บัญญัติ 8 ประการหนีโรคเครียด PSS
นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"ว่า ปัจจุบันได้เกิดกลุ่มอาการใหม่ของปัญหาสุขภาพจิต จากภาวะความเครียดจากสถานการณ์ทางการเมือง (โรค Political Stress Syndrome หรือ PSS) เนื่องจากสถานการณ์การเมืองปัจจุบันได้ส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการดังกล่าวชัดเจนที่สุดในรอบ 30 ปีและประชากร 1 ใน 4 ของประเทศ
นพ.มล.สมชาย บอกอีกว่า สถานการณ์ทางการเมืองมีอิทธิพลแม้แต่ในครอบครัว ที่เริ่มมีการทะเลาะเบาะแว้งเพราะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ในส่วนของผู้ชุมนุมแม้จะยืนยันว่าจะดำเนินการด้วยสันติวิธี แต่เมื่อเหตุการณ์การเมืองยังต่อเนื่องยาวนานและไม่มีทางออก ก็น่าเป็นห่วงว่าอาจนำไปสู่ความรุนแรง เพื่อให้สถานการณ์การเมืองสิ้นสุดได้
"เรื่องการเมืองและศาสนามักมีความศรัทธาส่วนบุคคลเข้ามาประกอบ ถ้าศรัทธามากเกินไปจะคุยกันยาก ในกรณีมีความเห็นแตกต่างกัน ควรคุยกันโดยมีกติการ่วมกันว่า จะคุยเพื่อทำความเข้าใจและเรียนรู้ความคิดเห็นของอีกฝ่าย โดยต้องรับฟังกัน ไม่มุ่งเอาชนะคะคานกัน แต่ถ้าคุยกันไปแล้วรุนแรงขึ้นจนระงับอารมณ์ไม่ได้ ก็ให้เลิกคุยเรื่องนี้เสียไม่ต้องใช้เหตุผลมาเถียงกัน เพราะยิ่งเถียงจะยิ่งเครียด และไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น"
สำหรับความเครียดจากความเห็นแตกต่างทางการเมืองถือเป็นความเครียดทางบวกที่เกิดเพราะความห่วงใยบ้านเมือง ความเครียดแบบนี้จะไม่ทำให้เกิดโรคจิต แต่จะทำให้บุคคลนั้นมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น และคลี่คลายไปสู่จิตสำนึกร่วมทางการเมืองของสังคมในที่สุด ส่วนการจัดการกับความเครียดนั้น ให้พยายามทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ อย่าติดตามข่าวสารจนอดหลับอดนอน
"ถ้าติดตามข่าวสารก็ควรติดตามทุกฝ่าย อย่าฟังด้านเดียวเพราะจะไม่เห็นทางออก และให้มีส่วนร่วมทางการเมืองตามอัตภาพ เช่น ร่วมลงชื่อ ส่งไปรษณียบัตร หรือเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบ เพื่อช่วยลดความรู้สึกผิดว่าเราไม่ได้ทำอะไรเพื่อบ้านเมือง"
นอกจากนี้การชุมนุมประท้วงที่ยาวนานทำให้ กลุ่มผู้ชุมนุมต่างมีความเครียด คนที่มาร่วมชุมนุมนั้น เมื่อมาชุมนุมจะทำให้ความเป็นตัวของตัวเองหมดไป การคิดการตัดสินใจส่วนใหญ่จะคล้อยตามแกนนำ ซึ่งส่วนใหญ่การชุมนุมมักจะมีคำพูดที่รุนแรงเพื่อปลุกระดมความรู้สึก อาจทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถทำอะไรที่รุนแรงได้ เช่น การขว้างปาขวดน้ำ ทำลายสถานที่ราชการ เป็นต้น ดังนั้นจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจกับกลุ่มต่างๆ โดยคนในครอบครัวช่วยกันดูแลพูดคุยใช้วิธีการนุ่มนวล อาจแสดงความคิดเห็น ชี้แจงถึงสาเหตุที่ถูกต้องซึ่งหากไม่สามารถแนะนำหรือชี้แจงได้ก็ให้หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่รุนแรงต่อกัน
อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกอีกว่าหากท่านรู้สึกว่าตัวท่านเองมีอาการเหล่านี้ในทั้ง 2 กลุ่มอาการ แนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้
1. หันเหความสนใจไปเรื่องอื่นโดยหลีกเหลี่ยงการพูดคุยเรื่องการเมือง ปิดรับข่าวสารการเมืองทุกชนิดแล้วเปิดไปดูละครทีวี(ทั้งน้ำเน่าและน้ำดี) เพื่อความบันเทิงเริงใจไปก่อน
2. ลดความสำคัญของปัญหาลงมาชั่วขณะ ให้ความสำคัญกับเรื่องเร่งด่วน ตามหลักอื่นๆบ้าง
3. หาทางระบายออกโดยเลือกผู้ที่มีแนวคิดใกล้เคียงกัน
4. ออกกำลังกายและพักผ่อน โดยพยายามทำสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายให้สม่ำเสมอขึ้น
5. ฝึกวิชาผ่อนคลายตัวเอง เช่น ฝึกสติและสมาธิ ฝึกโยคะ ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เช่น การกำหนด ลมหายใจเข้า - ออก
6. หันหาวิธีการที่ทำให้สงบ อาจจะใช้ศาสนามาช่วยขัดเกลาจิตใจ เพื่อปล่อยวาง โดยการหาทางพัฒนาจิตใจให้มีภูมิคุ้มกันเช่นหากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด ซึ่งอาการดังกล่าว จะหายไปได้เอง เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง หรือละความสนใจในเรื่องอื่นบ้าง
7.ใช้ยาช่วยตามอาการ เช่น ยาคลายเครียด ยานอนหลับ ซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งให้
8 .หากมีอาการทั้งหมดเกินกว่า 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาหรือจิตแพทย์
ขอขอบคุณที่มา : http://pha.narak.com/topic.php?No=19388
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
|