแบบใกล้บ้าน ใกล้ใจ รวมทั้ง ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่พ่อแม่และคนรอบตัวเด็ก ตลอดจนส่งเสริมการเข้าสู่ระบบการคัดกรอง กระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ตั้งแต่ ช่วงอายุ 9, 18, 30 และ 42 เดือน มีการจัดอบรมให้กับบุคลากรสาธารณสุขระดับ รพช./รพท./รพศ./สถาบันฯ ทั้ง แพทย์ กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก พยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด ทั่วประเทศ เพื่อรองรับระบบการส่งต่อ ทำให้เกิดเชื่อมโยงทั้งด้านส่งเสริม ป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟูที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
          ในขณะที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวเสริมว่า แม้จะมีลูกที่มีความพิการหรือบกพร่องทางสติปัญญา หรือแตกต่างจากเด็กอื่น แต่หากตั้งหลักดี ๆ จะรู้ว่าพวกเขาก็เป็นของขวัญที่ดีในชีวิตเช่นกัน พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจตัวโรค และการเปลี่ยนแปลง พัฒนาที่ดีในลูกให้ได้ แม้ ว่าจะไม่เหมือนเด็กทั่วไป แต่เขาก็มีความพิเศษ มีความน่ารัก ทั้งนี้ สำหรับพ่อแม่ "สติ" ยังมีความสำคัญ ขอให้ใช้สติในการแก้ปัญหาตามลำดับความสำคัญ ซึ่งอยากวิงวอนให้ทุกครอบ ครัวที่มีลูกหลานเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษช่วยกันดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน และประคับประคองกันไป เพื่อให้ปัญหาที่หนักเป็นเบาได้ ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ก็ควรสนับสนุนและให้ความเข้าใจเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน สามารถโทรฯ มาปรึกษาได้ที่สายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือขอเข้ารับบริการได้ที่ สถาบันราชานุกูล โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่

 pageview  1205081    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved