ผู้จัดการออนไลน์ [ วันจันทร์ ที่ 18 เดือนตุลาคม 2553 ]
สธ.ระดมแพทย์ช่วยปากช่อง เตรียมแผนรับมือน้ำท่วม รพ.มหาราชฯ


สธ.จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วมอย่างเต็มที่ฟรีทุกพื้นที่ ผลกระทบจากน้ำท่วมที่ อ.ปากช่อง ทำให้รถพยาบาลวิ่งส่งผู้ป่วยหนักจาก รพ.ปากช่องนานา ไปที่ อ.เมืองนครราชสีมา ยากลำบาก ใช้เวลาเดินทางไปกลับเพิ่มจาก 3 เป็น 6 ชั่วโมง ต้องเปลี่ยนส่งรักษาที่ รพ.สระบุรีแทน ส่วน รพ.มหาราชนครราชสีมาขณะนี้มีความเสี่ยงสูงน้ำอาจท่วม เตรียมแผนรับมือป้องกันผลกระทบทั้งหมดแล้ว

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้าท่วมในขณะนี้ว่า นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ประสบภัย จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้การดูแลสุขภาพประชาชนทั้งโรคทางกายและผลกระทบจิตใจ รวมทั้งแจกยาสามัญประจำบ้านให้ฟรีอย่างเต็มที่ที่จังหวัดนครราชสีมาวันนี้จัดหน่วยแพทย์ 4 ทีมใหญ่ที่ อ.ปากช่อง อ.ปักธงชัย และด่านขุนทด ส่วนที่สระแก้วจัดหน่วยแพทย์บริการ 3 ตำบล คือ ท่าข้าม บ้านในหนองไซ และฟากห้วย โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมพร้อมหน่วยแพทย์ฉุกเฉินพร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง หากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทร.แจ้งที่หมายเลข 1669 ฟรี โดยมาตรการหลักในการดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุขจะเน้นที่การให้การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง ไม่ให้มีปัญหาขาดยา และการป้องกันการเสียชีวิตจากงูพิษกัด การฆ่าตัวตาย และการเสียชีวิตจากโรคที่มากับน้ำท่วม ที่สำคัญและพบได้บ่อย คือ โรคฉี่หนู

นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีน้ำท่วมเส้นทางที่ อ.สีคิ้ว และสูงเนินด้วย ส่งผลให้การส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักจาก รพ.ปากช่องนานา ไปรักษาต่อที่ อ.เมือง คือที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา เป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้เส้นทางอ้อม ใช้เวลาส่งผู้ป่วยนานกว่าเดิม 2 เท่าตัว ปกติใช้เวลาไปกลับ 3 ชั่วโมง แต่เมื่อวานนี้ส่งผู้ป่วย 2 ราย ใช้เวลาเดินทางไป-กลับรายละ 6 ชั่วโมง จึงได้ปรับแผนให้ส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลสระบุรีแทน ซึ่งเดินทางสะดวกใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง

ทางด้าน แพทย์หญิงสุวรรณี ตั้งวีระพงษ์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ รพ.มหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบจากฝนตกหนักครั้งนี้ รพ.มหาราชฯมีความเสี่ยงถูกน้ำท่วมค่อนข้างสูง ซึ่งเคยมีบทเรียนเมื่อช่วง 3 ปีก่อน ในปีนี้จึงได้วางแผนป้องกันผลกระทบอย่างเต็มที่ โดยตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังสถานการณ์ใกล้ชิด ซักซ้อมความพร้อมเจ้าหน้าที่ตามแผนปฏิบัติการน้ำท่วมวารี 1, 2, 3 ล่วงหน้า ขนย้ายเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ไว้ที่ปลอดภัย พร้อมทั้งประสานฝ่ายทหารตำรวจขอสำรองยานพาหนะรับส่งผู้ป่วยและญาติ และทำกระสอบทราย 300 ถุง กั้นจุดที่มีความเสี่ยง 2 จุด คือ ที่โรงซักฟอกเสื้อผ้าผู้ป่วย โรงครัวทำอาหารผู้ป่วย และติดตั้งเครื่องสูบน้ำในโรงพยาบาลเพิ่มเป็น 3 เครื่อง จัดระบบสำรองไฟฟ้าฉุกเฉินครบถ้วน สามารถใช้การได้ทันทีหากกระแสไฟฟ้าหลักดับ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่องานบริการผู้ป่วย ซึ่งต่อวันมีผู้ป่วยนอนรักษาประมาณ 1,400 ราย และมีผู้ป่วยตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกในวันราชการเฉลี่ยวันละ 4,000 ราย โดยจะประชุมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในบ่ายวันนี้




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล