ในทางวิชาการ ความเครียด หมายถึง ปฏิกิริยาของร่างกายและจิตใจ ที่มีต่อสิ่งที่มากระตุ้น ซึ่งคำว่าปฏิกิริยาก็ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นการตอบสนองของร่างกายบางส่วน เช่น ปวดหัว หัวใจเต้นแรง เหงื่อออก หรือเป็นความรู้สึกกระวนกระวาย และสิ่งที่มากระตุ้น หรือสิ่งเร้าที่จะทำให้เกิดความเครียดก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน
ว่ากันว่ามนุษย์รู้จักความเครียด ครั้งแรก ก็เมื่อตื่นนอนเดินออกจากถ้ำที่พักในตอนเช้าแล้วมาเจอเสือเขี้ยวดาบยืนแสยะยิ้มรออยู่ปากถ้ำ (สมมุติว่าก่อนหน้านั้นไม่เคยเจออะไรที่น่ากลัวเท่านี้มาก่อน) ปฏิกิริยาของบรรพบุรุษของเรา ท่านนั้นก็อาจจะออกมาได้สองแบบ คือ วิ่งเข้าต่อสู้กับเจ้าเสือเขี้ยวดาบนั้นด้วยมือเปล่าหรือกระบอง (ถ้ามี) หรือวิ่งหนีเข้าถ้ำไปแอบจนกว่าเสือจะผ่านไป ความอกสั่นขวัญแขวนที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความกลัว จนไม่กล้าออกไปล่าสัตว์อีกต่อไป ก็กลายมาเป็นต้นแบบของโรคประสาทชนิดหนึ่ง ของลูกหลานมนุษย์ในเวลาต่อมา
ผู้เขียนบอกว่า ความเครียด เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของพวกเรา ก็คงฟังแปลกออกไป เพราะดูเหมือนว่าในขณะนี้ พวกเราพยายามหาวิธีที่จะลดความเครียด ให้เหลือน้อยที่สุด แต่ถ้าปราศจากความเครียดแล้ว ชีวิตของมนุษย์คงจะลดสีสันและน่าเบื่อ ความเครียดเหมือนกับผงชูรสที่เพิ่มรสชาตให้กับชีวิต เป็นสิ่งที่ท้าทายในการดำรงอยู่ของพวกเราทุกคน ความเครียดที่มาก และติดต่อกันนานเกินไปต่างหากที่จะมีผลร้ายต่อร่างกายและจิตใจของเรา เพราะฉะนั้นจึงมีบางอย่างที่เราควรรู้เกี่ยวกับความเครียดสักห้าประการ คือ
ประการแรก .. คนทุกคนจะเครียดเหมือน ๆ กัน เมื่ออยู่ในภาวะเดียวกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด คนเราจะมีปฏิกิริยาต่อความเครียดแตกต่างกันออกไป แม้จะอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ นักเรียนที่ฟังการประกาศผลสอบเอนทรานซ์ ในคนที่สอบไม่ได้เหมือน ๆ กัน ทุกคนจะรู้สึกเสียใจผิดหวัง แต่ปฏิกิริยาต่างกัน บางคนเฉย ๆ บางคนร้องห่มร้องไห้ บางคนหลบหน้าเพื่อนฝูงเพื่อขอเวลาทำใจ และในบางคนอาจจะซึมเศร้ามากจนคิดฆ่าตัวตายก็มี
ประการที่สอง .. ความเครียดเป็นสิ่งไม่ดี ความคิดที่ว่าไม่มีความเครียดเลยจะดีที่สุดเป็นความคิดที่ยังไม่ถูกต้องทีเดียวนัก ความเครียดต่อมนุษย์เปรียบได้กับความตึงที่เราขึงสายไวโอลิน ถ้าขึงหย่อนหรือตึงไปก็จะทำให้เสียงไวโอลินผิดเพี้ยนไป ความเครียดอาจจะเป็นอุปสรรคหรือเพิ่มสีสันให้กับชีวิตจะขึ้นอยู่กับวิธีที่เรา จัดการ กับมันมากกว่า
ประการที่สาม .. ไปที่ไหนก็มีแต่ความเครียด จะทำอะไรได้ มีผู้ที่คิดเช่นนี้มากมาย แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าเรารู้จักคิดและวางแผนในการจัดการรับความเครียดไม่ให้มาท่วมท้นเรา การจัดลำดับความเครียด จากน้อยไปหามาก และค่อย ๆ แก้ปัญหาไปตามความยากง่ายของต้นเหตุที่ทำให้เราเครียด ถ้าเราไม่จัดการกับความเครียด ไม่สามารถจัดลำดับชั้นความเครียดได้ จะทำให้ปัญหาทุกอย่างใหญ่เท่า ๆ กัน และดูเหมือนจะมีความเครียดไปทุกแห่งจนแก้ไขอะไรไม่ได้
ประการที่สี่ .. วิธีคลายเครียดที่เป็นยอดนิยมเป็นวิธีที่ดีที่สุด สำหรับเรา.. เช่นเดียวกันไม่มีวิธีคลายเครียดแบบใดที่จะใช้ได้ผลกับทุก ๆ คน วิธีดำเนินชีวิตของเราแตกต่างกัน พบสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาของเราจึงแตกต่างกันไป วิธีคลายเครียดที่ใช้ได้ผลกับคน ๆ หนึ่ง อาจไม่ได้ผลกับเรามากนัก ควรใช้วิธีคลายเครียดหลาย ๆ อย่างเลือกให้เหมาะสมกับตัวเรา
ประการที่ห้า .. ถ้าไม่มีอาการทางกายแปลว่าไม่เครียด .. ตามความเป็นจริงแล้วการไม่มีอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ใจสั่น ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีความเครียด บางคนอาจใช้ยาเพื่อลดอาการทั้งทางร่างกายและจิตใจลงไปได้ แต่ยังมีความเครียดอยู่ บางคนอาจจะพูดว่าไม่เคยเครียดเลย หรือเป็นคนไม่เครียดตลอดชีวิต ดูจะเป็นความสามารถเฉพาะตัว ที่จากจะลอกเลียนแบบได้
ถ้าท่านคิดว่าท่านมีความเครียดและต้องการ จัดการ กับความเครียดอาจทำได้ โดยการศึกษาหาความรู้จากหนังสือ สื่อต่าง ๆ หรือทางโทรศัพท์ ฮอตไลน์ของทั้งรัฐและเอกชน เช่น หมายเลข 1667 ของกรมสุขภาพจิต หรือหาทางพูดคุยกับผู้ที่คิดว่าจะช่วยเหลือท่านได้
ในบทความคลายเครียดบางอย่างที่คุณตอนที่แล้วได้พูดถึง ความเครียดที่พวกเราควรรู้จักไป 4-5 ประการแล้ว ก็อยากมาเพิ่มเติมต่ออีก โดยเฉพาะตัวเลขที่เกี่ยวกับความเครียด จากรายงานของสมาคมจิตวิทยาของอเมริกัน พบว่าในคน (อเมริกัน) ประมาณ 43 เปอร์เซ็นต์ จะมีภาวะสุขภาพจิตที่ไม่ดี ซึ่งเกิดจากผลของความเครียด และประมาณ 75-90 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่ไปพบแพทย์ (คงหมายถึงผู้ป่วยไม่ใช่เพื่อนฝูงหรือภรรยาที่คอยไปพบ) ตามโรงพยาบาล มีอาการที่เกี่ยวข้องกับความเครียด (Stress-related complains) ซึ่งถ้านับเป็นการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การเสียชั่วโมงทำงาน การขาดงาน ผลผลิตที่ได้ลดลงแล้ วามเครียดก่อให้เกิดการสูญเสียมากกว่า 300 ล้านเหรียญต่อปี (มากกว่า 12,000 ล้านบาท หรือประมาณหนึ่งในห้าของงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย)
ในประเทศไทยยังไม่มีผู้ใดคิดคำนวณการสูญเสียทางเศรษฐกิจ หรือการเงิน เนื่องมาจากความเจ็บป่วยโดยเฉพาะโรคทางด้านสุขภาพจิต หรือความเครียด ซึ่งคิดค่อนข้างยากกว่าความเจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย แต่ถ้าประมาณด้วยสายตา เมื่อพบผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลจิตเวชในต่างจังหวัด โดยเฉพาะทางภาคอีสานแล้วก็คงมากพอดู เพราะในการพาผู้ป่วย โรคจิต หรือ ผีบ้า 1 คน มาโรงพยาบาลจะมีญาติพี่น้องไม่ต่ำกว่า 5 คน หรือเท่าที่รถปิคอัพ 1 คันจะขนมาได้
กลับมาเรื่องของความเครียดอีกครั้ง เท่าที่มีการศึกษา เรื่องปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทยพบว่าในภาวะปกติ คนทั่ว ๆ ไป จะมีความรู้สึกเครียด หรือมีอาการในระดับปานกลาง และมากประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ของประชากร แต่หลังจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ (ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2540 ซึ่งประกาศลอยตัวค่าเงินบาท) เป็นต้นมา การสอบถามโดยใช้แบบสอบถามประชาชนทั่วไป จะรู้สึกเครียดมากขึ้นเป็น 40-60 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่อาชีพ ซึ่งถ้าดูแล้วคนที่ไม่เครียด นอกจากเด็กที่ไม่รู้เรื่องอะไรแล้ว ก็เห็นจะเป็นผู้ใหญ่ หรือคนแก่ที่สมองเสื่อม หรือไม่รับรู้อะไรแล้ว
มีบางท่านอาจจะคิดว่า ขนาดของปัญหาจะสัมพันธ์กับความเครียดที่เกิดขึ้น ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เราอาจจะเห็นผู้ที่ติดหนี้ธนาคาร 3,000 ล้านบาท กินได้ นอนหลับ ในขณะที่ผู้ที่ถูกทวงเงินไม่กี่พันบาทมีอาการเครียดกินไม่ได้นอนไม่หลับ ดังนั้น คนที่จะเอาตัวรอดจากความเครียดได้ ต้องรู้จัก จัดการ กับความเครียดนั้น ซึ่งโดยความหมายแล้ว การ จัดการ ไม่ได้หมายความว่าให้เราขจัดความเครียดให้หมดไป แต่หมายถึงวิธีการที่เราจะอยู่กับความเครียดของเราให้ได้ โดยวิธีการดังต่อไปนี้
เมื่อคิดว่าเรากำลังเริ่มเครียด
1. หยุดคิดสักครู่ หรือพยายามนึกถึงภาพสวย ๆ สถานที่สวย ๆ ที่เคยเห็นหรือเคยไปพบ บางครั้งเราไม่สามารถหนีจากสถานการณ์ หรือ ภาวะแวดล้อมไปได้ก็จะใช้ความคิดฝันให้เป็นประโยชน์เหมือนเพลง To dream the impossible dream
2. เมื่อหยุดคิด หรือหยุดความฟุ้งซ่านลงได้บ้างแล้วให้พยายามเรียงลำดับปัญหาตามความสำคัญอาจจะนั่งนึก หรือเขียนลงเป็นข้อ ๆ และค่อย ๆ คิดดูว่าปัญหาใด แก้ไขได้ ปัญหาใดต้องรอไว้ก่อน หรือปัญหาบางอย่างที่ไม่สามารถแก้ไขได้เลย คงต้องยอมรับขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาของเราอย่างเป็นจริง
3. เมื่อเรียงลำดับปัญหาได้แล้วก็ต้องพยายามหากิจกรรมต่าง ๆ ทำที่ดีที่สุด คือ การออกำลังกาย เล่นกีฬาชนิดต่าง ๆ ที่ตนเองถนัด หรือพอเล่นได้ หรือทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้อื่น เช่น ไปเลี้ยงเด็กกำพร้า เลี้ยงอาหารผู้ป่วยสามัญ โดยเฉพาะตามโรงพยาบาลจิตเวชต่าง ๆ ที่ขาดแคลนคนเหลียวแล
4. หาเพื่อนหรือผู้ที่เราสามารถระบายความเครียดได้ เราอาจจะคุยกับญาติ พี่น้อง ครู พระ หรือผู้ที่สามารถรับฟังสิ่งที่เราวิตกกังวล และทำให้เครียด ถ้ายังรู้สึกว่ามีปัญหามากอาจจะไปพบผู้อื่นที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา (Counsellor) นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ สำหรับวิชาชีพหลังสุด อยากให้ไปพบในกรณีสุดท้าย เพราะอาจจะไม่มีเวลามากพอสำหรับท่านที่อยากระบายความเครียดนาน ๆ และแถมยังต้องเสียค่าใช้จ่ายตามกรณีอีกด้วย
5. ประการสุดท้ายหลังจากดำเนินการมาตามคำแนะนำต่าง ๆ แล้ว ก็คือ การปรับจิตใจของเรา (ซึ่งจะลดความตึงเครียดไปได้บ้างแล้ว) ให้รู้จักปรับเข้ากับปัญหายอมรับในสิ่งที่ยังแก้ไขไม่ได้ ถ้าอยากร้องไห้ก็ร้องเสียให้เต็มที่ไม่ต้องอายใคร (ควรจะทำกิจกรรมนี้ในที่ลับตาผู้คนเสียหน่อย) พยายามให้ความหวังกับตนเองและดูแลสุขภาพ การกินการนอนให้พอเพียง การใช้ยา ระงับประสาท หรือยา คลายเครียด อยากให้พิจารณาเมื่อมีอาการทางกายมากขึ้น หรือนอนไม่หลับจนไปทำงานทำการไม่ได้ เพราะยาเหล่านี้เพียงแต่ช่วยลดอาการวิตกกังวล หรือนอนไม่หลับจนไปทำงานทำการไม่ได้ เพราะยาเหล่านั้นเพียงแต่ช่วยลดอาการวิตกกังวล หรืออาการทางกาย เช่น ใจสั่น ปวดหัว หรือช่วยให้นอนหลับ เท่านั้น ความเครียดจะยังคงเป็นแขกประจำของท่านอยู่เสมอ ดังนั้น จึงควรจะอยู่กับความเครียดให้ได้ดีกว่าจะหลบหนีจากมันไป |