พิมพ์ไทย [ วันพุธ ที่ 07 เดือนตุลาคม 2553 ]
คุณนายผู้ว่าฯ19จว.อีสานรวมพลังเผยเสน่ห์ปลายจวัก19เมนูอาหารสุขภาพต้านภัยมะเร็งตับ


ภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัด 19 จังหวัดภาคอีสาน รวมพลังเปิดเผยเสน่ห์ปลายจวักกับเมนูเด็ดประจำจังหวัดเพื่อสุขภาพต้านภัยมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี กับ"โครงการเรียนรู้เท่าทัน ป้องกันมะเร็งตับ" โดยมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สนับสนุนโดย บริษัท ไบเออร์ ไทย จำกัด พร้อมประสานกำลังร่วมต่อต้านโรค หวังให้ประชาชนในภาคอีสานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ เพื่อห่างไกลจากมหันตภัยร้ายของโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี

นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ประธานมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มีการเดินหน้ารณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้ชื่อ"กินสุกแซ่บหลาย ต้านภัยมะเร็งตับ" ภายใต้"โครงการเรียนรู้เท่าทันป้องกันมะเร็งตับ"นั้น ล่าสุดทางโครงการฯ ได้ใช้กลยุทธ์ในการเข้าถึงประชาชนอย่างใกล้ชิดโดยการประสานงานขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดและภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัด 19 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ซึ่งถือผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเป็นกระบอกเสียงในการรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในเรื่องการรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ โดยการร่วมนำเสนอเมนูอาหารประจำจังหวัด เพื่อนำไปจัดทำเป็นเมนูต้นแบบให้แก่ประชาชนนำไปปรับใช้ในการประกอบอาหาร

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง และกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหารจากประเภทสุกๆ ดิบ มาเป็นอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี

ทั้งนี้ การนำเสนอเมนูอาหารประจำจังหวัดของผู้ว่าราชการจังหวัดและภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัด 19 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น จะเน้นวัตถุดิบหลักในพื้นที่ภาคอีสานในการประกอบอาหาร โดยมีวัตถุดิบหลักเป็นปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ด เช่น ปลาแม่สะแด้ง ปลาตะเพียนทราย ปลาสร้อยนกเขา ปลาสูตร ปลากะมัง ฯลฯ และเป็นปลาที่นำเชื้อพยาธิใบไม้ตับ รวมทั้งเมนูอาหารที่มีสารไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่พบในอาหารพวกโปรตีนหมัก เช่น ปลาร้า ปลาส้มหมูส้ม แหนม ฯลฯ และอาหารพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิวเช่น กุนเชียง ไส้กรอก เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ฯลฯ

โดยนำมาผ่านขั้นตอนการปรุงให้สุกด้วยความร้อนจากเตา ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยและยังคงความอร่อยไว้ได้เช่นกัน

เพื่อลดการเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งชนิดดังกล่าว

สำหรับเมนูอาหารที่เหล่ากาชาดทั้ง 19 จังหวัดในภาคอีสานได้ร่วมนำเสนอ อาทิ เมนูปลาหมกหม้อ จากจังหวัดกาฬสินธุ์เมนูปลาตะเพียนต้มส้มยอดมะขาม จากจังหวัดขอนแก่น เมนูน้ำพริกปลาพญาแล จากจังหวัดชัยภูมิ

เมนูลาบปลาสาเกตจากจังหวัดร้อยเอ็ด เมนูตองคั่วแซบ จากจังหวัดสกลนคร เมนูหนองบัวนัวคั่กคั่ก จากจังหวัดหนองบัวลำภู เมนูส้มตำปลาร้าลุ่มแม่น้ำมูลจากจังหวัดอุบลราชธานี และเมนูอู๋ปลาซิวนา จากจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นต้น

ทั้งนี้ทางมูลนิธิฯ เชื่อว่า สถานการณ์ของอัตราการเกิดโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีจะลดน้อยลง หลังจากที่เหล่ากาชาดได้เข้ามามีบทบาทในการร่วมรณรงค์และเป็นต้นแบบให้แก่ประชาชนในจังหวัดให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปรุงอาหารและการรับประทานให้ถูกสุขอนามัยมากขึ้น

โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นพลังสำคัญในการช่วยเผยแพร่ความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการรับประทานอาหารที่ถูกต้องถูกสุขอนามัย รวมทั้งช่วยเป็นกระบอกเสียงกระตุ้นให้คนในท้องที่ตระหนักถึงมหันตภัยโรคร้ายมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี รวมทั้งปรับความเชื่อผิดๆ ที่ปฏิบัติกันมาช้านาน เพื่อลดอัตราผู้ป่วยและเสียชีวิต

ทั้งนี้โรคดังกล่าวสามารถป้องกันได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่ปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ผิดๆ บางอย่างเกี่ยวกับการปรุงอาหาร รวมทั้งเลิก พฤติกรรมการรับประทานของดิบ หรือสุกๆดิบๆ โดยเฉพาะการรับประทานปลาน้ำจืดมีเกล็ด เนื่องจากเป็นปลาที่มีพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นพยาธิชนิดเดียวที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญและจัดให้เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งชนิดนี้

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุและวิธีการป้องกันโรคมะเร็งตับ ทั้งจากชนิดเซลล์ตับและชนิดเซลล์ ท่อน้ำดี กรุณาติดต่อได้ที่ 0-2984-4222 0-2984-4222 หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์www.nci.go.th และ www.bayer.co.th นอกจากนี้ สามารถดาวน์โหลดข้อมูล 19 เมนูต้นแบบห่างไกลมะเร็งตับได้ที่เว็บไซต์ประจำจังหวัดทั้ง 19 จังหวัดในพื้นที่ภาคอีสานอย่างเต็มรูปแบบได้ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2553 เป็นต้นไป




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล