เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สมรรถภาพร่างกาย | สุขภาวะทางจิต | สุขภาพกับความงาม | สื่อกับสุขภาพ | สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | ธรรมะกับสุขภาพ






ลดความอ้วนแบบนับ 1 2 3






"ความอ้วนเป็นปัญหาของผู้คนจำนวนมากในบ้านเรา ผู้ที่ให้ความสำคัญกับรูปร่างโดยเฉพาะผู้หญิง ดูจะห่วงเรื่องนี้เป็น
พิเศษ ความอ้วนทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลายอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน การรักษาความอ้วน มีหลายวิธี การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การผ่าตัด และการใช้ยาเป็นวิธีหลักๆ ที่ใช้มากมียาใหม่ๆ ออกสู่ตลาดเรื่อยๆ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึง การออกกำลังกายและการรับประทานอาหารยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุด สำหรับการลดความอ้วนระยะยาว"

ความอ้วนกับโรคภัยไข้เจ็บ

การมีน้ำหนักมากเกินมีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นครับ หมายความว่า คนอ้วนตายมากกว่าคนผอมและยังสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ต่อการตายที่สูงขึ้นของโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวานอีกด้วย ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีอยู่ไม่น้อย ที่เกี่ยวกับ น้ำหนักตัวมากเกินไป คนอ้วนมีโอกาสที่จะมีโคเลสเตอรอลในเลือด สูงกว่าคนผอมถึง 50% และยังมักมีไขมันชนิดอื่นสูงอีกด้วย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันก็ชอบคนอ้วนครับเป็นมากกว่า
คนผอม หรือคนไม่อ้วนแยะทีเดียว โรคเบาหวานก็เป็นอีกโรคที่ชอบความอ้วน อ้วนปานกลางจะทำให้เป็นโรคเบาหวานสูงถึง 5 เท่า ถ้าอ้วนมาก จะเป็นเบาหวานสูงขึ้น 10 เท่าเลยล่ะ

สำหรับผู้ชายอ้วนมีโอกาสตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็ง ต่อมลูกหมากสูงกว่าคนไม่อ้วน ในผู้หญิงอ้วนก็มีโอกาสเสียชีวิตสูง จากมะเร็งของโพรงมดลูก, ถุงน้ำดี, ปากมดลูก, รังไข่ และมะเร็งเต้านมครับ

คนอ้วนโดยทั่วไปจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเกิดโรคของถุงน้ำดี, โรคปอด, โรคเกาต์, มะเร็ง และโรคข้ออักเสบ ครับ เรียกว่า รับเลอะเลยทีเดียว สิ่งที่ตามมาติดๆ ก็คือ การเสียเงินเสียทองเยียวยารักษา เป็นภาระอันหนักอึ้งแสนสาหัสของครอบครัวและของรัฐบาลด้วย

สาเหตุของความอ้วน

คนอ้วนส่วนใหญ่อาจเรียกได้ว่า "อ้วนเอง" คือ ไม่ได้มีโรค อันเป็นเหตุให้อ้วนโดยตรง นอกเหนือจากการกินเข้ามา
มากกว่า การใช้ออกไป มีน้อยมากครับที่อ้วนจากโรค เช่น โรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด, โรคทางพันธุกรรม, อ้วนจากยาหรือจากโรคของระบบประสาท ปัจจุบันเราถือว่า การอ้วนเป็นภาวะอันเกิดจาก หลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธ์, วัฒนธรรม, สังคม, เศรษฐกิจ, พฤติกรรม และปัจจัยด้านสถานการณ์รอบด้านครับ

แนวทางแก้ไขความอ้วน

คงต้องยอมรับครับว่า การลดความอ้วนให้ได้ผลระยะยาวนั้น เป็นเรื่องยาก ตัวแปรหลักอยู่ที่ตัวผู้อ้วนเอง ไม่ใช่หมอ สำหรับหมอ เราก็ถือว่า ความอ้วนก็เช่นเดียวกับเบาหวานหรือความดันสูง คือ เป็นโรคเรื้อรัง หายขาดยาก ได้แค่บรรเทา คือ คุมไว้อย่าให้กำเริบ และก็ยังเหมือนกับโรคเรื้อรังอื่น ตรงที่ไม่สามารถแก้ไข ได้โดยรวดเร็ว จะว่าไปแล้วก็ยังไม่มีวิธีรักษาที่ถูกใจคนไข้เลย เพราะคนไข้จะพอใจก็ต่อเมื่อต้องได้ผลดี คือ ผอมเร็ว และผอมนานไม่กลับมาอ้วนอีก

ในทางทฤษฎีแล้วจะต้องเผาผลาญพลังงานไปถึง 3500 กิโลแคลอรี่ จึงจะลดไขมัน ลงไปได้ 1 ปอนด์ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ไม่ควรลดน้ำหนักลงเร็วกว่า 1-2 ปอนด์ต่อสัปดาห์ เห็นไหมล่ะครับว่า จะลดน้ำหนักกันเร็วๆ ไม่ได้ไม่ควรทำ และโรคอ้วนนี่ก็ชอบกลับมา เป็นซ้ำเป็นซากอยู่นั่นแหละ ไม่ยอมหายขาดซะที

ตารางที่ 1 รวบรวมกิจกรรมที่ใช้กันบ่อยเพื่อลดน้ำหนัก


รวบรวมกิจกรรมที่ใช้กันบ่อยเพื่อลดน้ำหนัก
วิธีลดน้ำหนักที่ใช้กันมาก

กิจกรรมผู้ใหญ่ : วัยรุ่น :
ชั่งน้ำหนักตัวเองสม่ำเสมอ ออกกำลังกาย
เดินออกกำลัง อดอาหารบางมื้อ
ดื่มเครื่องดื่มคุมน้ำหนัก ใช้ยาลดน้ำหนัก
กินเกลือแร่ วิตามิน
คำนวณแคลอรีที่กิน
อดอาหารบางมื้อ
ใช้อาหารลดน้ำหนักที่มีขาย
ใช้บริการของโปรแกรมลดน้ำหนัก
ใช้ยาลดน้ำหนัก

ผู้หญิงดูจะใช้มากเป็นพิเศษ วิธีที่ใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นที่ยอมรับ ทางการแพทย์ แต่บางวิธีก็ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพหรือไม่

ในบรรดาวิธีต่างๆ ที่ใช้ควบคุมความอ้วน วิธีเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งรวมถึง การปรับเปลี่ยนการกินอาหารนับเป็นวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด วิธีใช้ยาดูเหมือนว่าตอนแรกจะลดน้ำหนักได้เร็ว แต่ในระยะยาวแล้ว สู้วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้เพราะคุมความผอมไว้ได้นานกว่า

การปรับเปลี่ยนอาหารเริ่มจาก การให้ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับสารอาหาร พลังงานจากอาหารและชนิดของอาหารต่างๆ จุดประสงค์เพื่อให้สามารถเลือกรับประทานอาหารได้เหมาะสม, สามารถคิดปริมาณพลังงานจากสารอาหารได้ และรู้หลักของ การจัดอาหารให้สมดุล

ผู้ที่ต้องการควบคุมอาหารมากๆ อาจจำกัดพลังงานอาหาร ให้เหลือเพียง 400-800 กิโลแคลอรีต่อวัน กิจกรรมออกกำลัง มีความสำคัญในการลดน้ำหนักมากครับ เพราะ

ช่วยเร่งการใช้พลังงาน หรือเผาผลาญไขมันที่สะสมไว้ออกไปอีกทางหนึ่ง รวมแล้ว พลังงานแต่ละวันก็จะติดลบ คือ ใช้มากกว่ารับประทานเข้าไป น้ำหนักก็จะลดลงเรื่อยๆ


ตารางที่ 2 แสดงปริมาณพลังงานที่ใช้ในการออกกำลัง ด้วยกิจกรรมต่างๆ ไว้


พลังงานที่ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับผู้ที่หนัก 70 กิโลกรัม

กิจกรรม พลังงานที่ใช้ (กิโลแคลอรี่ต่อนาที)
เดินช้า ๆ 3-6
เดินเร็ว ๆ 6-8
วิ่งช้า ๆ 10-13
วิ่งเร็ว 15-18
ปั่นจักรยานช้า ๆ 4-8
ปั่นจักรยานเร็ว 10-15
กายบริหารเบา ๆ 4
เต้นรำ 5-8
เล่นสเก็ตน้ำแข็ง 6-11
ขึ้นบันไดปกติ 6
ขึ้นบันไดเร็ว ๆ 8-10
ทำความสะอาดบ้าน 4
ว่ายน้ำธรรมดา 6
กวาดสนามหญ้า 5
ตัดหญ้า 5

ถือหลักง่ายๆ ว่า ยิ่งออกแรงมากก็ยิ่งใช้พลังงานมาก ถ้าทำกิจกรรมหลายๆ อย่างผสมกันจะช่วยให้ใช้พลังงานออกไปมากขึ้น

ยาลดน้ำหนัก

เมื่อใช้ร่วมกับการควบคุมอาหาร จะช่วยลดน้ำหนักได้ เมื่อใช้ยาแล้วอาจจะทำให้ไม่หิว หรือรู้สึกอิ่มเมื่อรับประทานอาหารเพียงเล็กน้อย ผู้ที่อ้วนมากๆ จึงควรใช้ยาลดน้ำหนักครับ อ้วนน้อยๆ ไม่จำเป็น ใช้แค่คุมอาหาร และออกกำลังกายก็พอ

ยาลดน้ำหนัก เมื่อหยุดใช้อาจกลับมาอ้วนอย่างเดิมอีก จึงต้องเปลี่ยนการรับประทานอาหาร และการออกกำลังด้วยเสมอ ต้องพยายามด้านนี้ให้มากครับ ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำตลอดไปเลย

ผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ของยา ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงครับ ยาบางชนิดอาจทำให้กระวนกระวาย หงุดหงิด ปวดศีรษะ ปากคอแห้ง คลื่นไส้ และท้องผูก บางชนิดก็ทำให้อารมณ์ซึมเศร้า ง่วงนอน ปวดท้อง ท้องเดิน นอนไม่หลับ หรือฝันมาก บางทียาพวกนี้อาจเพิ่มความดันโลหิตให้สูง หรือหัวใจ เต้นผิดปกติได้ครับ ที่ร้ายแรงคือ เกิดแรงดันเลือดในปอดสูง การใช้ยาเหล่านี้จึงต้องอยู่ในความดูและของแพทย์อย่างใกล้ชิดครับ อย่าซื้อมากินเอง แล้วกินไปเรื่อยๆ เพราะอยากผอมจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

แพทย์จะคอยติดตามอาการ และเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยา วัดดูความดันโลหิต ดูการเต้นของหัวใจ และเฝ้าดูปัญหาทางหัวใจ ที่อาจแฝงเร้นอยู่โดยไม่ทราบมาก่อน ถ้าเกิดผลข้างเคียงหรือสงสัย ต้องหยุดยาทันทีครับ










ขอขอบคุณที่มา : คลินิก health&Diet
                          ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต





 













 












หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล