Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 22/05/2561 ]
บุหรี่มือ2คร่าชีวิตคนในบ้านพ่อสูบทำลูก21ปีป่วยหัวใจตีบ

 กรุงเทพธุรกิจ คนไทยรับควันบุหรี่มือสอง ในบ้านถึง 17.3 ล้านคน เสี่ยงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ แม้รับเพียง 30 นาที เกิดอันตรายต่อเยื่อบุหลอดเลือด ทำเลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง แพทย์ชี้เพิ่ม ความเสี่ยงเกิดโรคถึง 30% พบอายุแค่ 21-25ปี ป่วย หัวใจตีบ-กล้ามเนื้อหัวใจตาย ขณะที่เสี่ยงเกิด โรคหลอดเลือดสมอง 2 เท่า ฮูระบุไทยสูญเสีย ทางเศรษฐกิจจากสูบบุหรี่ 7.5 หมื่นล้านบาท จี้บังคับใช้ก.ม.คุมยาสูบเข้มข้น
          วานนี้ (21พ.ค.) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แถลงข่าว "บุหรี่ตัวร้าย ทำลายหัวใจ"เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค.ของทุกปีว่า ข้อมูลสำรวจล่าสุดโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2560 พบว่า มีคนไทย 17.3 ล้านคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน รับควันบุหรี่มือสองเพียง 30 นาที เกิดอันตรายต่อเยื่อบุหลอดเลือด และทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจ ลดลงได้ ยิ่งสูบนานจะทำให้เส้นเลือดค่อยๆหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ
          โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า แต่ละปีมีคนไทย เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ และสมอง ปีละ 2,615 คน จากจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองทั้งหมดปีละ 6,500 คน  ในสหรัฐอเมริกามี ผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบจากการได้รับควันบุหรี่มือสองปีละ 33,950 คน และมีชาวอเมริกา 2,194,000 คน ที่เสียชีวิตระหว่าง พ.ศ.2507 - 2557 จากโรคเส้นเลือดหัวใจที่เกิดจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านหรือที่ทำงาน
          "พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 มีการกำหนดพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นและกำหนดให้เจ้าของร้านหรือเจ้าของพื้นที่ห้ามสูบต้องดูแลควบคุมการห้ามสูบด้วย เมื่อมีกฎหมายแล้วจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการบังคับใช้อย่างเข้มข้น ส่วนในบ้านที่เป็นแหล่งรับควันบุหรี่มือสองมากที่สุด แม้กฎหมายไม่ห้าม แต่คนสูบควรตระหนักในการไม่ทำให้คนในครอบครัวมีอันตราย ควรเลิกบุหรี่หรือหากเลิกไม่ได้ต้องไม่สูบในบ้าน"ศ.นพ.ประกิตกล่าว
          ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน โรคหัวใจและโรคเส้นเลือดสมอง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดแดงตีบตันซึ่งหมายถึงหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองปีละ 100,000 คน  ซึ่ง 20 % หรือ 20,000 คน มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ในขณะที่คนไทยที่มีอายุระหว่าง 30 ถึง 45 ปี ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง4เท่า หรือ เกือบครึ่งหนึ่งของคนวัยหนุ่มสาว ถึงวัยกลางคนที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่
          "ผู้ที่เป็นผู้สูบบุหรี่มือสอง หรือ passive or second hand smoker มีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดพอ ๆ กับผู้ที่สูบบุหรี่ โดยเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบถึง 30%  ทั้งนี้การสูบบุหรี่เพียง1-2มวนต่อวันก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ แม้แต่การสูบบุหรี่ไร้ควันหรือ E cigarette ก็มีสารนิโคตินซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่เคยสูบบุหรี่และสามารถเลิกบุหรี่ได้สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ถึง 30 %"ผศ.นพ.ครรชิตกล่าว
          นพ.ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี คณะกรรมการบริหารมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ทั้งเพศชายและหญิง การสูบบุหรี่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 2 เท่า ซึ่งผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็น 1.25 -1.27 เท่า และเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองเป็น 1.25-1.35 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับ
          ผศ.ดร.ดวงกมล วัตราดุลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการพยาบาล สถาบันการพยาบาล ศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดอายุน้อยลงมากส่วนสำคัญมีสาเหตุจากการสูบบุหรี่เป็นหลัก โดยจากการดูแลผู้ป่วยมีคนอายุ 21 ปีเป็นพนักงานออฟฟิตป่วยโรคหัวใจตีบ อายุ 25-30 ปี ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และอายุ 18 ปีป่วยหลอดเลือดสมองรายนี้แม้ตัวเองไม่ได้สูบบุหรี่แต่คุณพ่อสูบ จึงอยากให้คนที่สูบบุหรี่ในพื้นที่ห้ามสูบตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้สูบต้องเสี่ยงอันตรายจากการรับควันบุหรี่มือสอง
          รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา รองเลขาธิการและงานฝ่ายกฎหมาย สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คนที่ สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองอุดกั้นเพิ่มขึ้น 2 เท่า การสูบบุหรี่ทวีความรุนแรงของอัตราเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเมื่อพบร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ใน ผู้หญิงที่สูบบุหรี่และใช้ยาคุมกำเนิดอัตราเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองจะสูงถึง 7.2 เท่าเป็นต้น
          นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2561 องค์การอนามัยโลกหรือฮูได้ให้ความสำคัญกับพิษภัยของยาสูบต่อสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากไปทำลายผนังหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือด หลอดเลือดตีบตัน และขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนไปสู่หัวใจ กล้ามเนื้อ และอวัยวะต่าง ๆ ผู้ใหญ่ในวัยทำงานที่สูบบุหรี่นั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต จากโรคหัวใจและหลอดเลือด สมองอุดตัน มากกว่าผู้ที่ไม่ สูบบุหรี่ถึงสี่เท่า
          ทั้งนี้ ไทยมี ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของไทยจากการสูบบุหรี่ในปี 2552 มีมูลค่าถึง 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเลิกบุหรี่ยังสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่เลิกบุหรี่ได้ 1 ปีจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจวายลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับผู้ที่สูบบุหรี่

 pageview  1204893    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved