เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สมรรถภาพร่างกาย | สุขภาวะทางจิต | สุขภาพกับความงาม | สื่อกับสุขภาพ | สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | ธรรมะกับสุขภาพ








ธรรมะ เสมือนลมหายใจ





ธรรมะ เสมือนลมหายใจ

“อาจารย์ครับ ผมก็ปฏิบัติธรรมมานานแล้ว ทำไมผมรู้สึกไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติ ธรรมเลย ผมรู้สึกท้อแท้ครับอาจารย์”

“ก่อนที่ครูจะสอนเธอต่อไป ในความคิดของเธอ เธอคิดว่าการปฏิบัติธรรมนี้เปรียบเสมือนการกระทำอะไร ดังต่อไปนี้ ?”

เสมือนการเรียนในโรงเรียน
เสมือนการรักษาโรคทางใจ
เสมือนการสั่งสมบุญ
เสมือนการได้พักใต้ร่มเงาไม้ใหญ่หรือ ศาลาริมทาง
เสมือนการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้


ถ้าเธอเปรียบเสมือนการเรียนในโรงเรียน เธอ จะต้องการเรียนให้ได้คะแนนสูงๆ เกรดดีๆ ไม่น้อยหน้าใคร เธออยากจบไวๆ เธอจะมีแต่ความโลภ นี่คือโทษของการคิดแบบนี้

ถ้าเธอมองว่าเป็นยารักษาโรคทางใจ เธอจะเฝ้าเพียรถามหมอว่าเมื่อไหร่โรคจะหายเสียที ฉันเสียเงิน เสียเวลามามากแล้วนะ เธอจะมีแต่ความโกรธ นี่คือโทษของการคิดแบบนี้

เสมือนการสั่งสมบุญ เธอจะมีเวลาให้การปฏิบัติน้อย แต่มุ่งแต่จะสั่งสมบุญเพื่อเป็นเสบียงเพื่อเดินทางในภพหน้า เพราะมิใช่เป้าหมายที่เธอหวัง นี่คือโทษของการคิดแบบนี้

เสมือนการได้หยุดพักใต้ร่มเงาไม้ใหญ่หรือศาลาริมทาง เธอจะพอใจที่จะพักใจคลายทุกข์ชั่วคราว หรือเธออาจจะภูมิใจในความสุขอันเนื่องจากสมาธิ จะทำให้ไม่ก้าวหน้า เพราะทำให้การเดินทางยาวนานยิ่งขึ้น นี่คือโทษของการคิดแบบนี้

เสมือนการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้ เธอจะจ้องแต่เป้าหมายด้วยจิตใจที่รุ่มร้อน อยากให้ถึงเส้นชัยเร็วๆ เธอจะไม่ใช้ชีวิตในปัจจุบัน เธอจะขาดสติ นี่คือโทษของความคิดแบบนี้”

“แล้วผมควรคิดอย่างไรดีครับ ?” ลูกศิษย์ใจร้อนถาม

“เธอควรคิดว่า ธรรมะนี้เปรียบเสมือนลมหายใจของเธอ เธอจะขาดเขาไม่ได้ และเขาจะอยู่กับเธอจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่ว่าเธอจะสนใจเขาหรือไม่ เขาก็จะอยู่กับเธอ เป็นเพื่อนเธอ เพียงแต่เธอใส่ใจกับเขา เรียนรู้ที่จะมีสติระลึกถึงเขาเสมอๆ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอมีชีวิตในปัจจุบัน ไม่มุ่งหวังอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ไม่อาลัยอดีตที่ล่วงไปแล้ว เขาจะทำให้เธอกลับมารู้กายและใจในปัจจุบัน

เธอย่อมไม่ทวงถามเขาว่าเมื่อไหร่ ฉันจึงจะจบหลักสูตรการปฏิบัติธรรมเสียที อย่างเนรคุณ เพราะไม่ว่าอย่างไร เธอก็ยังต้องหายใจอยู่ ตลอดชีวิต

เธอย่อมไม่ทวงถามว่าเมื่อไหร่ฉันจะหายจากโรคทางใจเสียที เพราะเขาจะยังอยู่เป็นเพื่อนเธอต่อไปแม้เธอจะหายจากโรคคือกิเลสและความทุกข์ อย่างไรเธอก็ยังต้องอยู่กับการปฏิบัติธรรมตลอดไป

เธอย่อมไม่มัวหลงในบุญ ที่สุด เพราะการกำหนดลมหายใจนี้ เลยขั้นทานและศีลแต่เลยไปถึงขั้นภาวนา เธอย่อมได้รับผลบุญอันคือความ ปีติในปัจจุบันนี่เอง

เพราะการกำหนดลมหายใจ จะพาเธอสู่การปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุดอยู่แล้ว เธอไม่ต้องกลัวว่า วิถีทางนี้จะเนิ่นช้าแต่อย่างไร

ถ้าจะสรุปสั้นๆ ให้จำง่ายๆ ก็คือ ธรรมะเสมือนลมหายใจของเรา การปฏิบัติธรรมก็คือ การหายใจอยู่ในปัจจุบัน นั่นเอง

เธออาจคิดว่าสิ่งนี้ยากเกินไปที่จะทำได้ อยากถามว่า เธอเสียลมหายใจไปเท่าไหร่แล้วในชาตินี้ และ เสียมาแล้วกี่ชาติ ทำไมเธอไม่สำนึกถึงคุณค่าของเขา เรียนรู้และมีสติกับเขาเพื่อที่เขาจะได้เป็นเพื่อนที่ดีกับเธอไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ”

“ครับอาจารย์ “ ลูกศิษย์จ้องมองใบหน้าของอาจารย์ ดวงตาฉายแววนักสู้ อิ่มเอิบด้วยกำลังใจ ก่อนเดินจากไปด้วยกิริยานอบน้อม


ธรรมะเสมือนลมหายใจของเรา การปฏิบัติธรรมก็คือ การหายใจอยู่ในปัจจุบัน

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -





ขอขอบคุณที่มา : http://www.dhammathai.org/dhammastory/view.php?No=214
                           ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต





 

 











 












หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล