หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันพฤหัสบดี ที่ 14 เดือนตุลาคม 2553 ]
โรคเท้าปุก (Clubfoot) ความผิดรูปของเท้าแต่กำเนิด


โรคเท้าปุก (Clubfoot) เป็นความผิดรูปของเท้าแต่กำเนิดชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นในเด็กที่ไม่มีความผิดปกติอื่นๆ ที่สามารถอธิบายการเป็นโรคชนิดนี้ ต้องการการรักษาเร็วเท่าที่จะเป็นไปได้ และอย่างถูกต้องด้วยวิธีที่ไม่ใช่การผ่าตัด...


มิฉะนั้นเด็กจะมีความพิการอย่างมาก ทำให้ต้องเดินด้วยหลังเท้าหรือปลายเท้า ปวดเท้า ใส่รองเท้าไม่ได้ และไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนอย่างคนอื่นๆ

พ่อแม่ของเด็กทารกที่เป็นเท้าปุก (Clubfoot) ควรได้รับการเน้นย้ำจากแพทย์ว่า ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกด้องโดยแพทย์ที่มีความชำนาญ เด็กจะหายกลับมามีเท้าที่ปกติ สามารถใช้งานได้เช่นเท้าปกติทั่วไป ไม่เป็นปมด้อยของเด็กอีกต่อไป

เท้าปุก (Clubfoot) ส่วนใหญ่จะมีรูปร่างกลับมาเป็นปกติ ภายหลังจากได้รับการดัดเท้าและเข้าเฝือกในเวลาเพียง 6-8 สัปดาห์ การรักษาอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับกายวิภาค และความสัมพันธ์ของกระดูกของเท้า การเคลื่อนไหวของกระดูกเท้า รวมถึงความรู้เกี่ยวกับการตอบสนองของตัวกระดูก, เอ็น และกล้ามเนื้อต่อการดัดแบบค่อยเป็นค่อยไป

ในจำนวนเท้าปุก (Clubfoot) ทั้งหมด มีไม่ถึง 5% ที่มีความรุนแรงมากจนการดัดเท้าไม่ได้ผลสมบูรณ์ และต้องรักษาต่อด้วยการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดควรทำเมื่อการดัดเท้าไม่ได้ผลเท่านั้น

เด็กที่เป็นเท้าปุก (Clubfoot) ควรได้รับการรักษาภายในสองสามอาทิตย์แรกหลังคลอด อาศัยความได้เปรียบในขณะที่เนื้อเยื่อของเอ็นข้อ เอ็นกล้ามเนื้อ และเยื่อหุ้มข้อ ยังพอมีความยืดหยุ่นอยู่บ้าง ด้วยการดัดที่ถูกต้องทุกๆ อาทิตย์ tissue เหล่านี้จะค่อยๆ ยืดออกภายหลังการดัดแต่ละครั้ง เท้าจะได้รับการเข้าเฝือกจากปลายเท้าถึงโคนขาในท่าที่เข่างอ 90 องศา เพื่อบังคับเท้าให้อยู่ในท่าที่ดัดได้ ดังนั้นเท้าจะค่อยๆ ถูกดัดให้เป็นปกติในที่สุด

โดยทั่วไปจะใช้เฝือกเพียง 5-7 อัน แม้แต่เท้าปุก (Clubfoot) ที่เป็นมากๆ ก็ใช้เฝือกไม่เกิน 8-9 อัน ก่อนใส่เฝือกอันสุดท้ายเด็กจะได้รับการตัดเอ็นร้อยหวาย เพื่อทำให้ข้อเท้ากระดกขึ้นเฝือกอันสุดท้าย จะใส่อยู่ 3-4 สัปดาห์เพื่อให้เอ็นที่ถูกตัดติดกันในท่าที่ยืดยาวขึ้น

หลังจากหายแล้ว เด็กที่เคยมีเท้าปุก (Clubfoot) อาจกลับเป็นใหม่ได้ เพราะฉะนั้นหลังสิ้นสุดการเข้าเฝือกจะต้องใส่กายอุปกรณ์เท้า (abduction foot orthosis) ทั้งวันทั้งคืน 2-3 เดือน และใส่เฉพาะกลางคืนหรือเวลานอนอีก 4 ปี

การวินิจฉัยโรคเท้าปุก (Clubfoot) ใช้เพียงตาดูก็รู้แล้ว การถ่ายภาพ x-ray จึงไม่จำเป็น การตรวจร่างกายโดยละเอียดทำเพื่อดูว่ามีโรคอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ ในผู้ป่วยบางรายที่รักษาหายแล้ว อาจมีความไม่สมดุลของเอ็นในการดึงเท้า ทำให้ดูเหมือนว่าเท้ายังผิดรูปอยู่ อาจมีการผ่าตัดเพื่อย้ายเอ็นให้มีแนวดึงที่ตรงขึ้น (Tibialis Anterior transfer)

จากรายงานต่างๆ ที่บอกว่าการดัดและการเข้าเฝือกไม่ได้ผล แสดงว่าวิธีของท่านเหล่านั้นไม่ถูกต้อง ความไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับกายวิภาคและการเคลื่อนไหวของเท้า ทำให้ดัดไม่ถูกวิธีและไม่ได้ผลดังกล่าวข้างต้น ส่วนการผ่าตัดในรายที่การดัด และเข้าเฝือกไม่ได้ผล ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น



ที่มา : น.พ. อำนวย จิระสิริกุล
www.bangkokhospital.com
www.bangkokhealth.com






 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล