Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 18/10/2559 ]
เตือนภัย!อยุธยาวิกฤติปักธงแดง ถล่มท่วม2อภ.'ไทยรัฐ'ลุยอีกมอบถุงยังชีพ

 ฝนถล่มทั่วทุกภาคเจ้าหน้าที่เร่งรับมือช่วยเหลือ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา น้ำป่าไหลเข้าท่วมบ้านเรือนเสียหายยับ ส่วนมวลน้ำเหนือ พิษณุโลก นครสวรรค์ ท่วมสูงไหลทะลักไร่นาเสียหายกว่า 7 หมื่นไร่ ชาวกาฬสินธุ์ระทมแม่น้ำชีเอ่อล้น ภาคกลางเตรียมรับมวลน้ำเหนือเขื่อนทะลัก กรมชลฯเตือนติดธงแดง ขณะที่ไทยรัฐลงพื้นที่อ่างทองมอบถุงยังชีพซับน้ำตาผู้ประสบภัย
          สถานการณ์น้ำท่วมอ่วมไปทุกภาค เจ้าหน้าที่เร่งรับมือช่วยเหลือชาวบ้าน เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 ต.ค. น้ำป่าจากเทือกเขาหลัก-เขาโตน ไหลเข้าท่วมในพื้นที่หมู่ 1 บ้านปากวีป ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ทำให้บ้านเรือนเสียหาย 15 หลัง นายสุชาติ ไกรเลิศ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 เปิดเผยว่า คืนวันที่ 6 ต.ค. มีฝนตกหนักน้ำป่าทะลักท่วมในพื้นที่ประกอบกับมีเศษขยะ เศษไม้ขวางทางน้ำและท่อระบายน้ำที่มีขนาดเล็ก ทำให้น้ำไหลผ่านไม่สะดวกน้ำท่วมบ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหาย
          ด้านนางรติฬส มีคำแหง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า พื้นที่ อ.พรหมพิราม เกิดอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. เสียหาย 8 ตำบล 45 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,004 ครัวเรือน ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตรใน ต.ท่าช้าง ต.พรหมพิราม ต.หนองแขม ต.วังวน ต.ศรีภิรมย์ ต.ตลุกเทียม ต.มะต้อง ต.มะตูม พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 67,224 ไร่ บ่อปลา 41 บ่อ ถนน 12 สาย ระดับน้ำท่วมสูง 30-80 ซม.
          จ.นครสวรรค์ น้ำจากเทือกเขาแม่วงก์ อ.แม่วงก์ หลากเข้าท่วมในพื้นที่อย่างต่อเนื่องทำให้สถานที่ราชการ ย่านการค้า ชุมชน บ้านเรือน และถนนสายต่างๆ ของ อ.ลาดยาว ถูกน้ำท่วมเพิ่มสูงและขยายวงกว้างมากขึ้น ที่หมู่บ้านดอนโม่ หมู่ 8 ต.ลาดยาว อ.ลาดยาว บ้านเรือนเสียหาย 260 หลังคาเรือน น้ำสูงกว่า 1.2 เมตร จุดลึกที่สุดของหมู่บ้านอยู่ที่ระดับ 2 เมตร ต้องใช้เรือสัญจรเข้าออกหมู่บ้าน ที่ถนนนครสวรรค์-ลาดยาว น้ำท่วมสูง 60-70 เซนติเมตร รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ต้องใช้เส้นทางอ้อมกว่า 5 กิโลเมตร ที่ อ.ไพศาลี มีฝนตกหนักมวลน้ำจากภูเขาเข้าท่วมถนนสายไพศาลี-วังพิกุล พื้นที่การเกษตร เสียหายกว่า 1 หมื่นไร่
          จ.อุบลราชธานี ทหารจากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 อุบลราชธานี ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต.ตบหู อ.เดชอุดม ลงพื้นที่ตรวจสอบที่บ้านโพธิ์ไทร ต.ตบหู อ.เดชอุดม หลังน้ำในลำน้ำซองไหลทะลักเข้าพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ด้านนายเดช สระแก้ว กำนันตำบลตบหูเปิดเผยว่า นาข้าวได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม 103 ไร่ มันสำปะหลัง 42 ไร่และยางพารา 75 ไร่ สำหรับการช่วยเหลือเบื้องต้นอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลความเสียหายให้กับทางอำเภอได้รับทราบเร่งช่วยเหลือ
          นายเทพรักษ์ ตันตยานนท์ นายอำเภอฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า แม่น้ำชีมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นทะลักเข้าท่วมในพื้นที่ 4 ตำบล ประกอบด้วย ลำชี เหล่ากลาง ฆ้องชัยพัฒนา และโคกสะอาด รวม 16 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 5,000 ไร่ เจ้าหน้าที่เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ ขณะที่นายธีรยุทธ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอนแก่น เปิดเผยว่า น้ำท่วมที่บ้านสีหนาทและบ้านชีท่าวังเวิน ต.โนนทอง อ.แวงใหญ่ และที่บ้านโนนเขวา หมู่ 10 ต.ท่านางแนว อ.แวงน้อย นาข้าวเสียหาย 3,000 ไร่
          จ.ชัยภูมิ เกิดฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องระดับน้ำในเขื่อนคันฉูทะลักท่วมในพื้นที่ใน อ.บำเหน็จณรงค์ และ อ.เทพสถิต พื้นที่การเกษตรเสียหายไร่มันสำปะหลัง 6,000 ไร่ นาข้าว 2,000 ไร่ เจ้าหน้าที่แจ้งเตือนชาวบ้านที่อยู่ท้ายเขื่อนให้รีบเก็บทรัพย์สินขึ้นที่สูง ที่ จ.นครราชสีมา อ.พิมาย อ.ชุมพวง อ.ลำทะเมนชัย และ อ.เมืองยาง น้ำจากลำน้ำเชียงไกรเข้าท่วมบ้านเรือนเสียหาย ส่วนที่ อ.สีคิ้ว น้ำท่วมถนนมิตรภาพเจ้าหน้าที่เร่งสูบน้ำรถวิ่งผ่านไปมาได้ตามปกติพร้อมนำรถแบ็กโฮขุดขยายทางน้ำไหลให้กว้างขึ้น
          ช่วงเย็นวันเดียวกันเกิดฝนตกลงมาอย่างหนักในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาและอำเภอเมือง ทำให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณสามแยกหัวทะเลถนนราชสีมา-โชคชัย กม.3 ต.หัวทะเล อ.เมือง เกิดน้ำท่วมขังทุกช่องจราจร ทั้งขาออกนอกเมืองและขาเข้าตัวเมืองบางจุดระดับน้ำสูง 60 ซม. รวมทั้งถนนทางเข้าโรงเรียนบุญวัฒนาน้ำท่วมสูง 50 ซม. เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลหัวทะเลนำเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกนอกพื้นที่
          จ.สุพรรณบุรี ปริมาณน้ำท่วมใน อ.เมือง อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง สูงกว่า 10-20 ซม.ชาวบ้านในหลายพื้นที่ต้องรีบเก็บข้าวของหนีน้ำ นอกจากนี้ ถนนเชื่อมระหว่างอำเภอสายสุพรรณบุรี-บางปลาม้า (สายเก่า) น้ำไหลท่วมถนน ล่าสุด ประตูน้ำโพธิ์พระยาได้ระบายน้ำอยู่ที่ 200-206 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เจ้าหน้าที่ทำหนังสือด่วนที่สุดแจ้งไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ 3 อำเภอ ให้เฝ้าระวังเหตุน้ำท่วมฉับพลัน
          ขณะที่ชาวบ้านบ่อพระ และบ่อมะกอก ต. ไพรนกยูง อ.หันคา จ.ชัยนาท ประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลากมาจากบริเวณเขารางจิก ส่งผลให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรกว่า 10,000 ไร่ ถนนภายในหมู่บ้านพังทรุดตัวลงไปเป็นทางยาว 2 เมตร ลึก 1 เมตร ชาวบ้านไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้
          จ.อุทัยธานี นายฐกร กาญจน์จิรเดช ผอ.โครงการชลประทานอุทัยธานี เปิดเผยว่า ฝนตกหนักในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลบ่าทะลักลงสู่แม่น้ำตากแดดผ่านเขื่อนวังร่มเกล้า อ.เมือง เป็นมวลน้ำก้อนใหม่จากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ที่ไหลบ่าทะลักมาเป็นระลอกที่สอง ขณะนี้เจ้าหน้าที่เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 3 บาน ของเขื่อนวังร่มเกล้าเพื่อระบายน้ำออกไปท้ายเขื่อนลงสู่แม่น้ำสะแกกรังรองรับมวลน้ำก้อนใหม่ ขณะเดียวกัน แจ้งไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตือนประชาชนระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำตากแดด ทั้งพื้นที่เหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนวังร่มเกล้า เร่งขนย้ายสิ่งของและเตรียมไปอาศัยอยู่ในที่ปลอดภัย
          จ.อ่างทอง นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการไทยรัฐทีวี พร้อมด้วยนายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวไทยรัฐทีวี พร้อมคณะ นำถุงยังชีพเดินทางไปที่สำนักงานเทศบาลตำบลบางจัก อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง มีนายวีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี ผวจ.อ่างทอง ให้การต้อนรับและร่วมพิธีมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 502 ราย ด้านนายวีร์รวุทธ์กล่าวว่า ขอเป็นตัวแทนประชาชนที่ประสบภัยใน จ.อ่างทอง ขอบคุณไทยรัฐที่มีความห่วงใยและไม่ทอดทิ้งผู้ประสบอุทกภัย โดยการนำถุงยังชีพมามอบให้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและยังเป็นการให้กำลังใจกับผู้ประสบภัยจะได้ต่อสู้ต่อไป
          นายวิทิต ปิ่นนิกร นายอำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เขื่อนพระรามหกเร่งระบายน้ำท้ายเขื่อน 599 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เจ้าหน้าที่ติดธงสีแดงเป็นพื้นที่อันตรายส่งผลกระทบน้ำท่วมที่ลุ่มต่ำบริเวณหมู่ 6 ต.ท่าหลวง หากเจ้าหน้าที่กรมชลประทานปล่อยน้ำมากกว่า 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีน้ำจะท่วมในพื้นที่ อ.ท่าเรือ และนครหลวงรวมทั้งตลาดสดท่าเรือจมน้ำแน่นอน ที่วัดกษัตราธิราช อ.พระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมสูง 50 ซม. พระและเณรช่วยกันนำกระสอบทรายเสริมแนวกั้นพื้นที่สำคัญ
          ด้านนายศรีชัย ตันฑะโสภณ นายอำเภอชัยบาดาล จ.ลพบุรีเปิดเผยว่า ขณะนี้พื้นที่ อ.ชัยบาดาลระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเอ่อล้นตลิ่งหลังจากที่มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันและมีมวลน้ำจำนวนมากที่ไหลลงมาจาก จ.เพชรบูรณ์ จนทำให้ระดับน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเสียหาย 2 หมื่นไร่ 38 หมู่บ้าน 9 ตำบล เจ้าหน้าที่เร่งออกสำรวจความเสียหายและออกประกาศเตือนให้ชาวบ้านริมแม่น้ำป่าสักเตรียมตัวขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง
          ที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ระดับน้ำในแม่น้ำ เจ้าพระยายังทรงตัวอยู่ที่ 1.70 เมตร เข้าท่วมบ้านเรือนลุ่มต่ำตามชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง นอกจากนี้ ยังได้รับความเดือดร้อนจากเรือโดยสารและเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่แล่นผ่านด้วยความเร็ว ทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่โถมซัดเข้าบ้านเรือนจนได้รับความเดือดร้อน ชาวบ้านร้องขอความช่วยเหลือให้ทางกรมเจ้าท่าส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจตราและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับเรือชะลอความเร็วลงเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำ
          นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานประกาศทำหนังสือแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ใน จ.ลพบุรี จ.สระบุรี และจ.พระนครศรีอยุธยา เตือนและประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการริมแม่น้ำป่าสักชลสิทธิ์ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร กระชังปลา เป็นต้น เตรียมรับมือน้ำที่จะสูงขึ้นอีก 50-70 ซม. หากมีฝนตกหนักลงมาอีกจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกมากกว่าเกณฑ์ กรมชลประทานจึงต้องระบายน้ำจากเขื่อนเพิ่มเนื่องจากปริมาณน้ำใกล้เต็มเขื่อนอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน
          กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า สภาพอากาศในประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาค ตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 11-13 ต.ค. จะมีฝนตกชุกและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพฯและปริมณฑล สำหรับภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนปริมาณฝนจะน้อยกว่าภาคอื่นๆ
          ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ถึงการเดินทางตรวจสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ชัยนาทว่า ลงไปให้กำลังใจและไปขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ทำงานกันอย่างเต็มที่ รัฐบาลเตรียมการมาตรการเร่งด่วน การช่วยเหลือ และมีมาตรการเสริมสำรองไว้แล้วจะได้ไม่เสียเวลาไม่ว่าจะฝนตกหนักหรือตกน้อย ส่วนการทำความเข้าใจกับประชาชน ต้องทำให้เห็นว่าใช้สายน้ำเดียวกันต้องคำนึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เฉลี่ยแบ่งปัน ถ้าพวกหนึ่งได้มาก พวกหนึ่งได้น้อยก็จะเกิดความขัดแย้ง ระบายไม่ได้เก็บกักไว้ในพื้นที่ของตนเอง ก็ไม่สามารถจะไปช่วยพื้นที่หนึ่งได้ ส่วนการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในระดับประมาณ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ยังพอประคับประคองไว้ได้ ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑลหนักเจอปัญหาฝนตกมากกว่าปกติ ระบบระบายน้ำยังแก้ไขไม่ได้ครบทั้งหมด แต่ได้เร่งระบายให้เร็วที่สุด

 pageview  1205019    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved