รอยเตอร์ - ศัลยแพทย์เผยถึงความเป็นไปได้ในการผ่าตัดเปลี่ยนหน้า ซึ่งอาจทำได้ง่ายกว่าการต่อนิ้วด้วยซ้ำ แต่ยังต้องมีการศึกษาวิจัยถึงความเสี่ยงและผลข้างเคียงอื่นๆ ก่อนการผ่าตัดจริง รายงานของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ อังกฤษ ระบุว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดอย่าง ประณีตซับซ้อน (microsurgery) ที่สามารถใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนใบหน้าเรียบร้อยแล้ว แต่แทบจะไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบทางจิตวิทยาที่อาจเกิดกับคนไข้และครอบครัวผู้บริจาคใบหน้า ตลอดจนประเด็นด้านจริยธรรม รวมทั้งผลข้างเคียงในระยะยาว จากการที่ผู้ป่วยต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันการที่ร่างกายไม่ยอมรับใบหน้าใหม่ ซึ่งอาจก่อความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งบางชนิดได้
ศาสตราจารย์ เซอร์ปีเตอร์ มอร์ริส ประธานสถาบันดังกล่าวยืนยันว่า แม้ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในเรื่องนี้จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยจำนวนมากที่เสียโฉมจากอุบัติเหตุหรือโรคร้ายต่างๆ แต่ขณะนี้แพทย์ยังไม่พร้อมจะทำการผ่าตัดเปลี่ยนใบหน้าแก่คนไข้ เนื่องจากยังไม่สามารถคิดค้นมาตรการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
รายงานฉบับนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากองค์กรการกุศล Changing Faces ซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้เสียโฉมจากอุบัติเหตุและโรคต่างๆ โดยนายแพทย์เจมส์ พาร์ทริดจ์ ประธานหน่วยงานได้แสดงความชื่นชมข้อเสนอแนะของทางสถาบันที่ระบุว่าไม่ควรทำการผ่าตัดเปลี่ยนใบหน้า หากยังไม่มีการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบและแสวงหามาตรการควบคุมความเสี่ยงที่ดีกว่านี้
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ไมเคิล เออร์ลีย์ แพทย์ศัลยกรรมตกแต่งจากโรงพยาบาลเมเตอร์ มิเซริคอร์เดีย ในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ให้ความเห็นว่า การผ่าตัดเปลี่ยนใบหน้าน่าจะทำได้ง่ายกว่าการต่อนิ้วมาก เนื่องจากเส้นเลือดบนใบหน้าใหญ่กว่าเส้นเลือดที่นิ้วมือ ทำให้สามารถใช้เทคนิคที่ประณีตซับซ้อนน้อยกว่าการผ่าตัดอย่างอื่น
ส่วน นายแพทย์จอห์น บาร์เกอร์ แพทย์ศัลยกรรมตกแต่งจากมหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์ ในรัฐเคนตักกี สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ทีมแพทย์ของเขาพร้อมจะทำการผ่าตัดเปลี่ยนใบหน้าเป็นครั้งแรกในโลกแล้ว แต่เผยว่า ใบหน้าของผู้ที่ได้รับการผ่าตัดแล้วไม่จำเป็นต้องเหมือนกับใบหน้าของผู้บริจาค เพราะเป็นเพียงการลอกเอาผิวหนังและเนื้อเยื่อจากใบหน้าของคนหนึ่งมาใส่ให้อีกคนหนึ่ง ขณะที่รูปหน้าเดิมของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันอยู่แล้วโดยธรรมชาติ |