ผลการศึกษากับอาสาสมัครวัยชรากว่า 800 คน ในสหรัฐฯเป็นเวลา 4 ปี พบว่าคนเปลี่ยวเหงามีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรคือสาเหตุในเรื่องนี้
คณะนักวิจัยที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยรัชในเมืองชิคาโก ประเมินความเปลี่ยวเหงาของอาสาสมัคร จากการตอบคำถามเป็นประจำทุกปี โดยแบ่งระดับความเหงาตั้งแต่ 1-5 ประเมินหาสัญญาณของภาวะจิตเสื่อมและอัลไซเมอร์ รวมทั้งชันสูตรศพอาสาสมัคร 90 คน ที่เสียชีวิตระหว่างการศึกษาเพื่อหาสัญญาณของอัลไซเมอร์ เช่น โปรตีนด้านนอกและรอบเซลล์ประสาท ผลการศึกษาพบว่าความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 51 ของทุกๆระดับความเหงา และพบว่าอาสาสมัครที่มีระดับความเหงามากที่สุดคือ 3.2 เสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ 2 เท่าของคนที่มีระดับความเหงาต่ำที่สุด คือ 1.4 อย่างไรก็ดี ไม่พบว่าระดับความเหงามีความสัมพันธ์กับอาการทางสมองที่เกิดจากอัลไซเมอร์
เดิมทราบกันอยู่แล้วว่า การอยู่โดดเดี่ยวมีส่วนทำให้เกิดอาการจิตเสื่อม แต่ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่นักวิจัยศึกษาว่าคนอยู่โดดเดี่ยวมีความรู้สึกอย่างไร นักวิจัยสรุปจากผลการศึกษาว่า ความเหงาไม่ใช่ผลที่เกิดจากภาวะจิตเสื่อม สันนิษฐานว่าความเหงาอาจมีผลต่อสมองส่วนรับรู้และความจำ ทำให้คนอยู่โดดเดี่ยวเสี่ยงเกิดอาการถดถอยทางสมองอันเกิดจากอายุที่มากขึ้น ดังนั้น จึงควรตระหนักว่าความเหงาไม่เพียงมีผลต่อสภาพจิตใจเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสภาพร่างกายด้วย |