ปัจจุบันนี้ ปัญหาสารพิษตกค้างในพืชผักและผลไม้มีจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นผลให้ได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ในภายหลัง
การล้างพิษสามารถทำได้โดยการกินอาหารที่มีแอนติออกซิแดนต์ หรือสารต้านอนุมูลอิสระให้มาก เช่น ผัก ผลไม้ ผักใบเขียวๆ มะละกอ แครอต ตำลึง ฯลฯ สมัยก่อนชาวบ้านมักจะเชื่อว่า รางจืด, ว่านจืด, ข่าจืด ช่วยล้างพิษได้ แต่ที่นิยมมากที่สุดขณะนี้คือ รางจืด สรรพคุณรางจืดตามตำรายาไทยกล่าวไว้ว่า "รางจืดรสเย็น ใช้ปรุงเป็นยาเขียวถอนพิษไข้ ถอนพิษผิดสำแดงและพิษอื่นๆ ใช้แก้ร้อนใน กระหายน้ำ รักษาโรคหอบหืดเรื้อรัง และแก้ผื่นคันจากอาการแพ้ต่างๆ ใช้แก้พิษเบื่อเมาเนื่องจากเห็ดพิษ สารหนู หรือแม้ยาเบื่อประเภทยาสั่ง
สำหรับคนที่เป็นนักดื่มสุราย่อมรู้ดีว่ารางจืดช่วยถอนพิษสุราได้ สิ่งที่ยอมรับคือ หากดื่มสุราจัดเกินขนาดแล้วเกิดอาการเมาค้าง รางจืดช่วยถอนอาการเมาค้างได้แน่ นอกจากนี้ผู้นิยมสมุนไพรยังแจ้งผลการใช้มาว่าแก้พิษได้อีกหลายอย่าง เช่น สุนัขโดนวางยาเบื่อก็รอดชีวิตมาได้ โดยเจ้าของคั้นน้ำรางจืดให้กิน หรือในอดีตใครที่ถูกวางยาก็มักแก้ด้วยรางจืดเช่นกัน
รางจืด เป็นสมุนไพรไทยที่ได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่า มีสรรพคุณแก้ท้องร่วง อาการแพ้ ผื่นคัน แก้พิษยาฆ่าแมลงในสัตว์ แก้พิษจากสารในยากำจัดศัตรูพืช แก้พิษเคมี พิษเบื่อเมา พิษแอลกอฮอล์ พิษสุราเรื้อรัง พิษสะสมในร่างกาย ไข้ร้อนใน ฯลฯ ปัจจุบันมีผู้นำรางจืดมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใบชา หรือถุงชาในแพ็กเกจสวยหรูดูดี และยังทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรสำเร็จรูป ซึ่งเป็นของกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ราคาย่อมเยา สามารถชงดื่มได้ทันที ใบรางจืดอบแห้งมีกลิ่นใบไม้แห้งหอมอ่อนๆ เป็นธรรมชาติ ให้น้ำชาสีน้ำตาลออกเขียว มีสรรพคุณกำจัดพิษ แก้เมาค้าง บรรเทาอาการผื่นแพ้ และลดความร้อนในร่างกาย เหมาะกับเมืองไทยในขณะนี้ที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ
ชารางจืดไม่มีพิษ ดื่มเป็นประจำได้ทุกวัน ใบสดนำมาคั้นกับน้ำเพื่อให้ผู้ป่วยที่กินยาฆ่าแมลงดื่ม เป็นการปฐมพยาบาลก่อนนำส่งโรงพยาบาลได้ แต่จะไม่ให้ผลในการกินเพื่อป้องกันก่อนสัมผัสยาฆ่าแมลง ในทางกลับกันสมุนไพรรางจืดนี้ซึ่งหาได้ง่ายในแถบชนบทอยู่แล้ว สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช สามารถนำใบรางจืดมาต้มทำเป็นชารางจืด ดื่มแทนน้ำธรรมดาเพื่อให้ทำลายและขับพิษสารเคมีไม่ให้ตกค้างในร่างกาย โดยพิษของยากำจัดศัตรูพืชจะทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
สำหรับความเชื่อในวงเหล้า ที่นำรางจืดมาเคี้ยวเพื่อดับฤทธิ์เอทิลแอลกอฮอล์ เพื่อทำให้ดื่มได้นานไม่เมานั้น ยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยมาก่อนและไม่แนะนำให้ปฏิบัติด้วย เพราะสุดท้ายเมื่อเหล้าเข้าสู่ร่างกาย ก็จะไปทำลายอวัยวะที่เป็นทางผ่านทั้งหมดและทำลายที่ตับ ทำให้ตับทำงานหนักที่สุด ตับจึงได้รับพิษจากเหล้ามากที่สุด เซลล์ตับที่ถูกทำลายจะมีไขมันไปเกาะแทนที่ ทำให้เกิดตับอักเสบเนื่องจากการคั่งของไขมัน ทำให้เซลล์ตับถูกทำลายมากขึ้นไปอีก และเมื่อเซลล์ตับตายลงถึงระดับหนึ่ง ก็จะมีพังผืดไปขึ้นที่บริเวณนั้นลักษณะคล้ายแผลเป็น ส่งผลให้เนื้อตับที่เคยอ่อนนุ่มกลับแข็งตัวขึ้น เกิดอาการตับแข็งได้ในที่สุด โอกาสเสียชีวิตมีเร็วขึ้น
รางจืด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thunbergia lauriflolia Linn. โดยมีชื่ออื่นว่า ยาเขียว, เครือเขาเขียว, กำลังช้างเผือก, หนามแน่, ย้ำแย้, น้ำนอง, คาย, ดุเหว่า, รางเย็น, ทิดพุด, แอดแอ, ขอบชะนาง จัดอยู่ในวงศ์ THUNBERGIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
รางจืดเป็นพืชที่ชอบอยู่ตามลุ่มน้ำ ลำห้วย ลำธาร ขึ้นในป่าชื้นจะงามมาก ใบมีขนาดใหญ่ ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีน้ำให้ความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์จะออกเถาไม่รู้จบสิ้น ต้นเดียวจะออกเถาคลุมเนื้อที่เป็นงานๆ ชอบดินร่วนปนทราย ลักษณะเป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นหรือเถามีเนื้อแข็ง ลักษณะของเถานั้นจะกลมเป็นข้อปล้อง มีสีเขียวสดหรือสีเขียวเข้ม เลื้อยพาดไปตามกำแพงรั้วแล้วจะทิ้งตัวห้อยเป็นระย้าลงสู่เบื้องล่าง
มักพบอยู่ตามชายป่าดิบทั่วๆ ไปทางภาคกลางและภาคเหนือ ชอบอาศัยพันเกาะเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ มีเถาที่แข็งแรงมาก ใบเป็นไม้ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ และขนาดของใบนั้นจะไล่กันขึ้นไปตั้งแต่ขนาดใหญ่ คือตรงโคนก้านไปหาขนาดเล็กคือ ปลายก้าน ใบเป็นสีเขียวผิวเกลี้ยง ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ตรงโคนใบจะเว้า ปลายใบจะเป็นติ่งแหลม ใบจะมีความกว้างยาวประมาณ 2 นิ้ว และยาวประมาณ 4-5 นิ้ว
ดอกออกเป็นช่ออยู่ตามง่ามใบ ช่อหนึ่งจะมีดอกอยู่ 3-4 ดอกห้อยระย้าลงมา ลักษณะของดอกเป็นกรวยต้นๆ หลอดกรวยยาวประมาณ 1 ซ.ม. ตรงปลายดอกก็จะแยกเป็นแฉกอยู่ 5 แฉก หรือ 5 กลีบ ดอกจะเป็นสีม่วงอ่อนๆ หรือสีคราม ดอกที่ยังอ่อนยังไม่บานนั้นจะมีกาบห่อหุ้มอยู่ ดอกบานเต็มที่ประมาณ 3 นิ้ว ภายในหลอดดอกนั้นเป็นสีขาว มีเกสรตัวผู้อยู่ประมาณ 4 อัน
จะผลิดอกในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม สำหรับผลนั้น พอดอกนั้นร่วงโรยไปก็จะติดเป็นผล ซึ่งมีลักษณะเป็นฝักตรงปลายฝักจะแหลมคล้ายกับปากนก ส่วนโคนใบนั้นกลมยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว เมื่อผลแก่ก็จะแตกออกเป็น 2 ซีก
ส่วนที่ใช้เป็นยานั้นคือ ทั้งต้น รากและเถา ใช้เป็นยา สรรพคุณเด่น จะมีรสเย็น ใช้ถอนพิษยาเบื่อเมาหรือใช้ปรุงเป็นยาเขียว ถอนพิษไข้และพิษทั้งปวง แก้ร้อนในกระหายน้ำ
วิธีใช้ในครัวเรือน
นำรากหรือใบรางจืดมาโขลกให้แหลก ผสมนำซาวข้าวคั้นเอาแต่น้ำใช้ดื่ม หรือเอาใบรางจืดมาผึ่งลมให้แห้ง แล้วเก็บใบชงกับน้ำร้อนดื่มต่างน้ำก็ได้
วิธีการปลูกและการดูแลรักษา
ปลูกโดยเพาะเมล็ดหรือใช้เถาปักชำ เมล็ดรางจืดจะแก่ในราวเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เก็บเมล็ดก่อนฝักจะแตก นำมาใส่กระด้งหรือผ้าพลาสติกเขียวเพื่อป้องกันเมล็ดกระเด็น นำเมล็ดไปเพาะแล้วย้ายปลูก การเพาะเมล็ดไม่นิยมเท่าการใช้เถา เนื่องจากใช้เวลานานกว่าและเมล็ดมีจำนวนน้อย สำหรับการชำเถา ให้เลือกเถาแก่นำมาตัดเป็นท่อนๆ ยาวประมาณคืบเศษ (6-8 นิ้ว) ให้มีตาติดอยู่ 2-3 ตา
ช่วงตาหรือข้อของเถาอาจยาวไม่เท่ากัน อย่างน้อยให้มีตา 2 ตา ในฤดูฝนสามารถนำไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ได้เลย ไม่ต้องชำ แต่ถ้าเป็นฤดูอื่นควรนำไปชำในกระบะเพาะหรือถุง ปักเถาให้เอียงเล็กน้อย ถ้าชำในฤดูฝนจะออกรากเร็วใช้เวลาราว 2 อาทิตย์ ในฤดูแล้งจะช้ากว่า เมื่อเถาชำอายุได้ 45 วัน ก็นำไปปลูกในหลุมที่รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ห่างจากค้างประมาณ 50 ซ.ม.
รางจืดนั้นไม่เหมาะจะปลูกร่วมกับไม้ผล แต่ปลูกให้ขึ้นร่วมกับไม้ใหญ่อื่นๆ ได้ ถ้าจะให้สะดวกต่อการเก็บเกี่ยวควรทำค้างให้ขึ้นสูงประมาณ 1.20 เมตร ค้างควรมีขนาดใหญ่และแข็งแรง เพราะรางจืดมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว การปักเสามีสายสลิงหรือทำรั้วไม้ปักขัดกันไปมาจะช่วยให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย
การเก็บเกี่ยว
ควรเก็บใบกลางแก่กลางอ่อน จับดูใบไม่นิ่มไม่แข็งเกินไป ถ้ามีซุ้มหรือค้างให้รางจืดเลื้อยพัน จะเก็บเอาเฉพาะใบมาใช้ไม่ต้องตัดทั้งเถา แต่ถ้ารางจืดขึ้นพันไม้อื่นให้ตัดจากโคนเถามาลิดใบ |