|
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันจันทร์ ที่ 18 เดือนตุลาคม 2553 ] |
|
สสส.รุกสร้างเยาวชนร่วมแก้ปัญหาชุมชน |
นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการบริหารแผนคณะ6 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงโครงการค่ายอาสาศึกษาปัญหาสังคมที่สสส.และมูลนิธิโกมลคีมทอง ร่วมออกแบบกิจกรรมเพื่อให้เยาวชนในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศใช้เวลาช่วงปิดเทอมตุลาคมนี้สร้างประสบการณ์ว่า ขณะนี้กลุ่มนักศึกษาทั้ง26 โครงการที่ได้รับการคัดเลือกได้เริ่มดำเนินไปบ้างแล้ว โดยกิจกรรมทั้งหมดยังเน้นไปที่การสร้างกระบวนการแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของชุมชนในประเด็นต่างๆ อาทิ ระบบนิเวศ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม นโยบายการพัฒนา ฯลฯ
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า นวัตกรรมที่จะเกิดจากการทำกิจกรรมนี้ คือการที่เยาวชนจะเข้าไปถ่ายโอนความรู้ร่วมกับชาวบ้านในชุมชน มีเป้าหมายเดียวกันคือการมีคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆที่ดีขึ้น สามารถต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมแล้วได้ มิใช่เพียงแค่การเข้าพื้นที่ไปทำกิจกรรมแล้วจบออกมา ซึ่งในระหว่างทำกิจกรรมนี้กลุ่มพี่เลี้ยงจากมูลนิธิโกมลคีมทองจะให้คำแนะนำในเรื่องการทำงานอย่างเป็นระบบ เกิดการบูรณาการโดยใช้ข้อมูลที่เป็นรูปธรรม และช่วยพัฒนาทักษะการมีส่วนร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาชุมชนที่เชื่อมโยงกับนโยบายการพัฒนาซึ่งเป็นแนวทางที่มีการจัดอบรมมาแล้วก่อนหน้านี้
อย่างเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อเยาวชนได้ลงพื้นที่ กิจกรรมที่จะลงมือทำต้องไม่จบแค่ความเข้าใจที่ว่าความพอเพียงคืออะไร แต่ต้องมองถึงการนำไปใช้ให้เกิดผลจริงๆ เช่น ในพื้นที่จ.นครพนมที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทอผ้าพื้นบ้านซึ่งควรอนุรักษ์สืบสาน แต่ที่ผ่านมายังขาดการต่อยอด เมื่อเยาวชนค่ายกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนอาชีวะได้ลงไปศึกษาชุมชน จึงได้เกิดการนำต้นทุนดังกล่าวนี้ไปต่อยอดกับความรู้เรื่องการผลิตถุงที่มีอยู่เดิม โดยที่วัตถุดิบที่นำมาผลิตถุงนั้นเป็นใยสัปปะรดซึ่งเป็นของเหลือจากการทำเกษตรกรรม ดังนั้นผลที่ได้จากการทำกิจกรรมนี้จึงมากกว่าการเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มรายได้ แต่ยังช่วยพัฒนาชุมชนและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในเวลาเดียวกันนายวีรพงษ์กล่าว
นายวีรพงษ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เนื่องจากเดือนตุลาคมเป็นช่วงที่มีเวลาปิดภาคเรียนสั้น กิจกรรมในช่วงดังกล่าวจึงเน้นไปที่ความกระชับ ตรงประเด็น เน้นไปที่กระบวนการทางความคิดในการตั้งโจทย์ความต้องการของคนในชุมชนได้
นางสาว วีรินทร์วดี สุนทรหงส์ หัวหน้าโครงการค่ายอาสาศึกษาปัญหาสังคม กล่าวว่า เยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนกลุ่มใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ทำค่ายมาก่อน เนื่องด้วยโครงการไม่ได้ให้ความสำคัญที่ผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้โครงการยังได้กระจายโอกาสโอกาสเยาวชนและพื้นที่ชุมชนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเท่าเทียม เพียงแต่เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมแล้ว พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเหมาะสมในบริบทต่างๆมากที่สุด จึงมีการทำกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าวพื้นที่อื่น
| |
|
|