|
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันจันทร์ ที่ 18 เดือนตุลาคม 2553 ] |
|
รางวัล สมเด็จย่า ยกย่องพยาบาลอเมริกันวางรากฐานการพยาบาลแนวเวชปฏิบัติ |
เพื่อเชิดชูบทบาทของพยาบาล และแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของ สมเด็จพระ ศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงมีต่อวิชาชีพพยาบาลและการผดุงครรภ์ ทางสภาการพยาบาล ได้จัดให้มีการพระราชทานรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมาอย่างต่อ เนื่องเป็นเวลา 10 ปี สำหรับปีนี้ รางวัลอันทรงเกียรติดังกล่าวตกเป็นของ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ลอเร็ตต้า ซี ฟอร์ด" พยาบาลชาวอเมริกัน ผู้วางรากฐานการพยาบาลแนวเวชปฏิบัติเป็นคนแรกของโลก จนกลายเป็นบรรทัดฐานสำคัญของวงการพยาบาล โดยเธอ และ "มิสซูซี่ คอง ซูเอท ฮาร์" นายกสมาคมพยาบาลแห่งสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเจ้าของรางวัลปี 2552 จะเดินทางมาเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จย่า ณ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ ในพระบรมมหาราชวัง เวลา 16.00 น. วันที่ 21 ต.ค.นี้
สำหรับประวัติความเป็นมาของ "ดร.ฟอร์ด" ปัจจุบันเป็นคณบดีประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอสร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก จากการพัฒนาระบบการบริการสุขภาพของชุมชน โดยเป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานการพยาบาลแนวเวชปฏิบัติเป็นคนแรกของโลก อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของพยาบาลที่ดี เพราะมีความมุ่งมั่น และอุทิศตนเพื่องานบริการอย่างแท้จริง
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาการ พยาบาลแนวเวชปฏิบัติ เกิดจากแรงบันดาลใจในการปฏิบัติงาน ระหว่างที่ทำหน้าที่อยู่ในแผนกกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โคโลราโด โดย "ดร.ฟอร์ด" เล็งเห็นถึงปัญหาที่คนไข้ต้องรอคิวเป็นเวลานานๆเพื่อพบแพทย์แค่ไม่กี่นาที เธอจึงเกิดความคิดว่า พยาบาลควรแบ่งเบาภาระของหมอ ด้วยการช่วยตรวจ และคัดกรองผู้ป่วย โดยใช้พื้นฐานความรู้ที่ร่ำเรียนมาอย่างดี
ในปี 2508 "ดร.ฟอร์ด" ได้เสนอความคิดนี้ โดยร่วมมือกับ "นพ.เฮนรี ซิลเวอร์" แห่งมหาวิทยาลัย โคโรลาโด จัดให้พยาบาลได้รับการอบรมเพิ่มเติมด้านทฤษฎี และการฝึกปฏิบัติ พร้อมจัดให้มีแพทย์เป็นพี่เลี้ยง ที่เรียกว่า "Precep-torship" ทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น เพื่อให้มีความแม่นยำมากขึ้น ก่อนปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจคัดกรองโรค ซึ่งผลจากการทดลองดังกล่าว สามารถช่วยลดเวลาการตรวจของแพทย์ได้อย่างมาก และผู้ป่วยยังได้รับคำแนะนำจากพยาบาลอย่างละเอียดในการปฏิบัติตนเพื่อรักษา อาการป่วย และนี่เองคือที่มาของการขยายบทบาทพยาบาลตามแนวทางเวชปฏิบัติ ที่กลายเป็นแนวทางหลักในการให้บริการคนไข้ทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน.
| |
|
|