มีคำพูดว่า
ค่าของสัตว์อยู่ที่ร่างกาย
ค่าของหญิงชายอยู่ที่คุณความดี
วัวควายช้างม้า เกิดมากินขี้ปี้นอน เหมือนมนุษย์
แม้จะไม่ทำกิจการงานอันใด แต่เวลาตาย กระดูกเขางาหนัง ยังเป็นประโยชน์
ทำเป็นเครื่องประดับก็ได้ ทำเป็นสิ่งของเครื่องใช้ก็ได้
เนื้อนำมาบริโภคได้
แล้วคนเราเล่าถ้าไม่ทำคุณความดี
มีอะไรเป็นประโยชน์บ้าง
ซ้ำคนยังกลัวว่าเป็นผี ต้องใส่เตาเผา
หรือไปทิ้งไว้ในป่าช้า
อนิจจา ! มนุษย์เราเอ๋ย
มีคำโคลงโลกนิติว่า (สำนวนเก่า)
อาหารการหลับแล เสพกาม
มีแก่ชายโคนาม นับผู้
ชายไววิทยางาม เห็นแปลกใดแฮ
แม้เสื่อมศิลปศาสตร์รู้ เปรียบด้วยฝูงโค
สัตว์โลกทั้งมวลมีเหมือนกันอยู่ 3 อย่าง
1. การกิน เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโต มีกำลังต่อสู้อยู่ในโลกได้
2. การสืบพันธุ์ เพื่อขยายเผ่าพันธุ์
3. การนอน เพื่อพักผ่อนเอาแรงไว้ต่อสู้ในวันข้างหน้าต่อไป
(4) การขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ เพื่อขับถ่ายเทของเสียออก (เพิ่มมาให้สมบูรณ์)
ทั้งหมดนี้มีอยู่ในคนและสัตว์เดรัจฉาน
.
.แต่สิ่งที่ทำให้คน หรือที่เรียกว่า "มนุษย์ " คือผู้มีจิตใจสูงแตกต่างจากสัตว์ คือ
1. รู้จักเหตุ รู้จักผลของความดี ความชั่ว เจริญ หรือเสื่อม
2. รู้จักแสวงหาความรู้ ทั้งทางโลก ทางธรรม
3. รู้จักตน คือ รู้เขารู้เรา
4. รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดี ในการใช้ปัจจัยสี่
5. รู้จักกาลคือ รู้จักเวลาไหนควรพูดควรทำอย่างไร
6. รู้จักเลือกคบบุคคล คบคนดีเป็นศรีแก่ตัว- คบคนชั่วพาตัวอัปราชัย
...เกิดเป็นคนต้องทำที่พึ่งให้กับตัวเอง....
การพึ่งตน ก็คือ ทำตัวเองให้เป็นที่พึ่ง ทำตัวเองให้เป็นเกาะ ที่น้ำท่วมไม่ถึง ที่ป้องกันอันตรายได้ ผู้นั้น จะต้องมีหลักถึง 5 ประการ
1. การศึกษา
เกิดเป็นคนต้องศึกษาหาความรู้อยู่ร่ำไป ดังคำกล่อนว่า
คนจะดีนั้นต้องฝึกและศึกษา
กายวาจาต้องอบรมบ่มนิสัย
ต้องฝึกจิตให้แน่นหนักเป็นหลักชัย
ชนะภัยสารพัดสวัสดี
2. ต้องมีการงาน
การงานคือ หน้าที่ที่ต้องทำ และรับผิดชอบ เพื่อความเจริญของชาติบ้านเมือง ดังคำ กลอนว่า
เงินงานการศึกษาควรหาก่อน
อย่ารีบร้อนเรียนรักจักเสียผล
ถ้าขาดงานก็ขาดเงินพลันอับจน
เกิดเป็นคนต้องทำงานจึงมีเงิน
3. การครองชีวิตที่ดี ต้องมี 4 ค.
3.1 ครองตน - ต้องมีความรู้ - ต้องขยันศึกษาหาความรู้ให้มาก " ต้องเรียนให้รู้ดีแต่อย่าเรียนให้รู้ มาก" โบราณว่า
มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน
จะตกฐานถิ่นใดไม่ขาดแคลน
ถึงยากแค้นก็พอยังประทังตน
หรือว่า
ถ้าไม่เรียน ก็ไม่รู้
ถ้าไม่ดู ก็ไม่เห็น
ถ้าไม่ทำ ก็ไม่เป็น
ถ้าไม่เย็น ก็เป็นภัย
3.2 ครองคน
จะครองจิตใจคนได้มันต้อง
(1) เสียสละโอบอ้อมอารี
(2) วจีไพเราะ
(3) สงเคราะห์ชุมชน
(4) วางตนเสมอต้นเสมอปลาย
3.3 ครองรัก
จะครองรักสลักใจ ไปเนิ่นนานต้องมี 6 ย.
(1) ยิ้มแย้ม
(2) ยกย่อง
(3) ยืนหยัด
(4) ยืดหยุ่น
(5) เยือกเย็น
(6) ยินยอม (รู้จักยอมแพ้ เสียบ้างแล้วก็จะชนะใจ)
3.4 ครองเรือน
จะครองเรือนให้จีรัง
(1) ขยันหา - ขยันทำการงาน
(2) รักษาดี - รู้จักประหยัด
(3) มีกัลยาณมิตร - คบคนดี
(4) เลี้ยงชีวิตชอบ - อย่าฟุ่มเฟือยเกินไปอย่าฝืดเคืองเกินไป
4. การประพฤติตน (การปฏิบัติตน)
ชีวิตที่ดีงาม ต้องตั้งตนไว้ชอบ ในทางที่ถูกที่ควร ขยันประหยัดซื่อสัตย์ อดทน เป็นคน กตัญญู เลิกละอบายมุข ดังคำกลอนว่า
เมาเพศ หมดราคา
เมาสุรา หมดสำคัญ
เมาพนัน หมดตัว
เมาเพื่อนชั่ว หมดดี
5. การทำตนให้เป็นอิสระ
การดำเนินชีวิตอยู่ในโลก ต้องไม่ติดโลกธรรม คือ มีอะไรให้เป็น เป็นอะไรเป็นให้เป็น ได้
อะไรได้ให้เป็น แล้วชีวิตจะไม่เป็นทุกข์ ต้องรู้จักโลกธรรมโดยถ่องแท้ด้วยว่า
.
มีลาภ - เสื่อมลาภ
มียศ - เสื่อมยศ
มีสรรเสริญ - มีนินทา
มีสุข - มีทุกข์
ต้องนึกอยู่เสมอว่า
วันนี้รุ่ง พรุ่งนี้ร่วง ดวงไม่แน่
วันนี้แย่ พรุ่งนี้ยัง กลับดังได้
วันนี้ดัง พรุ่งนี้ดับ กลับเปลี่ยนไป
โปรดจำไว้ ทุกชีวิต อนิจจัง
ชีวิตจะเป็นอิสระได้จะต้องไม่ยึดติด ไม่ฝืนโลก แต่ฝืนใจ..เมื่อประสบกับทุกสิ่งทั้งดี และร้าย ต้องทำใจ ให้นิ่ง
ผู้นิ่งเป็นผู้ชนะ ผู้ละเป็นผู้บรรลุ ไม่นิ่งก็ไม่ชนะ ไม่ละก็ไม่บรรลุ..และตรงนี้ก็มีคำกลอนสอนใจ ไว้น่าฟังว่า
อันสุขทุกข์ อยู่ที่ใจ มิใช่หรือ
ถ้าใจถือ ก็เป็นทุกข์ ไม่สุขใส
ถ้าไม่ถือ ก็เป็นสุข ไม่ทุกข์ใจ
เราอยากได้ ความสุข หรือทุกข์กัน.
ดังนั้น คนจะมีค่า มีราคา เป็นเกียรติยศ บริวาร และอิสริยศได้ ก็ต้องดำเนินชีวิตดังกล่าวข้างต้นมาโดย ลำดับ และจะต้องทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ดังคำพูดว่า
หน้าที่คือ ชีวิต
แม้น้อยนิดควรรักษา
หน้าที่นั้นสำคัญกว่าหน้าตา
หน้าที่พาชีวิตรอดและปลอดภัย
อีกบทหนึ่งว่า..
หน้าที่ดี ก็มีหน้า ชูราศรี
หน้าตาดี แต่ขี้เกียจ คนเหยียดหยาม
หน้าที่นั้น สำคัญกว่า คนหน้างาม
หน้าตาดี หน้าที่ทราม ไม่งามเลย
อีกบทหนึ่งว่า
หน้าสวยสม คมสัน หมั่นสอดส่อง
หน้าที่สอง ต้องรักษา คือหน้าที่
หน้าทั้งสอง ต้องรักษา อย่าราคี
สองหน้านี้ ต้องรักษา อย่ารู้คลาย
ดังนั้น คนทุกคน
" ต้องรักษาหน้าที่ให้ดีกว่ารักษาที่หน้า "
ค่าของคน จะเกิดความสำเร็จได้ดังใจปอง จะต้องปฏิบัติ ดังนี้.
1. พอใจในหน้าที่
2. ทำดีไม่ย่อท้อ
3. เอาใจใส่จดจ่อ
4. พิจารณาความพอดี
|