|
โพสต์ทูเดย์ [ วันพุธ ที่ 07 เดือนตุลาคม 2553 ] |
|
รู้ทัน..มะเร็งต่อมน้ำเหลือง |
"มะเร็งต่อมน้ำเหลือง" อาจเป็นโรคที่คนไทยรู้สึกไม่คุ้นเคยจนไม่ใส่ใจ เพราะคิดว่าไกลตัว แต่รู้หรือไม่ว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศและในโลก โดยติดอันดับ 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยของชายไทย คาดว่าจะมีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองปีละกว่า 1,000 ราย รู้อย่างนี้แล้วลองมาทำความรู้จัดโรคนี้กันสักหน่อยดีไหม
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเกิดจากความผิดปกติในต่อมน้ำเหลืองและเนื้อเยื่อลิมฟอยด์ต่างๆ แบ่งเป็น 2 ชนิดได้แก่ ได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin Lymphoma (NHL) และชนิด Hodgkin disease (HD) โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งสองชนิดจะมีอาการคล้ายกัน คือ มีต่อมน้ำเหลืองโตเป็นหลัก แต่ NHL อาจมีก้อนโตที่อวัยวะอื่นๆ ได้บ่อยว่า เช่น ที่ลำไส้ ปอด สมอง เป็นต้น
ในประเทศไทยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบส่วนใหญ่จะเป็นชนิด NHL ซึ่งสามารถแบ่งได้มากกว่า 30 ชนิดย่อย แต่ละชนิดจะใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป จึงมีความจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียดเพื่อให้ทราบถึงชนิดี่แท้จริงของมะเร็ง อันจะนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ถึงตรงนี้เชื่อว่าคำถามต่อมาในใจหลายๆ คนคือ แล้วจะรู้ตัวได้อย่างไรว่ามีอาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น
- คลำพบต่อมน้ำเหลืองโต บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ โดยไม่รู้สึกเจ็บ แต่จะค่อยๆ โตเป็นกลุ่ม มีขนาดใหญ่ขึ้น (หากไม่รักษาอาจโตเท่าผลส้มโอ)
- มีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน และน้ำหนักอาจลดมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวในเวลา 6 เดือน
- อ่อนเพลีย เออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน อาจมีตับหรือม้ามโตจากมะเร็งที่ไปแทรกในอวัยวะทั้งสอง
- ต่อมน้ำเหลืองที่เป็นมะเร็งจะโตเร็วมาก บางครั้งอาจเกิดแตกเป็นแผลและมีเลือดออกได้ ตำแหน่งที่พบบ่อยได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ และขาหนีบ เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาแต่ต้นมะเร็งจะแพร่กระจายไปสู่ระบบต่างๆ ของร่างกาย และมีผลทำให้การทำงานของร่างกายล้มเหลวถึงแก่ชีวิตได้
- ภูมิคุ้มกันลดลง เนื่องจากต่อมน้ำเหลืองมีหน้าที่ควบคุมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อเป็นมะเร็งจึงมีผลทำให้ระบบป้องกันโรคและป้องกันการติดเชื้อลดประสิทธิภาพลงไป
- มีอาการข้างเคียงอื่นๆ เมื่อมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณอื่น ทำให้อวัยวะข้างเคียง เช่น ต่อมน้ำเหลืองในช่องอกโตอาจกดหลอดเลือดดำ ทำให้เกิดอาการบวมบริเวณใบหน้าและคอถ้าลุกลามไปยังระบบทางเดินอาหาร จะมีอาการของทางเดินอาหารอุดตัน ทำให้มีอาการกลืนลำบาก คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องรุนแรง ตับ ม้ามโต ตัวเหลืองตาเหลือง หากพบอาการหรือข้อสงสัยใดๆ แนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจอย่างละเอียดต่อไป
การตรวจวินิจฉัยและรักษา
การวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะเริ่มต้นจากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย จากนั้นอาจจะตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นๆ ได้แก่ การตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา (Biopsy การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) การตรวจกระดูก (Bone scan) และการตรวจ PET scan เป็นต้น
ผลการตรวจทั้งหมดจะนำมาประเมินระยะของโรค เพื่อเป็นแนวทางในการรักษษโรคต่อไป โดยการรักษาจะขึ้นกับระยะของโรคและสภาวะร่างกายโดยรวม ซึ่งมีแนวทางดังนี้
1. การเฝ้าระวังโรค ใช้กับผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดไม่รุนแรงที่ยังไม่ต้องการรักษา โดยจะติดตามอาการเป็นระยะ
2. การใช้ยาเคมีบำบัด คือการใช้ยาที่มีผลทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย
3. การฉายรังสี เป็นการใช้รังสีขนาดสูงเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็งในแต่ละบริเวณ มักใช้กับผู้ป่วยในระยะแรกๆ ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงคือระคายเคืองบรเวณผิวหนัง เจ็บคอ หรือปวดท้อง บรรเทาได้ด้วยการให้ยาแก้ตามอาการ
4. การรักษาด้วยแอนติบอดี้ เป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่เป็นสารสังเคราะห์ไปจับกับโปรตีนบนผิวเซลล์มะเร็ง ส่งผลให้มีการกระตุ้นการทำลายเซลล์มะเร็งเพิ่มขึ้น
5. การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Bone marrow or Stem cell transplantation) โดยการให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงร่วมกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหรือไขกระดูกของตนเองทำให้ผู้ป่วยมีระยะเวลาที่ปลอดโรคหรือโรคไม่ลุกลามได้นานขึ้น
จะเห็นได้ว่าโรคนี้มีความซับซ้อนและแบ่งเป็นหลายประเภทรวมทั้งมีอาการหลายลักษณะ ซึ่งต้องใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดแม่นยำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที
ศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ
โรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลรักษาด้านโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ซ.ศูนย์วิจัย ประกอบด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สูง ทั้งอายุรแพทย์ โรคเลือด กุมารแพทย์โรคเลือด และพยาธิแพทย์ รวมทั้งแพทย์ที่ปรึกษาทุกระบบ มีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานที่ให้ผลการตรวจที่รวดเร็ว มีศูนย์ปลูกถ่ายไขกระดูกที่สามารถรักษาผู้ป่วยด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก โดยไม่ต้องส่งต่อไปที่อื่น มีการเตรียมเลือดและส่วนประกอบของเลือดที่ปลอดภัยสูงสุด
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะ "ให้การวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็ว ให้การรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลไม่นาน และค่าใช้จ่ายไม่บานปลาย" เป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยในด้านมาตรฐานรักษาได้อย่างตรงใจและครบครันจริงๆ
ศูนย์โลหิตวิทยากรุง ชั้น 3 โรงพยาบาลวัฒโนสถ โทร. 02-755-1058-9 www.wattanosoth.com
| |
|
|