Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 12/12/2560 ]
กรมสุขภาพจิตเผยคนไทยหย่าร้างเพิ่มขึ้น แนะครอบครัวปฏิบัติตามกฎ 5 ข้อต้องทำ 8 คำห้ามใช้ ช่วยสร้างรักยืนยง

 น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถิติประชากรไทยของกระทรวงมหาดไทยล่าสุดในปี 2559 พบว่าไทยมีจำนวนครอบครัว 25 ล้านกว่าครัวเรือน แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ขนาดครอบครัวต่างจากอดีตที่เป็นครอบครัวขยาย มีพ่อแม่ ลูก ปู่ ย่า อยู่รวมกันลดลง จำนวนครอบครัวเดี่ยวที่อยู่กันเฉพาะพ่อ แม่ ลูกมีมากขึ้น ทำให้ครอบครัวคนไทยยุคใหม่มีความเปราะบางขึ้นและน่าเป็นห่วงต่อปัญหาการหย่าร้าง ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพจิตของลูกตามมาด้วย โดยข้อมูลกระทรวงมหาดไทยระบุว่า ในปี 2559 มีคนไทยจดทะเบียนสมรส 307,746 คู่ และมีผู้จดทะเบียนหย่า 118,539 คู่ โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการหย่าร้างมีแนวโน้มสูงขึ้นจากร้อยละ 27 ในปี 2549 เพิ่มเป็นร้อยละ 39 ในปี 2559
          อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า สำหรับการใช้ชีวิตคู่ เพื่อสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและมีความสุข ให้ยึดหลักการร่วมกันสร้างกฎเหล็กในครอบครัวคือ 5 ข้อที่ต้องทำ 8 คำห้ามใช้ โดย 5 ข้อที่ต้องทำได้แก่ 1.ร่วมกันสร้างกฎของครอบครัวที่ทุกคนยอมรับได้ 2.เมื่อมีปัญหาต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข 3.โต้เถียงกันได้ แต่ต้องไม่ตะคอกข่มขู่หรือยั่วโมโหอีกฝ่าย 4.เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้ตัวว่าเริ่มมีความโกรธเพิ่มขึ้นให้เตือนสติตนเอง หยุดพูด เมื่อมีความพร้อมจึงกลับมาพูดกันใหม่ และ 5.เมื่อพร้อมที่จะแก้ปัญหา ควรหันหน้ามาร่วมกันปรึกษาหาทางแก้ไข สำหรับ 8 คำพูดที่ห้ามใช้ในครอบครัว ได้แก่ 1.คำสั่งเผด็จการ เช่น เงียบไปเลย 2.คำพูดที่ประชดประชัน หรือพูดถึงปมด้อย 3.คำพูดท้าทาย เช่น ถ้าแน่จริงก็เก็บของออกไปเลย 4.คำพูดเอาชนะกัน เช่น ที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะแกนั่นแหละ 5.คำพูดที่ขุดคุ้ยเรื่องเก่ามาพูดซ้ำ เช่น บอกกี่ทีๆก็ไม่เชื่อ ครั้งที่แล้วก็แบบนี้ 6.คำพูดเชิงกล่าวหา กล่าวโทษ เช่น อย่ามาอ้างว่าติดประชุม ติดเด็กน่ะสิ 7.คำพูดหยาบคาย และ 8.คำพูดล่วงเกิน เช่น พูดดูถูกเหยียดหยามบุพการี เป็นต้น.

 pageview  1204513    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved