หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันจันทร์ ที่ 18 เดือนตุลาคม 2553 ]
ภาวะไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง...ภัยใกล้ตัวที่คนไทยควรทราบ


ภาวะไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง หรือเรียกกันในทางการแพทย์ ว่า Chronic Hepatitis-B นับว่าเป็นภัยร้ายใกล้ตัวคนไทยที่สามารถทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งเซลล์ตับในที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นโรคมะเร็งที่มีการเสียชีวิตมากที่สุด ที่สำคัญโรคนี้มักไม่มีมีอาการใดๆ บางรายอาจมีชีวิตยืนยาวได้เท่าคนปกติ หากมีจำนวนเชื้อไวรัสในเลือดไม่มากนักและไม่มีร่องรอยที่แสดงว่ามีการอักเสบของเนื้อตับเกิดขึ้น ในประเทศไทยพบว่า ร้อยละ 90 ขอผู้ป่วยจะเป็นทารกเกิดใหม่โดยได้รับเชื้อจากมารดาเป็นพาหะ อีกทั้งทารกยังไม่มีภูมิต้านทานร่างกายที่เพียงพอที่จะขจัดไวรัสออกจากร่างกายหลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อนี้แล้ว นอกจากนี้เชื้อไวรัสดังกล่าวยังสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ทำนองเดียวกันกับไวรัส HIV ที่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับสารคัดหลั่ง การใช้เข็มและสิ่งมีคมร่วมกัน การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันตลอดจนการได้รับถ่ายเลือดเป็นต้น

จากรายงานผลการตรวจแอนติเจนไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) ในผู้บริจาคโลหิตของศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทยใน พ.ศ. 2552 พบว่า ผู้บริจาคโลหิตมีจำนวน 321,825 ราย อายุระหว่าง 18-60 ปี เป็นเพศชาย ร้อยละ 47 เพศหญิง ร้อยละ 53 เป็นผู้บริจาคโลหิตรายใหม่ 91,111 ราย และผู้บริจาคโลหิตประจำ 230,714 ราย พบความชุกของภาวะไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง (HBsAg positive) ในผู้บริจาคโลหิตรายใหม่ ร้อยละ 2.7 และในผู้บริจาคโลหิตประจำ ร้อยละ 0.28 จึงอาจประมาณการได้ว่า ณ ปัจจุบันนี้ มีความชุกของภาวะไวรัสตับอักเสบบี ในประชากรไทย ประมาณ 1.7 ล้านคน และคาดการณ์ได้ว่าจะมีผู้ที่ทยอยป่วยเป็นมะเร็งตับประมาณปีละ17,000 คน หรือประมาณร้อยละ 1 ต่อปี

ทั้งนี้เราสามารถตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV) ได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อค้นหาแอนติเจนของไวรัสตับอักเสบบีในเลือดโดยเฉพาะแอนติเจนชนิดผิว (Hepatitis-B Surface Antigen หรือ HBsAg) ซึ่งหลายๆท่านอาจตรวจพบเชื้อภายหลังจากการบริจาคโลหิต ตรวจร่างกายประจำปี และจากการตรวจติดตามเมื่อหายป่วยจากไวรัสโรคตับอักเสบแล้ว อาการที่แสดงภาวะมีการอักเสบของเนื้อตับ ผู้ป่วยจะทราบได้จาก “การตรวจเอ็นซัยม์ตับ” (ALT) การตรวจพบอีแอนติเจนในเลือด แสดงว่ามีปริมาณของเชื้อมากและค่าของเอ็นซัยม์ตับที่สูงกว่าปกติแสดงถึงภาวะมีการอักเสบของเนื้อตับ ในประเทศทางตะวันตกที่ประชากรมีความชุกของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีต่ำ พบว่ามีความชุกของอีแอนติเจนต่ำด้วย ส่วนในประเทศทางเอเซียซึ่งมีประชากรมีความชุกของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสูง พบว่ามีความชุกของอีแอนติเจนสูงด้วย ขณะที่ การศึกษาในประเทศแคนาดาพบอีแอนติเจน ในผู้ที่มีภาวะไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังเพียงร้อยละ 6 แต่ในประเทศอินเดียพบอีแอนติเจนในผู้ที่มีภาวะไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังสูงถึงร้อยละ 45 และพบว่าร้อยละ 76 ของจำนวนดังกล่าวนี้มีภาวะ การอักเสบของเนื้อตับเกิดร่วมด้วย ซึ่งปัจจัยการเกิดภาวะ การอักเสบของเนื้อตับเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด ตับแข็งและมะเร็งตับในเวลาต่อมา

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีภาวะไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังควรปฏิบัติตนดังนี้

1. งดดื่มเหล้าและสารประเภทแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพราะสารดังกล่าวซ้ำเติมให้เซลล์เนื้อตับเกิดการอักเสบมากขึ้น

2. ควรพบแพทย์เป็นระยะๆ (ทุก 3-6 เดือน) เพื่อติดตามตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัสและร่องรอยการอักเสบของเนื้อตับ รวมทั้งตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งตับในระยะเริ่มแรก

3. ผู้ที่มีปริมาณเชื้อไวรัสในเลือดสูงและมีร่องรอยการอักเสบของเนื้อตับควรได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส หรือได้รับทั้งยากินและยาฉีด เพื่อลดจำนวนของเชื้อไวรัสและลดการอักเสบของเนื้อตับ สำหรับยากินต้านไวรัสมีหลายชนิดและต้องกินติดต่อกันเป็นเวลานานอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อไวรัสต้านยา ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล

เพียงแค่ท่านหมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รักษาสุขภาพให้ดีหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพประจำปี เพียงเท่านี้ก็สามารถไกลจากไวรัสตับอักเสบบีได้แล้ว

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัยเวช นุชประยูร
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์(หลักสี่)





 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล