Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 17/10/2560 ]
กินเจอิ่มบุญสะดุ้ง!อย.พบยาฆ่าแมลงเพียบ

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ตลาดรังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เภสัชกรสมชาย ปรีชาทวีกิจ ปฏิบัติหน้าที่รองเลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยาและนายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกันแถลงข่าว "กินเจ อิ่มบุญ อิ่มใจ ปลอดภัย สุขภาพดี" วันที่ 20-28 ตุลาคม 2560
          โดยนายแพทย์วชิระ กล่าวว่า อาหารเจเน้นพืชผักเป็นหลัก ซึ่งอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนจากถั่ว จะย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์และไขมันมาก ทำให้ระบบย่อยอาหารทั้งกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ได้หยุดพักจากการทำงานหนักมาตลอดปี ถุงน้ำดี ก็จะแข็งแรงขึ้น และผักผลไม้มีกากใยที่ช่วยระบบขับถ่ายและการย่อยอาหารทำงานได้ดี ช่วยขับของเสียและสารพิษที่ตกค้างอยู่ในร่างกาย และยังช่วย ลดโคเลสเตอรอล ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย
          "กระทรวงสาธารณสุขต้องการให้ประชาชนได้อิ่มบุญ และมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ จึงขอให้คำนึงถึงหลักโภชนาการ เพื่อไม่ให้ขาดโปรตีน หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากการรับประทานแป้งมากเกินไป โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลากหลาย เน้นเต้าหู้ โปรตีนเกษตร ถั่ว ธัญพืช และผักผลไม้หลากสี ที่สำคัญต้องไม่เค็ม ไม่หวาน และไม่มันมากเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เป็นสาเหตุสำคัญการป่วยและเสียชีวิตของคนไทย ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และสำหรับการปรุงอาหารเจ ขอให้ยึดหลัก 3 ประการ คือ อาหารปลอดภัย สะอาด และถูกหลักโภชนาการ นอกจากนี้ ขอให้เลือกซื้ออาหารเจ จากร้านที่ได้รับป้ายสัญลักษณ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste)" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
          ด้านเภสัชกรสมชาย ปรีชาทวีกิจ ปฏิบัติหน้าที่รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ได้สุ่มตรวจผัก ผลไม้ และอาหารเจ ในตลาดและโรงงานผลิตด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น (Test- kit) พบว่ากลุ่มผักและผลไม้มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยผัก 56,927 ตัวอย่าง พบยาฆ่าแมลงตกค้าง ร้อยละ 1.54 มากที่สุดคือ ใบบัวบก รองลงมาได้แก่ หัวไชเท้า พริกแห้ง หัวหอม และผักชีฝรั่ง ส่วนในผลไม้ตรวจ 3,885 ตัวอย่าง พบยาฆ่าแมลงตกค้างร้อยละ 1.67 มากที่สุดคือสตรอเบอร์รี่ รองลงมา ได้แก่ ส้ม มะละกอ ลำไย มังคุด
          ปฏิบัติหน้าที่รองเลขาธิการอย. กล่าวอีกว่า ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารเจเช่น ลูกชิ้นปลาเจ ไส้กรอกเจ โปรตีนเกษตร เนื้อหมูเทียมเจ หมูแผ่นเทียมเจ ปลาเค็มเจ หมูยอเจ แป้งหมี่กึ่งไส้หมูเจ เนื้อเทียมเจ เนื้อเห็ดเจ ปลาหมึกเจ ผลการตรวจตลอดปีและก่อนเทศกาลกินเจ รวม 71 ตัวอย่าง พบมีดีเอ็นเอจำเพาะของเนื้อสัตว์ 3 ตัวอย่าง รอผลวิเคราะห์ 7 ตัวอย่าง ทั้งนี้กรณีพบดีเอ็นเอจำเพาะของเนื้อสัตว์ถือว่าเป็นอาหารปลอม ผู้จำหน่ายปลีกให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และติดตามถึงแหล่งผลิตหรือนำเข้า ซึ่งผู้ผลิต/นำเข้าจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับไม่เกิน 5 พันบาทถึง 1 แสนบาท
          นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เฝ้าระวังอาหารในช่วงเทศกาลเจทุกปี ตั้งแต่ปี 2556-2559 ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการตัวอย่างอาหารเจจากตลาดที่ประชาชนนิยมซื้อพบว่า กลุ่มอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ ทุกตัวอย่างไม่พบการใช้บอแรกซ์ แต่ร้อยละ 63 พบมีดีเอ็นเอของเนื้อสัตว์ปนเปื้อน ส่วนใหญ่ เป็นอาหารที่ไม่มีฉลาก กลุ่มผัก-ผลไม้ ที่สุ่มเก็บตัวอย่างจากตลาดค้าส่ง 5 แห่งทั่วประเทศในปี 2559 พบร้อยละ 3 มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกค้างเกินค่ามาตรฐาน ส่วนกลุ่มผักดองตรวจไม่พบกรดซาลิซิลิก แต่ร้อยละ 74.5 ตรวจพบวัตถุกันเสียเกินเกณฑ์มาตรฐาน พบมากในผักกาดดอง/เกี้ยมฉ่ายยำ ไชโป้วฝอย อย่างไรก็ตามวัตถุกันเสียนั้นมีความเป็นพิษต่ำ แต่หากได้รับในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้เกิดอันตรายได้ สำหรับผู้ที่แพ้สารนี้อาจเกิดอาการผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย จึง ไม่ควรบริโภคอาหารเหล่านี้ครั้งละมากๆ
          ทั้งนี้ การประกอบอาหารเจที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ ควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากร้านที่มั่นใจ สำหรับผักสดผลไม้ควรล้างน้ำให้สะอาด ประชาชนสามารถหาซื้อชุดทดสอบเบื้องต้น (Test-kits) ตรวจอาหาร ผักและผลไม้อาหารอย่างง่าย เช่น ชุดตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้สด ที่ร้านค้าองค์การเภสัชกรรม ชุดทดสอบยีสต์และเชื้อราในอาหารและเครื่องดื่ม ชุดทดสอบ โคไลฟอร์มในน้ำและน้ำแข็ง ที่บริษัท ยูแอนด์วี โฮลดิ้ง (U&V holding)

 pageview  1204974    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved