Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 08/10/2564 ]
ยุติตั้งครรภ์ บริการสุขภาพ ทางรอดท้องไม่พร้อม

การแก้ไขกฎหมายทำแท้งในประเทศไทย 2564 ได้คืนสิทธิแก่ผู้หญิงให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์อย่างไม่เงื่อนไข และที่อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ ให้เข้ารับบริการปรึกษาทางเลือกเพื่อยืนยัน นอกจากนี้ ผู้หญิงมีสิทธิที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้ เมื่อแพทย์พิจารณาว่ามีภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพ หรือจิตใจ ตัวอ่อนในครรภ์มีความพิการ รวมทั้งอายุน้อยกว่า 15 ปี รวมทั้งกรณีที่ผู้หญิงยืนยันว่า ตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน ล่อลวง และบังคับข่มขู่ ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนากฎหมายทำแท้งในประเทศไทย ที่ส่งเสริมให้บริการยุติการตั้งครรภ์ได้ยกระดับขึ้นเป็นบริการสุขภาพที่จำเป็นที่สอดคล้องกับคำขวัญของวันยุติการตั้งครรภ์สากล ปี 2564 นั่นคือ Abortion is Essential Health Care ซึ่งชักชวนทุกภาคีเครือข่ายมาร่วมกันทำงานรณรงค์ให้สังคมโลกตระหนักถึงการยุติตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยภาษาไทยใช้แฮชแทค #ให้แท้งไม่ปลอดภัยจบที่รุ่นเรา
          รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายท้องไม่พร้อม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปีนี้มีความสำคัญ เพราะมีความก้าวหน้าในการแก้ไขกฎหมายทำแท้งในหลายประเทศ ทั้งอาร์เจนตินา เกาหลีใต้ เอกวาดอร์ ออสเตรเลียใต้ และไทย องค์การอนามัยโลกรับรองประเทศที่ผู้หญิงเข้าถึงบริการยุติตั้งครรภ์ปลอดภัย และถูกกฎหมาย มีอัตราการทำแท้งต่ำกว่าประเทศที่บริการทำแท้งมีความผิดกฎหมาย ประเทศเข้มงวดการทำแท้งมีอัตราตายและบาดเจ็บสูงกว่า ปัจจุบันไทยก้าวหน้าถ้าท้องไม่พร้อมทำแท้งปลอดภัยได้ตามมาตรา 301 อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ไม่ผิดกฎหมาย แต่เกินกว่านี้ยังผิดกฎหมายอยู่ ยังมองว่าผู้หญิงเป็นอาชญากร ซึ่งต้องเรียกร้องให้ยกเลิกต่อไป ส่วนมาตรา 305 ให้เข้ารับบริการปรึกษาทางเลือกเพื่อยืนยัน มีเงื่อนไขแพทยสภาและกระทรวงสาธารณสุข
          "บริการยุติตั้งครรภ์ไม่เพียงจำเป็น แต่รัฐต้องจัดการบริการอย่างปลอดภัยให้แก่ผู้หญิงท้องไม่พร้อมในโรงพยาบาลของรัฐทุกระดับ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลไม่ถึง 100 แห่ง ที่รับยุติการตั้งครรภ์ และมี 4 แห่งบริการยุติอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ รัฐต้องจัดสรรงบฯ อบรมบุคลากร และไม่มีอัตราการปฏิเสธรับผู้หญิงท้องไม่พร้อมออกจาก รพ. ซึ่งละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง อย่างน้อย 1 รพ. 1 จังหวัด ที่ให้บริการ" รศ.ดร.กฤตยา กล่าว
          การยุติตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางเพศ ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส.มีบทบาทสนับสนุบการขับเคลื่อนกิจกรรมสุขภาวะทางเพศมีความคล้องตัว และจุดประกายสานเสริมพลังองค์กร บุคคล และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ส่วนการยุติตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย สสส.มองถึงการสนับสนุนจุดบริการยุติตั้งครรภ์ปลอดภัยให้เพียงพอกับความต้องการ หนุนความเข้มแข็งระบบบริการ และเข้าถึงบริการอย่างเป็นมิตร รวมถึงการจัดการข้อมูลข่าวสารนำไปสู่การทัศนคติเชิงบวก สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับสังคม นอกจากผลักดันเชิงกฎหมายและนโยบาย ภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ยังต้องสนับสนุนขับเคลื่อนบริการที่ต่อเนื่อง ครบวงจร เป็นมิตร และมีคุณภาพกับหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม อีกทั้ง สสส.จะร่วมกับเครือข่ายพัฒนาแพลตฟอร์มให้คำปรึกษา ให้โอกาส และพัฒนาระบบสิทธิสร้างบริการสุขภาพที่จำเป็น
          นพ.พรเพชร ปัญจปิยะกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านระบบบริหารการสาธารณสุข สธ. กล่าวว่า สำนักปลัด สธ.จัดตั้งศูนย์พึ่งได้ช่วยเหลือ เด็กและสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรง และพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ก่อนขยายลงใน รพ.ชุมชน ปัจจุบันโรงพยาบาลในสังกัด รวม 899 แห่ง
          นอกจากนี้ ให้คำปรึกษาทางเลือกแก่หญิงท้องไม่พร้อม ควบคู่พัฒนาบุคลากรให้ได้ข้อมูลรอบด้านก่อนตัดสินใจ และส่งต่อไปยังเครือข่าย รพ.ยุติตั้งครรภ์ จากสถิติ สธ. ปี 63 มีหญิงตั้งครรภ์มาขอรับบริการ 6,770 คน เป็นสัญชาติไทย 6,118 คน และต่างประเทศ 152 คน กลุ่มอายุขอใช้บริการมากสุด 10-20 ปี 3,787 คน 20-30 ปี 1,520 คน และอายุ 30-40 ปี 1,007 ราย สถานภาพโสดกว่า 2,821 ราย รองลงมาสมรสจดทะเบียน สมรสไม่จดทะเบียน หย่า และม่าย การตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อหลังได้รับคำปรึกษา3,333 ราย ตัดสินใจยุติตั้งครรภ์ 3,165 ราย เป็นการยุติตั้งครรภ์ในรพ. 2,047 ราย และส่งต่อ รพ.เครือข่ายอีก 1,100 ราย มี 200 กว่ารายติดต่อไม่ได้
          "นอกจากศูนย์พึ่งได้ กรมอนามัยได้พัฒนา พรบ.ป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพ.ศ.2559 พัฒนาคลีนิคเพื่อนใจวัยรุ่น และเครือข่ายการให้คำปรึกษากับวัยรุ่นตั้งครรภ์ไม่พร้อม พัฒนาเครือข่ายสถานพยาบาลช่วยเหลือด้านอนามัยเจริญพันธุ์และยุติตั้งครรภ์ไม่ปลอดภัย รวมถึงทดสอบยายุติตั้งครรภ์สู่การขึ้นทะเบียนตำรับยา อย.เรียบร้อย ในส่วนการแก้ไขกำหมายทำแท้งปี 2564 กรมอนามัยตั้งคณะกรรมการออกอนุบัญญัติให้ครบถ้วนและประกาศใช้ มีการตั้งอนุกรรมการพัฒนาเครือข่ายครอบคลุมทั้งประเทศ วางโครงข่ายให้บริการยุติตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยตามสิทธิ คาดว่าจะสมบูรณ์ภายใน 1- 2 ปี" นพ.พรเพชร กล่าว
          ด้าน เนเม่ กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก กล่าวว่า การทำแท้งในประเทศไทยถูกมองว่า เป็นสิ่งที่ไม่ดี ผู้ตั้งครรภ์ไปรับบริการทำแท้งถูกตีตรา แม้กระทั่งผู้ให้คำปรึกษาถูกมองเป็นคนอำมหิต ที่ผ่านมา การต่อสู้เพื่อสิทธิหญิงตั้งครรภ์ขยับเพดานขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จะมีการแก้ไขกฎหมายทำแท้งปีนี้ เป็นเรื่องที่ดี เพราะส่งเสริมการยุติการตั้งครรภ์เป็นบริการสุขภาพที่จำเป็น และไม่เสี่ยงจากทำแท้ง อย่างไรก็ตาม ยังไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขเวลา อุปสรรคที่พบผู้เข้ารับบริการขาดความเชื่อมั่นในการรับบริการ รัฐขาดรายละเอียดชัดเจน สุดท้าย การบอกให้ตั้งครรภ์ต่อไป ไม่ใช่ทุกคนพร้อมเป็นแม่ บางคนตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ทางเลือกยุติตั้งครรภ์เป็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์

 pageview  1204954    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved