หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันอังคาร ที่ 22 เดือนตุลาคม 2553 ]
ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังองค์รวมเชื่อมประสานคนไข้-อสม.-รพ.


"หากคนในชุมชนไม่ดูแลช่วยเหลือกันและกันแล้วใครจะมาช่วยเรา อยากเห็นชุมชนพึ่งตนเองได้" ความคิดเล็กๆ ที่เกิดขึ้นหลังเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 3-4 ปี ส่งผลให้ "นายพิชสุพงศ์ บำรุงชู" รองประธานอสม.ชุมชนเทศบาล 4 อ.เมือง จ.สตูล สนใจและให้ความสำคัญเรื่องการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนที่มีราว 1,610 คน 420 ครัวเรือนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มี 98 คนและผู้พิการ 22 คน

ทุกอย่างเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2551 โดยกลุ่มอสม.ของชุมชน จำนวน 26 คนลงพื้นที่สำรวจผู้สูงอายุและแยกประเภทคนจน คนฐานะปานกลางและคนรวย ตามด้วยการสำรวจผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันและเบาหวานทุกเดือน ด้วยการวัดความดันและเจาะเลือดวัดระดับน้ำตาล หากพบเป็นกลุ่มเสี่ยงก็จะเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าเจอเป็นผู้ป่วยจะแนะนำให้ไปตรวจยืนยันผลกับแพทย์อีกครั้ง นอกจากนี้ จะลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วยและผู้พิการอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้คำปรึกษาในการดูแลตนเองหรือเป็นเพื่อนคุยคอยให้กำลังใจ จากความเข้มแข็งของชุมชนเช่นนี้ รพ.สตูลจึงสนใจที่จะเข้ามาเปิด "ศูนย์สุขภาพชุมชน" ในพื้นที่


นางนูรดีนี หมัดเส็น พยาบาลวิชาชีพ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม รพ.สตูล ปฏิบัติงานที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเทศบาล 4 บอกว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่เข้ารับบริการการตรวจรักษาในโรงพยาบาลสตูลแออัดมาก จึงคัดแยกผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม คือ สีเหลืองที่สามารถคุมระดับน้ำตาลได้ สีเขียวมีโรคแทรกซ้อนไม่มาก และสีแดงซึ่งมีโรคแทรกซ้อน ผอ.รพ.จึงต้องการที่จะจัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการแก่ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ไม่ต้องรอคิวตรวจนานที่โรงพยาบาล ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล โดยศูนย์สุขภาพชุมชนเทศบาล 4 ถือเป็นศูนย์สุขภาพชุมชนแห่งที่ 3 ภายใต้การดูแลของรพ.สตูล

หลังเปิดบริการ 5 เดือนนับตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2553 ศูนย์สุขภาพชุมชนแห่งนี้ ดูแลผู้ป่วย 52 คน ผู้ป่วยความดันอย่างเดียวประมาณ 10 คน และผู้ป่วยความดันและเบาหวาน 42 คน มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ 7 คน ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ 3 คน พยาบาลเทคนิค 1 คน นักวิชาการสาธารณสุข 1 คน และเจ้าหน้าที่เทศบาล 2 คน โดยจะมีแพทย์จากรพ.สตูลมาตรวจเดือนละ 1 ครั้ง แต่หากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจะปรับเป็น 2 สัปดาห์ครั้ง และในการมารับการตรวจแต่ละครั้งจะมีอสม.เข้ามาช่วยงานในการซักประวัติ ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน วัดรอบเอวและเจาะเลือด

การดูแลผู้ป่วยของศูนย์เป็นแบบองค์รวม ตั้งแต่ช่วงไม่ป่วยเป็นโรค โดยมีห้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่สุขศึกษาของรพ.สตูลคอยให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร การออกกำลัง และอื่นๆ ที่จะช่วยให้ปลอดจากโรค ช่วงป่วยเป็นโรค ไม่เพียงแต่ให้บริการการตรวจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการคัดกรองภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น จะได้เข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วก่อนที่จะลุกลามจนอาการหนักและการฟื้นฟูร่างกายด้วย

อาทิ การตรวจเท้า 10 จุด ทดสอบอาการเท้าชาที่เป็นผลข้างเคียงอย่างหนึ่งของผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งจะสะท้อนปัญหาปลายประสาทบริเวณเท้าไม่ดี เลือดไหลเวียนไม่ดี ทำให้เป็นแผลง่าย หากพบอาการเท้าชาจะส่งไปยังโรงพยาบาลพิจารณาทำวารีบำบัด เพราะหากปล่อยไว้ไม่ฟื้นฟู อาจเป็นแผลจนต้องตัดขา รวมถึงการให้ผู้ป่วยฝึกบริหารเท้า โดยเดินบนทางเดินพิเศษที่มีลักษณะขรุขระและการฉีกกระดาษด้วยเท้า เป็นต้น นางขวัญตา อัมพวัน อายุ 53 ปี ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดัน กล่าวอย่างยิ้มแย้มว่า เดิมทีต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งตนต้องโยกรถโยกไปมีความลำบากเพราะโรงพยาบาลอยู่ไกลจากบ้านพอสมควร แต่เมื่อมีศูนย์สุขภาพในชุมชน ทำให้ไม่ต้องใช้เวลาในการเดินทางและรอแพทย์เป็นเวลานาน ที่สำคัญที่ศูนย์แห่งนี้ดูแลดี เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน และการให้ความรู้ในการช่วยให้ปฏิบัติตัวให้ห่างโรค และมีอสม.คอยไปเยี่ยมเยียนที่บ้านทำให้มีกำลังใจ แถมลดรายจ่าย

พญ.เขมรัศมี ขุนศึกพญาเม็งราย ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อ 20 ปีก่อนมีผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันราว 7-10% แต่ปัจจุบันมีถึง 23% และทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่อตา สมองและหัวใจได้ง่าย จนอาจนำสู่ความพิการ ซึ่งล้วนเป็นโรคที่มีค่าดูแลรักษาค่อนข้างสูง ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เป็นโรคเหล่านี้จึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเริ่มจากชุมชนที่เป็นเหมือนต้นน้ำในการปรับปรุงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจนอาจเป็นตัวก่อให้เกิดโรค เช่น การรับประทานอาหารจานด่วนหรือฟาสต์ฟู้ด ที่ขณะนี้ไม่ได้มีอยู่แต่ในพื้นที่เมืองเท่านั้น แต่ซึมลึกถึงระดับชุมชนในต่างจังหวัด ขณะที่ปลายน้ำอย่างสถานพยาบาลต่างๆ จะต้องดำเนินการให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้เร็ว เพื่อลดอัตราตายและพิการ หากทำได้เช่นนี้เชื่อว่าจำนวนคนไทยที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังจะลดลงในอนาคต

พวงชมพู ประเสริฐ




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล