ผู้จัดการออนไลน์ [ วันพฤหัสบดี ที่ 14 เดือนตุลาคม 2553 ]
การปฐมพยาบาลเมื่อได้รับสารพิษ/เอมอร คชเสนี


สารเคมีที่อาจเป็นพิษพบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน บางชนิดมีอันตรายน้อย บางชนิดแม้ได้รับเพียงเล็กน้อยก็เป็นอันตรายมาก ดังนั้นหากเราทราบวิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง ก็จะช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บลงได้

เด็กเล็กจะได้รับอันตรายจากสารพิษได้ง่าย เนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นธรรมชาติของเด็กเล็กที่หยิบจับอะไรได้ก็มักจะเอาเข้าปาก ดังนั้น จึงควรเก็บสารเคมีที่ใช้ในครัวเรือนให้พ้นจากมือเด็ก

แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็อาจพลั้งเผลอได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่แยกหมวดหมู่ของใช้ให้ดี หรือไม่เขียนฉลากยาและสารเคมีให้ชัดเจน แต่บางครั้งก็อาจเกิดจากเจตนาที่จะรับประทานยาเกินขนาด หรือรับสารพิษเข้าไปด้วยความตั้งใจเพื่อจบชีวิตตนเอง ดังนั้นการเก็บสารเคมีหรือยาให้มิดชิด จึงอาจช่วยชีวิตคนคนหนึ่งไว้ได้


อาการแสดงเมื่อสารพิษเข้าสู่ร่างกาย

อาการเบื้องต้นทั่วไป คือ มีผื่นแดงขึ้นตามตัวหรือที่ปาก ปวดศีรษะ มึนงง หนาว มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก หายใจตื้น-ถี่ เจ็บหน้าอก ใจสั่น

ในรายที่ได้รับสารพิษอย่างรุนแรง หรือได้รับสารพิษในปริมาณมาก อาจมีอาการขั้นรุนแรง คือ ชักกระตุก กล้ามเนื้อเกร็ง ปัสสาวะ-อุจจาระราด หมดสติ

เมื่อผู้ป่วยได้รับสารพิษ โดยทั่วไปจะมีอาการคล้ายคลึงกันมาก จนไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยได้รับสารพิษชนิดใด การจะช่วยชีวิตผู้ป่วย แพทย์จำเป็นต้องทราบว่าผู้ป่วยได้รับสารพิษประเภทใด เพื่อจะได้ให้การรักษาอย่างถูกต้อง

ดังนั้น ผู้ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษควรสังเกตสภาพแวดล้อมในที่เกิดเหตุ ซึ่งอาจช่วยให้ทราบว่าผู้ป่วยได้รับสารประเภทใด ดังนี้

- สอบถามจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือผู้ที่พบเห็นผู้ป่วยเป็นคนแรก

- เก็บภาชนะที่บรรจุสารพิษหรือสารเคมีที่อาจตกหล่นหรืออยู่ในบริเวณใกล้เคียงมาให้แพทย์ด้วย

- สังเกตจากคราบที่ติดอยู่ตามร่างกายหรือเสื้อผ้า

- สังเกตกลิ่นของสารพิษ บางครั้งอาจได้กลิ่นจากลมหายใจของผู้ป่วย

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษ

ประการแรกต้องทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อนว่าผู้ป่วยได้รับสารพิษประเภทใด เพราะการปฐมพยาบาลและการรักษาย่อมแตกต่างกันตามประเภทของสารพิษ

อุบัติเหตุจากการกลืนกินสารเคมีเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก หากจะปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษด้วยการทำให้อาเจียน ต้องแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่ได้รับสารพิษที่เป็นกรด เนื่องจากหากผู้ป่วยอาเจียนออกมา กรดจะทำให้อวัยวะบอบช้ำหรือบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น

ส่วนการทำให้ผู้ป่วยอาเจียนในกรณีที่ไม่ใช่สารพิษที่เป็นกรด ทำได้ด้วยการล้วงคอผู้ป่วย ให้ดื่มน้ำมากๆ หรือให้กลืนไข่ขาว

ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษเนื่องจากการสูดดม จะมีอาการโดยทั่วไปคือ เจ็บหน้าอก ปวดศีรษะ หูอื้อ ตาพร่ามัว หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก และหมดสติ หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจเสียชีวิตได้ อาการจะรุนแรงมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ได้รับสารพิษ เช่น หากจำเป็นต้องใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในแหล่งที่ต้องสูดดมสารพิษเป็นระยะเวลานาน อาการก็จะรุนแรงมากขึ้น หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวให้รีบนำส่งแพทย์

หากมีอาการผิดปกติขณะปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี เช่น วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ แสบตา แสบจมูก หรือได้กลิ่นผิดปกติ ให้รีบออกจากบริเวณนั้นไปสูดอากาศในที่โล่ง หรือเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท เพื่อให้ความเข้มข้นของแก๊สเจือจางลง หากแก๊สที่รั่วไหลเป็นแก๊สไวไฟ ควรหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่ทำให้เกิดประกายไฟ เช่น ปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

กรณีที่สารเคมีหกรดผิวหนัง ให้พิจารณาว่า สารเคมีนั้นทำปฏิกิริยากับน้ำหรือไม่ หากสารนั้นทำปฏิกิริยากับน้ำ เช่น กรดกำมะถันเข้มข้น ให้ใช้ผ้าสะอาดเช็ดออกจากผิวหนัง แล้วรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที นานอย่างน้อย 15 นาที กรณีที่สารเคมีไม่ทำปฏิกิริยากับน้ำ ให้รีบล้างออกด้วยน้ำทันที นานอย่างน้อย 15 นาที หลังจากนั้นควรอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด กรณีที่สารเคมีหกรดบริเวณที่มีเสื้อผ้าปกคลุม ให้รีบถอดเสื้อผ้า แล้วรีบล้างออกหรืออาบน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์

การสัมผัสสารพิษจะทำให้มีอาการระคายเคืองทางผิวหนัง ได้แก่ เป็นผื่นแดง คัน บวมพอง หรือไหม้ บางรายอาจมีอาการไข้แทรกซ้อน หรือมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงมาก เช่น หากผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ อาจมีผลกระทบไปถึงระบบหายใจ

หากสารเคมีเข้าตา ให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที อย่างน้อย 15 นาที โดยพยายามลืมตาในน้ำและเปิดเปลือกตาออก เพื่อล้างสารเคมีที่ค้างอยู่ใต้เปลือกตาออกให้หมด ระวังอย่าให้น้ำกระเด็นไปถูกตาอีกข้างหนึ่ง ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์ น้ำยาล้างตา หรือยาหยอดตาใดๆ หลังจากล้างตาสะอาดแล้ว ใช้ผ้าก๊อซปิดตาทั้งสองข้าง แล้วรีบไปพบแพทย์

ข้อแนะนำเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัย

- เก็บน้ำยาเคมีภัณฑ์ที่ใช้ภายในบ้านหรือที่อาจเกิดอันตรายให้พ้นมือเด็ก

- จัดข้าวของเครื่องใช้ให้เป็นหมวดหมู่

- อ่านฉลากก่อนการใช้งานทุกครั้ง

- หลังการใช้งาน ให้เก็บเข้าที่ทันที

- ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายภาชนะของเคมีภัณฑ์ทุกชนิด




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล