เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สมรรถภาพร่างกาย | สุขภาวะทางจิต | สุขภาพกับความงาม | สื่อกับสุขภาพ | สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | ธรรมะกับสุขภาพ






คิดแล้วทุกข์ โดย พระอาจารย์ชาญชัย เขมวโร





 



ความคิดนี้หนอเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของทุกคน และพอที่จะรู้สึกได้ด้วยตัวเองเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นที่ใจ ไม่ว่าเราจะคิดเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องที่ดีหรือไม่ดี เราย่อมรับผลในทางจิตใจได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องรอในชาติหน้า ได้รับผลในชาติปัจจุบันนี้ขณะนี้เดี๋ยวนี้ทันที คิดเรื่องไม่ดีเดี๋ยวนี้ได้รับผลทันทีคือจิตใจเกิดความรุ่มร้อน คิดแต่เรื่องดีๆ ก็ได้รับผลทันทีคือสบายใจทันที เพราะฉะนั้นความคิดจึงให้ผลเร็วในทันที

เราอยู่กับความคิดและก็ใช้ความคิด เราไม่รู้หรอกว่าเราคิดดีหรือคิดชั่วและใช้ความคิดไปในทางที่เป็นประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ หรือไม่เป็นประโยชน์ในทางทำลาย อยู่ที่ผู้จะใช้ความคิดออกไป ถ้าใช้ความคิดเห็นผิดๆ เพื่อทำลายผู้อื่น ผลกรรมย่อมตกเป็นของเราก่อน เราจะร้อนใจกระวนกระวายใจเพราะความคิดที่จะทำร้ายผู้อื่น

เราอยู่กับความคิด เราวิ่งตามความคิด หรือเราอยู่เหนือความคิด ถ้าเราวิ่งตามความคิดที่มีความทะยานอยาก ความไม่พอใจ วิ่งตามเท่าไหร่ก็ไม่พอกับความต้องการในความคิด ความคิดมันก็คิดไปเรื่อยๆ ดูแล้วเห็นแล้วน่าอัศจรรย์ที่มันคิดไกลไปเรื่อยๆ ดูเหมือนว่าความจบสิ้นในความคิดนั้นไม่มี บางครั้งก็คิดซ้ำของเก่าๆ เหมือนเริ่มคิดใหม่กลับไปกลับมา

ถ้าเราสังเกตดูที่ใจของเรา เรื่องที่ดีๆ มันจะคิดน้อยและจบสิ้นเร็ว ถ้าหากเป็นเรื่องที่ไม่ดีมันคิดมากและก็จบสิ้นไม่เป็น ชอบคิดแล้วคิดอีก คิดจนกลายเป็นทุกข์ในใจก็มี เมื่อจิตใจรับผลเป็นทุกข์ ร่างกายก็เป็นไปตามจิตใจด้วย เพราะอาการเหล่านั้นมันออกจากจิตใจที่ได้รับผลจากความคิด ถ้าเราไม่รู้จักความคิดดีพอ หรือไม่ได้ฟังจากผู้เล่าที่มีประสบการณ์เรื่องโรคต่างๆ ที่เกิดจากใจที่คิดแล้ว มันทรมานเป็นที่สุดอย่างยิ่งในชีวิตทีเดียว ทำให้เกิดโรคที่แทรกซ้อนต่อร่างกายที่เราอาศัยอยู่ได้ง่ายๆ แล้วทำให้ร่างกายทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็วทันที เมื่อคิดมากก็ไม่รู้วิธีระงับ หรือไม่รู้จักแก้ไข หรือไม่ปลงตกจากความคิดเหล่านั้น การฆ่าตัวตายย่อมมีโอกาสปรากฏขึ้นได้

ที่ไม่รู้ว่าทุกข์หมายถึงเราวิ่งตามเรื่องราวต่างๆ ในความคิดที่เรากำลังคิดไปเรื่อยๆ จนกลับกลายเป็นอารมณ์ผูกพันในปัญหาต่างๆ ที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล หรือดูเหมือนว่าเรากำลังวิ่งไปหาความคิด ความคิดมันหลอกลวงเราให้เราหลงทางอยู่เสมอเพราะความไม่รู้เท่าทันนี้แหละ มันหลอกลวงให้คิดล่วงหน้าอยู่เสมอ หวังในความคิด เกิดความอยากในความคิด

เรื่องความอยากในความคิดที่คิดไปนั้นดูเหมือนว่ารู้สึกว่ามันง่ายๆ ไม่มีอุปสรรค ถ้ามีอุปสรรค มันก็เพิ่มเติมแก้ไขเข้าไปง่ายๆ แต่พอเรากระทำออกไปจริงๆ แล้วดูเหมือนว่ามันยากกว่าที่คิดเสียอีก ต้องเจออุปสรรคต่างๆ นานาจนรู้สึกผิดหวังและท้อแท้อย่างยิ่ง นี่แหละความคิด ต้องหมั่นศึกษาดูจิตใจและพยายามอ่านดูใจของตัวเองไปด้วย มิฉะนั้นจะตกเป็นทาสของความคิดและทุกข์ไปโดยไม่รู้ตัว คิดไปคิดมาดูเหมือนว่าจะเป็นคนที่มีจิตใจเลื่อนลอย

ความทุกข์เกิดจากความคิดนี้แหละ ถ้าเราจะเรียนรู้ความคิดต้องค่อยๆ อ่านดูจิต พยายามดูความคิดของตนเองให้ออก เพราะความคิดเราดูเหมือนอยู่เหนือเราเสียอีก มันคอยคิดแต่เรื่องที่เป็นทุกข์ให้อยู่เสมอ เมื่อเรารับฟังอะไรมาก็ตาม ความเป็นผู้ไม่มีปัญญาพิจารณาตามย่อมได้รับผลทันที รับฟังมาแล้วคิดดีก็ให้ผลดีทางใจสบายใจ ดีใจ ชื่นใจอย่างรวดเร็ว รับฟังมาแล้วคิดไม่ดีก็ได้รับผลทางใจไม่ดี ทุกข์ใจ ร้อนใจ ไม่สบายใจ


ไม่รู้จักวีธีออกจากความทุกข์เพราะไม่รู้จักวิธีออกจากความคิด เราคิดเองทุกข์เองซึ่งเกิดจากการเห็น การได้ยิน รับทราบมาแล้วก็นำมาคิดเองเออเอง จนกลายเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ แล้วก็สร้างอารมณ์ของตนเองเป็นทุกข์แทนผู้อื่นบ้าง หรือมาจากตัวเองเป็นทุกข์ที่จิตใจแล้วกลับมาคิดหาทางออกจากทุกข์ในความรู้สึกนั้นๆ ที่จิตใจของตนเองไม่ได้

ก็คือไม่รู้ว่าจะเอาความคิดที่มีทุกข์ที่ใจนั้นไปไว้ไหน มักจะอมทุกข์ใจไว้กับความรู้สึกของตนเอง จนแสดงออกไปถึงใบหน้าและตา ทั้งๆ ที่ความทุกข์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ตัวเราเองนำมาคิดทั้งนั้นจนหาทางออกไม่ได้ คนเราจึงเพิ่มความทุกข์โดยไม่รู้ตัว พยายามนำไปเล่าให้คนโน้นคนนี้ฟัง ส่วนคนฟังที่ไม่รู้วิธีออกจากทุกข์ก็พลอยทุกข์ไปด้วย

ความคิดมันทำให้เราป่วยเป็นโรคทางใจและทางกายอย่างรุนแรง โรคที่เกิดจากความคิดที่เป็นทุกข์มาก ได้แก่ โรคไมเกรน (ปวดศีรษะข้างเดียว) โรคท้องอืด โรคความเครียดจนถึงนอนไม่หลับ จนในที่สุดอาจจะกลายเป็นโรคจิตประสาทหลอน


วิธีแก้ไขการออกจากความคิดที่เป็นทุกข์นั้น ได้แก่

- การปล่อยวางมี “อุเบกขา” รู้อะไรเห็นอะไรรับรู้แล้ววางเฉยเสีย ซึ่งบางทีเป็นแต่เพียงความเฉยภายนอกหรือพยายามทำเป็นเฉยแต่ใจไม่เฉย อย่างนี้ไม่ถูกต้อง เฉยอย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นอุเบกขา ความวางเฉยนี้หมายถึงสงบเป็นกลางๆ ไม่เอนเอียงไปข้างหนึ่งข้างใด เฉยอย่างรู้ทันจึงเฉย ไม่ใช่เฉยเพราะไม่รู้

ท่านเปรียบความวางเฉยเหมือนการขับรถ ตอนแรกเราจะวุ่นวายเร่งเครื่องปรับอะไรต่ออะไรทุกอย่างให้เข้าที่ เมื่อพร้อมก็เดินเครื่องวิ่งเรียบสนิท เราก็เพียงแต่เป็นผู้มอง ผู้คุมระวังไว้ สภาวะเช่นนี้เรียกว่าอุเบกขา เป็นสภาพจิตที่สบาย เพราะทำทุกอย่างดีแล้วเข้ารูปของมันแล้ว

- การทำสมาธิ คือความตั้งมั่นหรือแน่วแน่อยู่กับสิ่งๆ นั้น อย่างที่เรียกว่า “ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับงาน” จิตใจที่แน่วแน่มีกำลังมาก เป็นจิตที่เหมาะสมในการใช้งาน จิตที่เป็นสมาธิดีแล้วจะไม่ซัดส่ายไปกับความคิดที่ไม่เป็นประโยชน์ และระงับยับยั้งความคิดที่เป็นโทษทุกข์นั้นได้

- สติ คือความระลึกได้เป็นเครื่องดึงจิตไว้กับตัวหรือสิ่งนั้นๆ ไม่ให้จิตฟุ้งซ่านล่องลอยไปที่อื่น

จิตใจเราเปรียบเหมือนพระจันทร์ที่สว่างสุกใส แต่ที่หม่นหมองมืดมิดไม่สว่างไสวเหมือนจันทร์แรมนั้นเพราะมีเมฆหมอกมาปิดบังไว้ เปรียบเหมือนความคิดที่ทำให้ใจนั้นทุกข์บ้างสุขบ้าง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ไม่ได้นาน เหมือนพระจันทร์ที่มีข้างขึ้นข้างแรม มีมืดมีสว่าง








ขอขอบคุณที่มา :  http://www.dhammajak.net
                           ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต





 













 












หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล