|
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง [ วันพุธ ที่ 07 เดือนตุลาคม 2553 ] |
|
รักษาโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี่อย่างไรจึงได้ผลคุ้มค่า และปลอดภัย ตอน 3 |
รักษาด้วยบอลลูนขดลวด
ขดลวดที่ใช้ทำจากแสตนเลสไม่มีปฏิกิริยากับร่างกาย อยู่ติดแนบกับผนังหลอดเลือดไปตลอด เป็นวิธีที่ทำง่ายกว่า เจ็บตัวน้อย ไม่มีแผลเป็น อยู่โรงพยาบาลน้อย แต่มีข้อจำกัด คือ การตีบซ้ำ พบได้ไม่เกินร้อยละ 8-10 ยกเว้นหลังรักษารอยโรคที่รุนแรงเช่น อุดตันมานาน รอยโรคที่ตีบยาวๆ หรือรอยโรคที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็กๆ หรือในรายเบาหวานจะตีบตันซ้ำบ่อยกว่า ราวร้อยละ 13-20 ทีเดียว ถึงแม้จะใช้ขดลวดแบบเคลือบยา เพื่อต้านการตีบซ้ำก็ตาม นอกจากนี้ยังต้องรับประทานยาต้านเกร็ดเลือด 2 ขนานนานอย่างน้อยนาน 1 ปีด้วย
การผ่าตัดต่อทางเบี่ยงเส้นเลือดหัวใจ
ได้ผลดีกว่าการทำบอลลูนหากเป็นเบาหวานหรือตีบที่ขั้วซ้าย หรือตีบตัน 3 เส้นและหัวใจคราก แต่จะอยู่โรงพยาบาลนานกว่า แผลผ่าตัดดูน่ากลัว ระยะพักฟื้นนานกว่า แต่ผลการรักษาดีและคงทนถาวรกว่าการทำบอลลูนใส่ขดลวดเสียอีก ข้อจำกัดคือ ต้องดมยาสลบ ผ่าตัดใหญ่ ใส่ท่อหายใจ จึงมีข้อจำกัดหากเป็นโรคปอดเรื้อรัง หรือสูงอายุมากๆ
รอยโรคที่สมควรได้รับการรักษาเพิ่มเลือดมากที่สุด ได้แก่ รอยโรคที่ตีบที่หลอดเลือดซ้ายหลักหรือซ้ายแขนงส่วนต้น ได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะลดอัตราตายได้ นอกจากนั้นแล้วได้แก่หลอดเลือดตีบ 2-3 เส้น หัวใจบีบตัวลดลง ดังนั้นหากท่านไปตรวจสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมักเสริมการตรวจ 64 slice CTA ไปด้วยและพบการตีบนอกเหนือจากที่กล่าว หมอชวนทำบอลลูนเลยไม่ควรทำในทันที ต้องกลับมาทบทวนว่าจริงๆ แล้วมีอาการหรือไม่ หัวใจขาดเลือดโดยไม่มีอาการหรือไม่ การทำบอลลูนจะป้องกันหัวใจตายได้จริงหรือ (ใช่ถ้าตีบที่ขั้วซ้าย หรือแขนงซ้ายส่วนต้นที่เรียก LAD ส่วนต้น)
ข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ดำรัส ตรีสุโกศล อายุรแพทย์โรคหัวใจ ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช และที่ปรึกษาศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 2
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
| |
|
|