น้องต้น เป็นเด็กชาย อายุ 5 ปี เรียนอยู่ชั้นอนุบาล 3 คุณแม่พามาปรึกษาด้วยเรื่องสงสัยว่าลูกจะเป็นโรคสมาธิสั้น ต้นจะซน อยู่ไม่นิ่ง ครูบ่นว่าเวลาสั่งงานอะไรไป เหมือนต้นไม่รับฟัง ให้วาดรูป ระบายสี ก็ทำได้ไม่ถึง 5 นาทีก็จะเลิก หันไปสนใจอย่างอื่น ต้นติดรายการการ์ตูนในเคเบิลทีวีมาก วันเสาร์อาทิตย์จะเปิดดูตั้งแต่เช้า ดูไปเรื่อยๆ จนถึง 3 ทุ่ม เพราะท่านผู้อ่านคงทราบนะครับว่าการ์ตูนในเคเบิลทีวีมีถึงตอนกลางคืน เวลาคุณแม่เห็นลูกดูทีวี ลูกก็ดูมีความสุขดี และแม่ก็จะได้มีเวลาไปทำงานบ้านเช่นรีดผ้าได้สะดวกขึ้น โดยหารู้ไม่ว่าทีวีจะมีผลกระทบต่อลูกอย่างไรบ้าง
ทีวีแทนพ่อแม่ไม่ได้
เมื่อ 100 กว่าปีก่อน มนุษย์ยังไม่รู้จักโทรทัศน์ ทางเดียวที่ใช้ติดต่อ สื่อสารกัน ก็คือการพูด ลูกของมนุษย์เรียนรู้การพูดผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ แต่ปัจจุบันเด็กเล็กๆ หลายคนเติบโตมาพร้อมกับจอสี่เหลื่ยมที่เหมือนมีคน อยู่ข้างใน พูดคุยได้ หัวเราะได้ ร้องไห้ได้ ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยก้าวหน้าทำให้มี สื่อหลายรูปแบบมากขึ้น จากรายการโทรทัศน์ธรรมดา ก็มีรายการจากเคเบิลทีวี ซึ่งมีให้ดู ตลอด 24 ชั่วโมง และจากวิดีโอเทปก็พัฒนาเป็นวิดีโอซีดี เปิดปิดได้ง่ายเพียงปลายนิ้วกด เพราะฉะนั้นเด็ก 2-3 ขวบ บางคนอาจกดวิดีโอซีดีดูเองได้ตามต้องการ นอกจากนี้ถ้าใครมีลูกหลานจะเห็นว่าเด็กหลายคนดูการ์ตูนหรือภาพยนตร์ที่ชอบจากวิดีโอซีดี ซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็น 10 ครั้ง โดยไม่เบื่อหน่าย ดูจนจำตอนได้หมดก็ยังดู
การดูทีวีมากๆ มีผลกระทบต่อเด็กอย่างไร
ผลกระทบของการที่เด็กใช้เวลาดูโทรทัศน์หรือวิดีโอซีดีมากเกินไป คือ
(1) ทำให้เด็กไม่ค่อยสื่อสาร หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทีวีนั้นต่างกับคนตรงที่การดูทีวีนั้น เป็นการสื่อสารทางเดียว (One way communication) เด็กที่ดูทีวีตลอดวันจึงเรียนรู้แต่การรับ อย่างเดียว ไม่เรียนรู้การส่ง หรือการสื่อสารออกไป นอกจากนี้เด็กไม่มีเวลาไป ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มี ประโยชน์ เช่น อ่านหนังสือ ทำการบ้าน เล่นกีฬา ออกกำลังกาย และไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวเช่นพ่อแม่ พี่น้อง พ่อแม่จะชวนคุย ก็อาจไม่สนใจ เพราะกำลังสนใจดูทีวีอยู่
(2) มีบิดเบือนการรับรู้ของเด็ก ท่านผู้อ่านคงเคยดูการ์ตูน หรือโฆษณาของรายการเด็กนะครับ จะเห็นว่าอัตราของภาพ และเสียงที่เข้ามาจะรวดเร็วมาก พอถึงช่วงเวลาที่เด็กไม่ได้ดูทีวี คือสภาพในชีวิตจริง ภาพและเสียงไม่ได้เร็วแบบนั้น ทางเดียวที่จะทำให้สมองได้รับข้อมูลภาพและเสียงที่เร็วๆ เหมือนทีวี ก็คือการที่ต้องซน อยู่ไม่นิ่งเข้าไว้ ทำโน่นนิดแล้วมาทำนี่หน่อย หรือเปลื่ยนสิ่งที่สนใจบ่อยๆ และสนใจทำไม่นาน นี่อาจเป็นที่มาของการที่เด็กดูทีวีมากๆ อาจจะซน อยู่ไม่นิ่ง ครับ
(3) ผลกระทบต่อการเรียน พบได้บ่อยคือ ผลการเรียนที่อาจจะแย่ลง เนื่องจากเด็กให้ความสนใจทั้งหมดไปกับการดูทีวี เด็กบางคนเคยเรียนดี ก็เรียนตกลง บางคนถึงกับต้องสอบซ่อมก็มีครับ
(4) ทีวีอาจทำให้เด็กไม่สามารถแยกแยะระหว่างจินตนาการและความเป็นจริงได้ โดยเฉพาะ การ์ตูนที่มีเรื่องจินตนาการมากๆ
(5) ปัญหาโรคอ้วน พบว่าเด็กที่ดูทีวี เล่นคอมพิวเตอร์ มากๆ มักจะอ้วนขึ้นเพราะระหว่างที่มักกินของว่างเช่นขนม น้ำอัดลมไปด้วย ร่วมกับการที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
(6) อาจมีผลต่อความก้าวร้าวรุนแรง หลังจากดูการ์ตูนหรือภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องของความก้าวร้าว รุนแรง เช่น พระเอกต่อสู้กับสัตว์ประหลาด หรือเรื่องที่เกี่ยวกับการชกมวย มวยปล้ำ หลังดูสักพัก เด็กจะเริ่มมาเล่นต่อสู้กันแบบรุนแรงตามฉากในหนัง บางคนจะหงุดหงิดง่าย และเวลาโกรธก็มักจะแสดงสีหน้า ท่าทางเหมือนในหนังที่ดู เช่นยืนกำหมัด ทำท่าฮึดฮัด
กฏ และคำเตือนที่เราไม่ค่อยรู้
เมื่อโทรทัศน์มีผลกระทบต่อพัฒนาการด้านภาษาและสังคมมาก ดังได้พูดคุยกันไปแล้ว สมาคม กุมารแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงออกกฏ และคำเตือนให้ยึดถือ และปฏิบัติในเรื่องการให้เด็กดูโทรทัศน์ดังนี้ คือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรให้ดูโทรทัศน์เลย (ย้ำนะครับว่าไม่ควรให้ดูโทรทัศน์เลย) และเด็กที่อายุเกิน 2 ปีก็ควรดูไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน มีแต่เลข 2 จำ ง่ายดีครับ ผมคิดว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่ดีมาก แต่ในประเทศไทยมีคนพูดถึง หรือให้ความสำคัญน้อยมาก ฝากคุณพ่อคุณแม่ช่วยบอก และเตือนกันต่อๆ ไปด้วยครับ
มาเล่นกับลูกกันเถอะ
ในกรณีของต้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้รับแนะนำจากแพทย์แล้วก็ได้ลดการดูทีวีของต้นลง และเล่นกับลูกแบบมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น อ่านนิทานให้ฟัง นั่งต่อเลโก้ด้วยกัน เล่นอะไรก็ได้ที่มี รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ มีการพูดคุยโต้ตอบกันกับลูก (ซึ่งทีวีทำแบบนี้ไม่ได้แน่) ต้นก็เริ่มดีขึ้นมาก มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น เช่น วาดรูป ระบายสีได้ต่อเนื่องนานขึ้น เป็นเวลาเกือบครึ่งชั่วโมง (จากเดิมที่วาดรูปได้ไม่ถึง 5 นาที ก็ไม่เอาแล้ว) การเล่นจึงมีความหมายสำหรับเด็กมากครับ ดังนั้นขอเพียงมีเวลาให้ลูกและร่วมกับความรู้ความเข้าใจ เห็นความสำคัญของการกระตุ้นพัฒนาการและสมอง เล่นกับลูกน้อยแทนที่จะให้เขาจมอยู่กับทีวีทั้งวัน ช่วยเหลือลูกได้แน่นอนครับ คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจบอกว่าเล่นกับลูกไม่ค่อยเป็น เล่นไม่เก่ง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นความสำคัญของการเล่นและอาศัยความรักลูกซึ่งพ่อแม่ทุกคนมีอยู่แล้ว เราฝึกได้ครับ การเล่นกับลูกเป็นทักษะ (Skill) อย่างหนึ่ง พยายามเล่นกับลูกบ่อยๆก็จะเก่งขึ้นเองครับ การเล่นกับลูกนั้นนอกจากจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการลูกแล้วยังทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้จักและเข้าใจในตัวลูกมากขึ้น ลูกก็จะรู้จักและเข้าใจในตัวเรามากขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการเลี้ยงดูลูกต่อไป |