เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สมรรถภาพร่างกาย | สุขภาวะทางจิต | สุขภาพกับความงาม | สื่อกับสุขภาพ | สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | ธรรมะกับสุขภาพ






พิษจากเห็ด




 



เห็ดในธรรมชาติมีมากมายนับพันชนิด มีเพียงไม่กี่ชนิด ที่มีการเพาะขายเชิงพาณิชย์ เราสามารถพบเห็นเห็ดได้ทั่วไป เช่น สนามหญ้า ตามขอบไม้ หรือกิ่งไม้ที่ตายแล้ว ตามใต้ต้นไม้ หรือเปลือกต้นไม้ ในสวนในวนอุทยาน และในป่า

การเป็นพิษจากเห็ดเกิดจากการรับประทานเห็ดเข้าไป ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ที่ตั้งใจก็คือ เอามาปรุงอาหาร จะต้ม จะแกง หรือกินสดแล้วแต่อัชฌาศัย แบบนี้มักได้รับพิษกัน หลายคนพร้อม ๆ กัน อาจเหมาทั้งคณะ หรือทั้งครอบครัวเลยถ้าทุกคนกิน

อีกแบบคือไม่ตั้งใจครับ มักเกิดกับเด็ก ๆ เห็นเห็ดน่ากินก็หยิบใส่ปากเคี้ยวเล่นไป โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พ่อแม่มารู้เอาตอนเห็นเห็ดอยู่ในปากเด็กแล้ว แบบนี้มักเกิดในบ้านที่มีบริเวณกว้าง หรือมีสนามหญ้า มีสวนที่มีเห็ดขึ้น หรือพาเด็กไปเที่ยวตามสวนป่าครับ

พ่อแม่ก็ต้องตกใจแน่ล่ะเพราะไม่รู้ว่ากินเข้าไปแค่ไหน หรือกิน หรือยัง หรือแค่ใส่ปากเฉย ๆ เรามารู้จักพิษของเห็ดกันก่อนนะครับ

ในบรรดาเห็ดเป็นพันชนิดที่มีในโลกนี้ คาดว่ามีร่วม 100 ชนิด ได้ที่เข้าข่ายเห็ดมีพิษ และมีราว 10 ชนิดครับที่พิษรุนแรงถึงชีวิตทีเดียว อาจแบ่งพิษจากเห็ด เป็นกลุ่ม ตามลักษณะพิษของมัน ดังนี้



กลุ่มที่ 1

พิษของเห็ดที่ชื่อว่า "อะแมนิติน่า" และ "ฟัลลอยดิน" จะเกิดอาการ หลังจากรับประทาน เข้าไปแล้ว 6 ถึง 36 ชั่วโมงครับ

อาการสำคัญ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด จะเป็นอยู่ราว 12-48 ชั่วโมง กรณีรุนแรงอาจเกิดภาวะตับวาย ไตวาย เลือดออก อาการทางระบบประสาท และอาจเสียชีวิตได้ใน 4-7 วัน สารพิษชนิดนี้ มีความรุนแรงมาก และยังคงทนความร้อนด้วย คือว่า แม้เอาไปต้ม ไปแกง ก็ยังมีพิษอยู่

ปริมาณสารพิษในเห็ดแต่ละดอกจะไม่แน่นอน ขึ้นกับฤดูกาลและท้องที่ด้วย ถ้าพิษมีมากรับประทานคำเดียวก็อาจตายได้ครับ

ในกลุ่มนี้ยังมีพิษอีกชนิดหนึ่งชื่อว่า "ออเรลลานิน" ซึ่งทนความร้อนเช่นกัน รับประทานเข้าไป 2 ถึง 14 วันจึงเกิดอาการ

อาการเป็นเช่นเดียวกับที่กล่าวมา และตามมาด้วยกระหายน้ำ, ปัสสาวะมาก, ต่อมาไตจะวาย และปัสสาวะน้อยลง



กลุ่มที่ 2

เป็นพิษของเห็ดเกิดสารพิษชื่อ "มัสซิโมล" และ "กรดอิโบเทนิค" เกิดอาการภายใน 30-60 นาที หลังรับประทาน

มีอาการทางจิตประสาทได้หลายแบบ ตั้งแต่ กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข ไปจนถึง เซื่องซึม มึนเมา และประสาทหลอน อาจพูดไม่ชัด เดินเซ เป็นตะคริว กรณีพิษมากจะเกิดอาการ อาเจียน ท้องร่วง และชัก



กลุ่มที่ 3

มีพิษต่อทางเดินอาหาร, เม็ดเลือดแดง, ตับ และประสาท สารพิษชื่อ "ไจโรมัยทริน" เกิดอาการภายใน 6 ถึง 12 ชั่วโมง หลังรับประทาน ถ้านำเห็ดไปต้มจนเดือดสัก 10 นาที พิษจะสลายตัวไปได้ 99% เห็ดดอกเดียวก็อาจเพียงพอที่จะเกิดพิษได้ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว อาเจียน และถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ

อาการตามมาด้วย อ่อนเพลีย ผิวออกเขียวคล้ำ ดีซ่าน ประสาทสับสน ชัก โคม่า และถึงแก่ชีวิต ภายใน 5-7 วัน



กลุ่มที่ 4

สารพิษจากเห็ดชนิดนี้ชื่อว่า มัสคาริน เกิดพิษภายใน 1 ชั่วโมง หลังรับประทาน มีส่วนน้อยที่พิษเกิดช้าใช้เวลาถึง 1 วัน

อาการประกอบด้วย ม่านตาหดเล็กลง น้ำลายไหล น้ำตาไหล เหงื่อออก ผิวหนังแดงและอุ่น อาจมีอาการคลื่นไส้ หัวใจเต้นช้า และหลอดลมหดตัว อาการจะลดลง และหายไป ภายใน 6-24 ชั่วโมง มักไม่รุนแรงถึงขนาดเสียชีวิต



กลุ่มที่ 5

สารพิษชื่อ "ค็อปปริน" พบในเห็ดที่อยู่ตามสนามหญ้า เอกลักษณ์ของพิษนี้คือ ทำให้เกิดอาการเมื่อดื่มสุราไปพร้อมกันกับการรับประทานเห็ด จะเกิดอาการ ภายในไม่กี่นาทีครับ

มีอาการผิวหนังแดง และอุ่น, เหงื่อแตก, คลื่นไส้, อาเจียน, ใจสั่น และเจ็บหน้าอก อาการจะดีขึ้นภายใน 2-4 ชั่วโมง บางคนอาจดื่มสุราไม่ได้นานถึง 48 ชั่วโมง หลังรับประทานเห็ดที่มีพิษนี้เข้าไป



กลุ่มที่ 6

สารพิษชื่อ "ซิโลไซนิน" และ "ซิโลซิน" เป็นสารที่ทำให้เกิดอาการทางจิตประสาท รุนแรงกว่าพิษของกลุ่มที่ 2

เกิดอาการภายใน 20-60 นาที หลังรับประทาน เห็ดแค่ดอกเดียว ก็อาจทำให้เกิด อาการภาพหลอน และหัวเราะโดยไม่มีเรื่องขำ อาจมีคลื่นไส้ ม่านตาขยาย และหัวใจเต้นเร็ว อาจมีพิษต่อตับ และในเด็กอาจทำให้ไข้สูงและชัก



กลุ่มที่ 7

เป็นพิษหลายชนิดที่ยังไม่ทราบรายละเอียด และเป็นสารที่ระคายเคืองต่อ ระบบทางเดินอาหาร

อาการเกิดภายใน 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง เห็ดหลายชนิดทั้งกินดิบและสุก ทำให้เกิด อาการนี้ได้ คือ คลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ อาการพิษจากกลุ่มนี้จะค่อย ๆ หายไปภายใน 24 ชั่วโมง

เห็ดบางชนิดถ้าเก็บมาผิดฤดูกาล หรือในสภาพแวดล้อมผิดปกติ เช่น แห้งแล้ง ก็อาจทำให้เกิดอาการเป็นพิษได้ เพราะมีสารพิษเข้มข้นขึ้น

นอกจากพิษทั้ง 7 กลุ่มที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเห็ดอีกหลายชนิดที่มีพิษพิเศษออกไป แตกต่างจาก 7 กลุ่มนี้ เห็ดบางชนิดทำให้เกิดไตวาย โดยพิษที่แตกต่างจากพิษในกลุ่มที่ 1

เห็ดชนิดหนึ่งที่ใช้ประกอบยาจีน มีฤทธิ์ต่อการทำงานของเกร็ดเลือด เห็ดอีกชนิดทำให้เกิดโลหิตจางจากเม็ดเลือดแตกตัว



การรักษา

คงต้องแบ่งเป็น 2 กรณีครับ

กรณีแรก เมื่อยังไม่มีอาการของการเป็นพิษแสดงออกมาให้เห็น ถ้าเป็นเด็กที่ยังไม่รู้ภาษา พบว่าเด็กกำเห็ดอยู่ หรือมีเห็ดในปาก ให้ถือไว้ก่อนว่าเด็กกินเข้าไปแล้ว รีบพาเด็กไปหาหมอครับ

หมอจะให้ยาทำให้เด็กอาเจียนออกมา แล้วให้ดื่มน้ำผสมผงถ่าน ตามเข้าไปดูดซับพิษ จากนั้นก็ต้องเฝ้าดูอาการกันล่ะ ( เช่น อาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด) ดูไปอย่างน้อย 24 ชั่วโมงครับ ผู้ใหญ่ก็ทำอย่างเดียวกัน เว้นเสียแต่ว่า สามารถตรวจเห็ด ที่กินเข้าไปแล้ว (มีเหลืออยู่หรือนำตัวอย่างมาให้แพทย์) พบว่าไม่ใช่เห็ดมีพิษ ก็ไม่ต้องทำอะไร

กรณีที่สอง เกิดอาการของพิษจากเห็ดแล้ว แบบนี้ต้องเข้าโรงพยาบาลแน่ แพทย์จะให้ยาทำให้อาเจียน ในกรณีที่

1. ผู้ป่วยยังไม่อาเจียน
2. ผู้ป่วยยังสติดี และการหายใจปกติ
3. ไม่สามารถบอกได้ว่าใช่เห็ดมีพิษหรือไม่ใช่
4. ไม่มีอาการประสาทหลอน หรือไม่มีอาการตัวแดง เหงื่อแตก อาเจียน ใจสั่น หรือเจ็บหน้าอก

ถ้ายังไม่มีอาการอยู่ และยังไม่รู้ว่าใช่เห็ดมีพิษหรือไม่ แพทย์จะให้ผงถ่าน เข้าไปดูดซับพิษที่อยู่ในลำไส้ ถ้าจำเป็นอาจต้องให้ผงถ่านทางสายยาง ที่สอดผ่านรูจมูก อาจให้น้ำเกลือด้วยถ้า พบว่ามีภาวะร่างกายขาดน้ำ

พิษกลุ่มที่ 1  ยังไม่มียาต้านพิษที่เฉพาะเจาะจง สำหรับเห็ดกลุ่มนี้ครับ แพทย์ต้องรักษาตามอาการ ประคับประคองไป ไตวายก็ต้องฟอกเลือดล้างไต ตับวายอาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนตับ ถ้าทำได้

พิษกลุ่มที่ 2  อาการพิษจะค่อย ๆ หมดไปเองได้ เพียงแต่คอยดูแล ให้อยู่ในที่สงบเงียบ อาจให้น้ำเกลือช่วย ถ้ากระวนกระวายมากหรือชักก็ให้ยากล่อมประสาท หรือยาระงับการชัก

พิษกลุ่มที่ 3  ถ้าไตวายต้องฟอกเลือด ล้างไต รักษาภาวะทางตับ อาจให้วิตามินบี 6 และกรดโฟลิก เพื่อบรรเทาอาการทางระบบประสาทและระบบทางเดินอาหาร

พิษกลุ่มที่ 4  ถ้าอาการรุนแรงอาจให้ยาอะโทรปีน เข้าเส้นเลือดดำ

พิษกลุ่มที่ 5  พิษจะค่อย ๆ หมดฤทธิ์ไปเอง ห้ามให้ยาทำให้อาเจียนเพราะ ในยานี้มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ จะทำให้เกิดอาการมากขึ้นอาจให้ยาแก้ใจสั่นหรือเกลือ ถ้าความดันโลหิตต่ำ

พิษกลุ่มที่ 6  ในผู้ใหญ่ให้รักษาแบบเดียวกับการรักษาพิษกลุ่มที่ 2 ครับ ในเด็กที่อาจมีไข้สูง ต้องช่วยลดไข้โดยเช็ดตัว หรือใช้น้ำเย็นช่วย ห้ามใช้แอสไพรินลดไข้

พิษกลุ่มที่ 7  รักษาตามอาการเช่น ให้น้ำเกลือ ให้ยาแก้อาเจียน เป็นต้น



การปฐมพยาบาล

คงจะใช้การล้วงคอให้อาเจียนโดยเร็วที่สุดครับ เมื่อสงสัยว่ารับประทานเห็ดพิษเข้าไปแล้ว การทำอาเจียนจะมีผลมาก ถ้าทำภายใน 30 นาที หลังรับประทาน แล้วก็อย่าไปพบแพทย์ หรือไปโรงพยาบาลนะครับ

                                                                                                  นพ.อมรชัย หาญผดุงธรรมะ








ขอขอบคุณที่มา : นิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 21 ฉบับที่ 8
      คัดลอกจาก : http://www.elib-online.com/doctors/herb_mushroom1.html
                          ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต















 












หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล