เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สมรรถภาพร่างกาย | สุขภาวะทางจิต | สุขภาพกับความงาม | สื่อกับสุขภาพ | สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | ธรรมะกับสุขภาพ






ภัยคุกคามเด็ก ชีวิตในกำมือผู้ใหญ่


 

             “...ยุคสมัยปัจจุบันเป็นยุคที่เรามองโลกทั้งใบ เด็กๆ ทุกคนถือว่าเป็นสมบัติของมนุษยชาติ เด็กยังเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เปรียบเสมือนผ้าขาวเอาสีอะไรไปใส่ย่อมเป็นสีนั้น จึงขอฝากเด็กๆ ไว้กับผู้ใหญ่ ฝากอนาคตของชาติไว้กับเด็กๆ เพราะเขาเป็นความหวังของประชาชน การศึกษาถึงโลกในใจของเด็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดของพวกเขา เป็นหนึ่งในแบบฝึกหัดที่สำคัญที่สุดของผู้ใหญ่...”

             นั่นคือ วรธัมโมวาทวันเด็กแห่งชาติ พุทธศักราช 2549 : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

             โจทย์ใหญ่ที่ตามมาก็คือ เด็กวันนี้เป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า แต่หากเด็กวันนี้ ยังคงถูกคุกคามจากภัยรอบๆ ตัว การเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง หยั่งรากลึกเป็นหลักให้บ้านเมืองในอนาคตก็เป็นเรื่องยากเต็มที


ต้นเหตุแห่งภัยพิบัติ

             วีรศักดิ์ โค้วสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทยและ รองคณะกรรมาธิการ ด้านเด็ก เยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ สภาผู้แทนราษฎร ให้ข้อมูลว่า ภัยที่คุกคามเด็กคงต้องแบ่งเป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ เป็นภัยที่เกิดจากกิจกรรมของผู้ใหญ่ และภัยจากการถูกทอดทิ้งไม่เหลียวแล สำหรับประเด็นการถูกทอดทิ้ง มีเด็กจำนวนมากถูกเลี้ยงอย่างปล่อยปละ ละเลย ไม่สนใจดูแล ไม่เฉพาะพ่อแม่ แต่รวมถึงผู้ใหญ่รอบตัวทั้งพี่ ป้า น้า อา ครู ทำให้เกิดอุบัติเหตุ จมน้ำเสียชีวิต กระดุมติดคอ เป็นข่าวคึกโครมหลายครั้งหลายหน

             อีกมุมหนึ่งเป็นภัยที่เกิดจากการกระทำของผู้ใหญ่และส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ เหยื่อภัยค้ามนุษย์ สิ่งเสพติดอบายมุข เกม เหล้า ยา บุหรี่ ของฟุ่มเฟือยต่างๆ ธุรกิจบางประเภทที่เจาะจงค้าขายกับเด็ก ซึ่งถือเป็นการบริโภคเกินจำเป็น รวมถึงการตั้งความหวังกับเด็ก การกดดัน ความปรารถนาดีมากเกินไป บางครั้งก็เป็นการทำร้ายเด็กโดยไม่ตั้งใจ

             ด้านเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) กล่าวถึงภัยคุกคามเด็กว่า ภัยคุกคามทางเพศเป็นภัยร้ายแรงอันดับ 1 ซึ่งโดยมากเกิดจากคนใกล้ตัวไม่ว่าจะเป็นพ่อ พี่ ป้า น้า อา ซึ่งสถิติจากองค์กรเอกชน หรือข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ พบว่า ข่มขืน กระทำชำเลา เยอะมากไม่ใช่แค่เด็กหญิงเท่านั้น แต่เด็กชายก็ตกเป็นเหยื่อการทารุณกรรมทางเพศ เช่นเดียวกัน นอกนั้นอาจเป็นความรุนแรงที่ได้รับทางกายและจิตใจ เช่น ถูกทุบตี ถูกทารุณกรรมสารพัดวิธี ถูกทอดทิ้ง ซึ่งเด็กจะเกิดอาการเจ็บป่วยทางใจเกิดภัยแฝง ทำให้เด็กเปิดรับภัยจากภายนอกได้ง่ายขึ้น ยิ่งในช่วงวัยรุ่นเด็กก็จะต้องเผชิญปัญหาที่รุนแรงและมีความสับซ้อนมากขึ้นไปด้วย

             ภัยคุกคามเด็ก อันดับ 2 เป็นด้านกายภาพ มากับอุบัติเหตุไม่ว่าจะในโรงเรียน ที่บ้าน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมถึงค่านิยมที่ผิดเพี้ยนอันเนื่องมาจากสื่อซึ่งแฝงค่านิยม พฤติกรรม จริยธรรมที่เสื่อมถอย ไม่เฉพาะสื่อลามกเท่านั้น โทรทัศน์แต่ละช่องก็ เว็บไซต์ การ์ตูนลามก ใกล้ตัวเด็กมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ “ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี” หากมีการเอาจริงเอาจังสถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้น

             “สมัยนี้เด็กประถมก็ต้องเรียนคอมพิวเตอร์แล้ว บางครั้งเด็กเข้าไปหาข้อมูลความรู้ บันเทิง ด้วยการพิมพ์ขอความธรรมๆ แต่กลับพบเว็บไซต์ลามก ทำให้เด็กเกิดความสงสัยใคร่รู้และในที่สุดก็เข้าไปดู จนตอนนี้พ่อแม่ตามไม่ทันเด็กแล้ว”

ทางออกและความหวัง...

             มาถึงการแก้ไขปัญหากันบ้าง วีรศักดิ์ บอกว่า ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ ทุกคนควรจะสำนึกว่ามีภาระหน้าที่ในการดูแลคุ้มครองและพัฒนาศักยภาพของเด็ก ส่วนชุมชนก็ควรเปิดพื้นที่สำหรับเด็กได้แสดงออก แสดงความคิดเห็น มิใช่เพียงสนามเด็กเล่นที่มีแต่อันตรายร้อยแปดเท่านั้น และที่สำคัญคือนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับเด็กโดยที่ขณะนี้ต้องยอมรับว่า ในคณะรัฐบาลเรายังไม่มีหัวหอกในการแก้ไขปัญหาด้านเด็กที่แท้จริง

             อีกต้นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทุกวันนี้พูดถึงกันมากคือ “สื่อ” ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่สำคัญที่สุดคือการควบคุมสื่อ โดยเฉพาะมาตรการการจัดเรทติ้งสื่อทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ ภาพยนตร์ เกม การ์ตูนหรือแม้แต่โฆษณา พร้อมผลักดันกฎหมายควบคุมสื่อเข้าสภาในสมัยประชุมที่จะถึงนี้

             วีรศักดิ์ บอกอีกว่า วิธีหนึ่งที่จะแก้ปัญหาเด็กได้ชะงักนัก คือ การจัดการบริหารครอบครัว โดยให้ความสำคัญกับเศรษฐศาสตร์ภาคการบริบาลให้ผู้ชายหันมาให้ความสำคัญกับครอบครัว ช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ผู้หญิง ลดการหารายได้อีกเพียงน้อยนิดแต่ให้เวลากับครอบครัวมากขึ้นซึ่งจะนำความสุขมาให้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรัส เกิดการแบ่งปันเห็นอกเห็นใจเข้าใจกัน

             ส่วนเข็มพร ทิ้งท้ายไว้ว่า ภัยที่คุกคามเด็กทุกวันนี้ เป็นเรื่องน่ากลัว ดังนั้น รัฐบาลจะมีความจริงจังตามนโยบายที่ประกาศไว้ อีกทั้งการแก้ปัญหาต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาตามกระแสเมื่อมีข่าวเด็กถูกทำร้ายหรือเฉพาะช่วงเทศกาลอย่างวันเด็ก วันเยาวชนเท่านั้น

         “ทุกวันนี้เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเด็กเยาวชนเท่าที่ควร ซึ่งคงต้องเร่งหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม โดยการวางแผนระยะยาวและลงทุนเพื่ออนาคตของชาติ ไม่ใช่คอยตามแก้ปัญหาซึ่งไม่มีวันจบสิ้น”

...ถึงตรงนี้ ก็คงต้องตั้งคำถามถึงทุกคนว่า แล้ววันเด็กปีนี้ คุณทำอะไรเพื่อเด็กบ้างแล้วหรือยัง?










ขอขอบคุณที่มา : http://www.manager.co.th
                          ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต





 













 












หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล