|
ผู้จัดการออนไลน์ [ วันจันทร์ ที่ 18 เดือนตุลาคม 2553 ] |
|
แพทย์กระดูก ชี้ผู้สูงอายุไทย เสี่ยงกระดูกสะโพกหักสูง |
แพทย์ศัลยกรรมกระดูก รพ.ลำปาง เผยผลการศึกษาพบผู้สูงอายุชาวลำปาง ป่วยจากกระดูกสะโพกหักเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ต่อปี ผู้หญิงสูงกว่าชาย 2 เท่าตัว หญิงเริ่มป่วยอายุ 74 ปี ชายอายุ 75 ปี สาเหตุร้อยละ 90 เกิดจากหกล้ม ผู้สูงอายุที่มีปัญหากระดูกพรุนด้วย จะเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง แนะประชาชนควรป้องกันปัญหากระดูกพรุนตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่มสาว ลดความเสี่ยงเมื่อก้าวสู่วัยสูงอายุ
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรมกระดูก ประจำโรงพยาบาลลำปาง เปิดเผยว่า ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง อุบัติการณ์กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุจังหวัดลำปาง ผลการศึกษา 10 ปี และการพยากรณ์ ซึ่งจะเป็นข้อมูลวิชาการประกอบการวางแผนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุไทย ซึ่งมีทิศทางเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่อยู่ในภาวะเสื่อมของอวัยวะต่างๆ จึงต้องมีการวางแผนการดูแลอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้กระดูกสะโพกหัก เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ พบผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหากระดูกพรุนอยู่แล้ว จะมีอาการรุนแรงกว่าผู้สูงอายุทั่วไป ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เสียชีวิต และเสียค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลรักษา
โดยมีรายงานพบปัญหากระดูกสะโพกหักสูงสุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วได้แก่ กลุ่มสแกนดิเนเวียและอเมริกาเหนือ ส่วนในทวีปเอเชียพบมากที่ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่นและไต้หวัน นักวิจัยประมาณว่าจำนวนผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักทั่วโลกในพ.ศ. 2568 มีประมาณ 2 ล้าน 6 แสนราย ร้อยละ 37 อยู่ในทวีปเอเชีย และพ.ศ. 2593 หรืออีก 40 ปีข้างหน้า จะเพิ่มเป็น 4 ล้าน 5 แสนราย ร้อยละ 45 อยู่ในทวีปเอเชีย โดยผู้สูงอายุที่กระดูกสะโพกหัก จะมีอัตราเสียชีวิตภายในปีแรกร้อยละ 17-28 มีรายงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้ป่วยดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษารายละประมาณ 116,000 บาทต่อปี
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอุบัติการณ์กระดูกสะโพกหักสูงขึ้น เพราะประชาชนมีอายุยืนขึ้น ขณะนี้ไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 7 ล้านคน แต่ที่ผ่านมา สถิติการเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ ยังต่ำกว่าความเป็นจริงมาก พบได้ประมาณแสนละ 7 คน โดยยังไม่เคยมีรายงานการศึกษาผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักและคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยในอนาคตมาก่อน ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษา ปัญหาดังกล่าวของจังหวัดลำปาง เพื่อหาลักษณะและอัตราการเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปของจังหวัดลำปาง ระหว่างพ.ศ. 2540-2549 และคาดทำนายจำนวนผู้ป่วยในอีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อนำมาวางแผนป้องกันและจัดการกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
โดยเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไป อายุสูงสุดคือ 80 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยว่ากระดูกสะโพกหักและรักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์ลำปางระหว่างพ.ศ. 2540-2549 พบมีผู้ป่วยทั้งหมด 2,572 ราย เป็นหญิง 1,822 ราย ที่เหลืออีก 750 รายเป็นชาย จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี ผู้หญิงจะเริ่มป่วยอายุประมาณ 75 ปี ขณะที่ผู้ชายเริ่มเมื่ออายุประมาณ 74 ปี
นพ.ณัฐพงศ์กล่าวต่อไปว่า จุดที่เกิดการหักของกระดูกสะโพกมากที่สุดคือ บริเวณส่วนหัวของกระดูกขาท่อนบน ที่มีชื่อว่าโทรแชนเตอร์ (Trochanter) ซึ่งกระดูกส่วนนี้จะเป็นส่วนที่รองรับกับเบ้ากระดูกสะโพกทั้ง 2 ข้าง โดยส่วนปลายกระดูกจะมีลักษณะเป็นหัวกลมๆ และคอค่อนข้างกิ่วคล้ายกับหัวฆ้อน เมื่อโดนแรงกระแทกจึงหักง่าย พบมากถึงร้อยละ 59-66 ยิ่งอายุมากก็ยิ่งพบปัญหามาก โดยในรอบ 10 ปี เพศหญิงป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 153 ส่วนชายป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 136
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ผลจากการศึกษาปัญหากระดูกสะโพกหักตลอด 10 ปีในจังหวัดลำปาง สามารถพยากรณ์ได้ว่าผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกสะโพกหัก ซึ่งจังหวัดลำปางมีมีอัตราเพิ่มขึ้นของคนวัยนี้ร้อยละ 2.6 ต่อปี จึงคาดว่าในปี 2559 จังหวัดลำปางจะมีผู้สูงอายุกระดูกสะโพกหักจำนวน 1,568 ราย หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ประมาณ 3 เท่าตัว และจะเพิ่มเป็น 2,128 รายในปี 2569
ทั้งนี้สาเหตุกระดูกสะโพกหัก ส่วนใหญ่เกิดมาจากปัญหากระดูกพรุน ซึ่งคนไทยขณะนี้มีแนวโน้มใช้ชีวิตแบบคนเมืองมากขึ้น ออกกำลังกายน้อยลง กินอาหารที่ไม่ได้ส่งเสริมความแข็งแรงของมวลกระดูก เช่นกินอาหารจานด่วนที่มีแต่เนื้อ ไม่มีกระดูก โดยอาหารที่จะส่งเสริมให้มีมวลกระดูกมากขึ้น ก็คือ นม หรือจำพวกปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งตัว เพราะมีแคลเซียมมาก นอกจากนี้จะต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการยึดของกล้ามเนื้อกับกระดูกได้ดีขึ้น โดยการป้องกันปัญหาโรคกระดูกพรุน จะต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่มสาว เพื่อสะสมความแข็งแรงไปเรื่อยๆ เป็นต้นทุนสุขภาพ เมื่อก้าวสู่วัยสูงอายุก็จะมีปัญหาน้อยน้อยลง หรือไม่เกิดปัญหาเลย
| |
|
|