Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 08/10/2564 ]
สธ.ลุยฉีดวัคซีนตั้งเป้าสิ้นปีครบ2เข็มทุกคนลุ้นใช้ชีวิตปกติวิถีใหม่ปี 65

 โควิดไทยติดเชื้อกลับมาพุ่ง 11,200 ราย เสียชีวิต 113 ศพ ฉีดวัคซีนสะสมเกิน 57 ล้านโดส ปลัด สธ.ลั่นเร่งฉีดวัคซีนโควิดตามมาตรฐานโลก เข็มแรกครอบคลุม 75% ภายในพฤศจิกายนมั่นใจต้นปี'65 ไทยใช้ชีวิตปกติตามแนววิถีใหม่ เปิดตัวเลขคาดการณ์ฉีดวัคซีนต.ค.-ธ.ค. ครอบคลุมคนไทย มั่นใจสิ้นธ.ค. ฉีดเข็ม 1 สะสม 85% เข็ม 2 ฉีดได้ 70% เตือนขณะนี้ไทยอยู่ทางแยก ล็อกดาวน์ สิ้นฤทธิ์ ถ้าไม่ร่วมมือกัน การ์ดตก ยอดติด เชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่หากมีมาตรการเข้ม ตัวเลขจะลดลงเหลือต่ำกว่า 5 พัน ย้ำทุกจว.จัดมาตรการ Covid free setting
          เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม  ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 รายวัน โดยวันนี้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับมาทะลุหลักหมื่น และยอดผู้เสียชีวิตกลับมาเกินร้อยคนอีกครั้ง
          ติดเชื้อเด้ง11,200-ตาย113คน
          โดยไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 11,200 คน  จำแนกเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวัง 9,996 คน ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 1,046  คน ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 138 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 20 คน  ผู้ป่วยสะสม 1,649,434 ราย หายป่วย กลับบ้าน 10,087 คน หายป่วยสะสม 1,524,431 ราย ผู้ป่วยกำลังรักษา 109,022  คน จำนวนผู้เสียชีวิตกลับมาเกินหลักร้อย โดยเสียชีวิตอีก 113 คน
          ชงฉีดสูตรไขว้แอสตราฯ-ไฟเซอร์
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมเสนอสูตรการฉีดวัคซีนไขว้แอสตราเซเนกา ตามด้วยไฟเซอร์ เข้าหารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อให้การรับรอง สำหรับวัคซีนสูตรแอสตราเซเนกา-ไฟเซอร์ เป็นสูตรที่วางเอาไว้อยู่ในแผน โดยหลักการคือสามารถใช้ได้
          ไทยฉีดวัคซีนสะสมเกิน57ล้านโดส
          ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้ามาตรการควบคุมป้องกันการระบาด ไวรัสโควิดว่า สถานการณ์วัคซีนโควิด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ฉีดได้ 730,807 โดส รวมฉีดวัคซีนสะสม  57,387,052 โดส  จำแนกเป็นเข็ม 1 จำนวน 33,774,684 โดส คิดเป็น 46.9% เข็ม 2 จำนวน 22,005,722 โดส คิดเป็น 30.5% และเข็ม 3 อีก 1,606,646 โดส คิดเป็น 2.2%
          ทั้งนี้ แบ่งตามกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรสาธารณสุข 123.5% เจ้าหน้าที่ด่านหน้า 62.3% อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) 72.5% ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 62%  ประชาชนทั่วไป 44.3% ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 59.3%  หญิงตั้งครรภ์ 14% และนักเรียน 1.7% สำหรับเป้าหมาย ต.ค. เราจะมีวัคซีนเพียงพอ แล้วจะมีการฉีดให้เร็วที่สุด คาดว่าในเดือน ต.ค. จะได้เข็ม 1 จำนวน 43 ล้านคน คิดเป็น 61% เข็ม 2 ได้ 26 ล้านคน คิดเป็น 37%
          ยันธ.ค.เกือบทุกคนได้ฉีดครบ2เข็ม
          นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ส่วนเป้าหมายจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน เราจะฉีดเข็ม 1 ให้ได้ 53 ล้านคน คิดเป็น 75% ส่วนเข็ม 2 ได้ 39 ล้านคน คิดเป็น 55%  นั่นหมายความว่า เราสามารถทำได้ตามแผน มีวัคซีนอย่างเพียงพอ และได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการฉีดวัคซีน เราก็จะทำได้ตามมาตรฐานโลกในการฉีดวัคซีนของประเทศที่พัฒนาแล้ว และเมื่อสิ้นเดือนธันวาคมเราจะได้เข็ม 1 ถึง 60 ล้านคน คิดเป็น 85% และเข็ม 2 อีก 49 ล้านคน คิดเป็น 70%
          ต้นปี'65ใช้ชีวิตวิถีใหม่-กลางปีสงบ
          "หมายความว่าเมื่อถึงสิ้นเดือนธันวาคมเกือบทุกคนในประเทศไทยจะได้รับวัคซีนเรียบร้อยอย่างน้อย 2 เข็ม และเข็ม 3 ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นต่อไป หากการดำเนินงานเป็นไปตามแผน คาดว่าวันที่ 1 มกราคม 2565 สถานการณ์จะคลี่คลายได้มาก การดำเนินชีวิตคงกลับมาอยู่ใน รูปแบบปกติ แบบวิถีใหม่(New Normal) ต่อไป" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
          และว่า ตอนนี้เราถึงทางแยกแล้ว มีเพียง 2 ทางเท่านั้นทางซ้ายคือ ติดเชื้อของเราจะเริ่มมากขึ้นกว่าที่เคยมีตาม พยากรณ์ถึง 3 หมื่นรายต่อวัน ส่วนทางขวา จะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ กระทั่งเหลือ 5 พันรายต่อวันและต่ำกว่า 5,000 รายต่อวัน ซึ่งเราอยากให้เป็นไปในแนวทางนี้ ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประชาชนป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล ตรวจ ATK ทุก 3 วันหรือ 7 วัน หากป่วยก็มีระบบดูแลรักษา ถ้าไม่ป่วยก็ป้องกันตัวเอง ต่อไป ร่วมมือร่วมใจกันฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม หากเรากดการติดเชื้อให้ต่ำจนถึงสิ้นปีได้ การครอบคลุมของวัคซีนดีขึ้นมาก ต้นปีใหม่เราน่าจะมีความสุข มากขึ้น กลางปี 2565 โควิดน่าจะคลี่คลาย หลังโจมตีเรามากว่า 2 ปี
          กทม.-ปริมณฑลติดเชื้อลดระดับคุมได้
          นพ.เกียรติภูมิกล่าวอีกว่า เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ติดเชื้อของไทยพบว่า สถานการณ์ในกทม.และปริมณฑล มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกทม.ค่อยๆ ลดลงตามลำดับ การติดเชื้อต่ำลงต่อเนื่องอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ส่วนต่างจังหวัดตัวเลขติดเชื้อค่อยๆ ลดลงช้าๆ ยกเว้น 4 จังหวัดชายแดนใต้ คือ สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี ที่พบระบาดเพิ่มขึ้น ที่ต้องความพยายามควบคุมป้องกันโรค ให้ได้ ทั้งปูพรมฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม การค้นหาผู้ติดเชื้อ แยกตัว เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการระบาด เหมือนในกทม. สำหรับสถานการณ์เตียง ในภาคใต้ยังเพียงพอรองรับผู้ป่วยได้ เพราะ ปัจจุบันครองเตียงอยู่ 60% ขณะเดียวกันมีการเปิดรพ.สนามขนาดใหญ่ไว้รองรับ แต่ก็ประมาทไม่ได้
          หมดล็อกดาวน์-การ์ดตกป่วย3หมื่น/วัน
          นพ.เกียรติภูมิกล่าวด้วยว่า ตอนนี้ ไทยอยู่ตรงทางแยก เพราะประสิทธิผลการล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้น่าจะหมดแล้ว ดังนั้น จากนี้หากเราไม่ทำอะไรจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก มีการคาดการณ์ว่าน่าจะถึง 3 หมื่นรายต่อวัน เพราะมีการผ่อนคลาย กิจกรรม แต่หากมีมาตรการและร่วมมือกันยอดติดเชื้อจะลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น สธ.จึงมีข้อเสนอคือ 1.ฉีดวัคซีน ขอความร่วมมือจากประชาชนเข้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเดือนตุลาคม ตั้งเป้าให้ได้ 60% พฤศจิกายน 75% และธันวาคม 85% 2.มาตรการป้องกันโรคครอบจักรวาล ปรับทัศนคติ โดยต้องคิดว่า ทุกคนแม้แต่คนในครอบครัว ติดและแพร่เชื้อได้ จึงต้องป้องกันตัวเองทุกทาง  ซึ่งจาก การสำรวจของกรมอนามัยพบว่า การป้องกัน ตัวเองเมื่อออกนอกบ้านนั้นทำได้ดี แต่ใน บ้านไม่ได้ป้องกัน ทำให้พบติดเชื้อในครอบครัว อาจนำมาสู่การระบาดวงกว้างได้
          3.การตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายซื้อแจกประชาชน ย้ำว่าถึงแม้ฉีดวัคซีนแล้วแต่สามารถติดและแพร่เชื้อได้ ขอให้ตรวจ ATK ควบคู่กับมาตรการป้องกันโรคครอบจักรวาล 4.การรวมตัวของกลุ่มคน เช่น ร้านอาหาร โรงหนัง งานสัมมนา การละเล่นต่างๆ ขอให้จัดมาตรการพื้นที่ปลอดโควิด (Covid free setting) ต้องจัดให้เว้นระยะห่าง ตรวจสอบระบบระบายอากาศ พนักงานฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตรวจ ATK สม่ำเสมอ รวมถึงคนใช้บริการต้องปฏิบัติแบบเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่ควรปล่อยให้มีบรรยากาศเอื้อติดเชื้อ หรือระบาดขึ้น เชื่อว่าหากทำได้เช่นนี้ แม้จะไม่ปลอดภัยแต่ก็ลดการระบาดใหญ่ได้
          ใช้ATKตรวจไม่เข้าเป้าแจ้งผล10%
          นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการ กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะ ฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงการตรวจเชิงรุกด้วย ATK ในรอบ 24 ชั่วโมง ว่า  ตรวจไป 9.6 หมื่นตัวอย่าง ผลเป็นบวก 4,783 ราย ซึ่ง ATK ที่แจกจ่ายฟรีให้ประชาชนยังใช้และแจ้งผลกลับมาน้อยไม่ถึง 10% จึงอยากให้ประชาชนนำชุด ATK มาใช้ แม้พื้นที่ระบาดลดน้อยลง การที่โควิดเกิดติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ หากออกไปสัมผัสพื้นที่สาธารณะ เกี่ยวข้อง อาการทางเดินหายใจคล้ายหวัด อาจสัมผัสความเสี่ยงก็ควรใช้ ซึ่งการตรวจเชิงรุกเจอคลัสเตอร์ย่อยหลายจุด เช่น งานศพ ล้งผลไม้ ตลาด สิ่งที่ทำให้เจอคลัสเตอร์ย่อยๆ เพราะรู้สึกตัวเองแข็งแรงดีไม่มีอะไร มีเครื่องมือคัดกรองเป็น ATK แล้วไม่ใช้ เก็บไว้นาน ทำให้คุณภาพลดลง หมดอายุ จึงควรรีบใช้และส่งรายงานผล
          อนุทินลงกระบี่-พังงาดูฉีดวัคซีน
          ด้านน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 7-8 ตุลาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข และนายพิพัฒน์  รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมคณะ มีกำหนดเดินทางไปตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเปิดเมืองฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ที่กระบี่ และพังงา  เป็นส่วนหนึ่งของการติดตามการดำเนินงานตามแผนของรัฐบาลที่ทยอยเปิดพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ เพื่อรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติตาม แนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กำหนดเป็น 3 ระยะ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป  ภายใต้เงื่อนไขว่า 70% ของประชาชนในพื้นที่ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต้องได้รับวัคซีนครบโดส ขณะที่กลุ่ม 608 ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 80%
          ฟื้นท่องเที่ยวเตรียมเปิดรับนทท.
          น.ส.ไตรศุลีกล่าวต่อว่า การเตรียม ความพร้อมเพื่อเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยว รัฐบาลดำเนินการทั้งความพร้อมเชิงพื้นที่ ที่ประชาชนต้องได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนด การมีแผนเผชิญเหตุ และพัฒนาเมือง และ ความพร้อมเชิงนโยบายโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้อง กับการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว ซึ่งล่าสุดที่ประชุม ศบศ.อนุมัติแนวทาง ปลดล็อกอุปสรรคการท่องเที่ยว 8 ประการ (Ease of Traveling) เช่น ลดกักตัวเหลือ 7 วัน การตรวจ RT-PCR ก่อนมาและเมื่อถึงสนามบิน หลังจากนั้นให้ตรวจแบบ ATK การให้ออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศออนไลน์แบบหมู่คณะ (Group COE) การอนุญาตเที่ยวบินพาณิชย์ของรัสเซียให้เดินทางเข้าสู่ภูเก็ต การลดค่าใช้จ่ายตรวจ RT-PCR แนวทางการการออก Visa On Arrival (VOA) และหนังสือเดินทางเข้าประเทศออนไลน์ หรือ COE Online การมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine Passport) เป็นต้น
          ขีดเส้นฉีดเข็มแรกผู้ต้องขังให้ครบ15ต.ค.
          ด้าน นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน ข้อมูลจนถึง วันที่ 6 ตุลาคม พบผู้ติดเชื้อใหม่ 138 ราย แยกเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำสีแดง 13 ราย และผู้ต้องขังรับใหม่ในห้องแยกกักโรค 125 ราย โดยมีผู้ติดเชื้อรักษาหายเพิ่ม 105 ราย ไม่มีรายงานการเสียชีวิตวันนี้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 2,666 ราย ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว 78% สีเหลือง 21.2% และสีแดง 0.8% ขณะเดียวกัน วันนี้พบการระบาดซ้ำในเรือนจำกลางเชียงใหม่เพิ่ม 1 แห่ง ขณะที่มีเรือนจำพ้นจากการระบาดเพิ่ม 3 แห่งคือ เรือนจำจังหวัดระนอง เรือนจำจังหวัดเพชรบูรณ์ และเรือนจำพิเศษพัทยา ส่งผลให้มีเรือนจำสีแดงลดลงอยู่ที่ 19 แห่ง และเรือนจำสีขาว 123 แห่ง โดยมีผู้ติดเชื้อรักษาหายสะสม 66,216 ราย หรือกว่า 93.4% ของผู้ติดเชื้อสะสม 70,911 ราย เสียชีวิตสะสม 156 ราย คิดเป็นอัตรา 0.2% ของผู้ติดเชื้อสะสม
          ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนให้ผู้ต้องขังปัจจุบัน นายอายุตม์เผยว่า กรมฯฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 221,940 โดส เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม จำนวน 3,313 โดส แบ่งเป็นฉีดวัคซีนแก่ผู้ต้องขัง เข็มที่ 1 จำนวน 162,100 ราย และ เข็มที่ 2 จำนวน 59,840 ราย และยังอยู่ระหว่างประสานโรงพยาบาลแม่ข่ายและสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แก่ผู้ต้องขังให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ตุลาคม รวมถึงฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในกลุ่มผู้ต้องขังที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก และผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้ว ตามระยะเวลาและมาตรการของสาธารณสุขเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคในระยะต่อไป

 pageview  1204509    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved