Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 22/05/2560 ]
สธ.ออก4ข้อดูแลแพทย์-บุคลากรป้องกันงานโหลดเกินไป

 สาธารณสุข * ปลัด สธ.ห่วงใยแพทย์และบุคลากรอื่นๆ ที่ทำงานหนักภายใต้ทรัพยากรอันจำกัด วางแนวทางแก้ไขเบื้องต้น 4 ข้อ พร้อมเร่งผลิตแพทย์เติมเข้าระบบ เพื่อลดสัดส่วนดูแลคนไข้ 1:1,250 ในอีก 10 ปีข้างหน้า
          นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาความขาดแคลนแพทย์ของประเทศ ไทยว่า เป็นห่วง เห็นใจ และเข้าใจถึงความยากลำบากในการทำงานของแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทุกคน ที่พยายามทำงานเพื่อประชาชนให้ดีที่สุดภายใต้ทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารทุกคนได้เร่งแก้ปัญหา ทั้งการปฏิรูประบบบริการ แผนพัฒนากำลังคน เชื่อมั่นว่าระบบสุขภาพของประเทศจะดีขึ้น มีความสมดุลระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ
          เบื้องต้นได้วางแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคต 4 ข้อ ดังนี้ 1.มอบผู้ตรวจราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ร่วมหารือจัดเวลาทำงานให้เหมาะสมตามสภาพของโรงพยาบาล และจำนวนผู้ป่วยหรือปริมาณงาน 2.ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและผู้บริหารศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา ดูแลให้คำปรึกษาน้องๆ แพทย์จบใหม่ อย่าให้รู้สึกโดดเดี่ยว ช่วยให้คำแนะนำเมื่อมีปัญหา รวมทั้งร่วมแก้ปัญหา 3.เร่งรัดจัดทำ ระเบียบช่วยเหลือเบื้องต้นกับบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจาก การให้บริการ และเสนอให้มีระเบียบเยียวยาช่วยเหลือ 4.พัฒนา ระบบฉุกเฉินให้มีแพทย์สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินดูแลในห้องฉุกเฉิน
          ปลัด สธ.กล่าวอีกว่า ปัญหาการขาดแคลนแพทย์มีมานาน และมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ซึ่งเมื่อ 20 ปีก่อน สัดส่วนแพทย์ 1 คนต้องดูแลประชากรถึง 5,000 คน แต่ในส่วนของ สธ.ที่เป็นหน่วยงานในการดูแลประชาชน ในบางพื้นที่ต้องดูแลถึง 1:30,000 คน จึงต้องเร่งผลิตแพทย์เพิ่ม เกิดเป็นโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โดยตลอด 23 ปีของโครงการ ช่วยเพิ่มการผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบได้มากถึง 7,000 คน และยังคงปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลชุมชน กระทรวงสาธารณสุข ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาพรวมดีขึ้นเป็น 1:1,900 คน และบางพื้นที่อาจ 1:10,000 ซึ่งยังไม่เพียงพอตามภาระงานและจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและประชาชนเข้าถึงระบบบริการได้มากขึ้นตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ล่าสุดได้เพิ่มการผลิตแพทย์ โดยในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เพิ่มจากปีละ 3,000 เป็นปีละ 3,200 คน คาดว่าใน 10 ปีข้างหน้าจะมีแพทย์ต่อประชากร 1:1,250 คน
          อย่างไรก็ตาม นอกจากจะเพิ่มจำนวนแพทย์แล้ว ยังช่วยให้สัดส่วนต่อประชากรดีขึ้นมาก สิ่งที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญคือมาตรฐานการรักษา ตอบสนองความต้องการของสังคมด้านคุณภาพการรักษา ซึ่งสร้างความกดดันต่อระบบสาธารณสุข ต่อแพทย์ และวิชาชีพอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์จบใหม่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับแพทยสภาดูแลแพทย์กลุ่มนี้เป็นพิเศษ กำหนดให้มีหลักสูตร "แพทย์เพิ่มพูนทักษะ" เพื่อให้แพทย์จบใหม่ทุกคนในประเทศไทยผ่านหลักสูตรนี้เป็นระยะเวลา 1 ปี  ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์พี่เลี้ยงและอาจารย์แพทย์ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่ตัวแพทย์เอง รวมถึงผู้ป่วยด้วย
          นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการเพื่อตรวจประเมินสถาบันและโรงพยาบาลที่ฝึกอบรมแพทย์กลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับเขตสุขภาพและในระดับโรงพยาบาลที่มีองค์กรแพทย์ ซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์และทันตแพทย์ทั้งโรงพยาบาล ร่วมกันดูแลแพทย์กลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เพื่อให้แพทย์จบใหม่ทุกคนมีทักษะ ประสบการณ์ ให้บริการประชาชนด้วยความมั่นใจ และจะร่วมหารือแพทยสภา ราชวิทยาลัย และคณะแพทย์ เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ที่เหมาะสมต่อไป.

 pageview  1204943    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved