|
ไทยโพสต์ [ วันอังคาร ที่ 11 เดือนมกราคม 2554 ] |
|
7วันอันตรายคุมไม่อยู่ยอดคนตายพุ่ง |
ศวปถ.เผย 7 วันอันตรายช่วงปีใหม่ล้มเหลว จำนวนอุบัติเหตุลด แต่คนตายเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว แนะตำรวจ-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลกลับมาทบทวน เน้นบังคับใช้กฎหมายตลอดปี เสนอ 5 นโยบายหลักลดอุบัติเหตุทางถนน
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) สรุปข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุในช่วง 7 วันระวังอันตราย คือ ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 53 ถึง 4 มกราคม 54 ว่า จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุลดลงจากปี 2553 ร้อยละ 1.05 (เกิดเหตุ 3,497 ครั้ง ลดลง 37 ครั้ง) การบาดเจ็บต้องรับไว้ในโรงพยาบาลลดลงร้อยละ 2 (จำนวน 3,750 ราย ลดลง 77 คน) แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.17 (เสียชีวิต 358 เพิ่มขึ้น 11 ราย) โดยสาเหตุสำคัญยังเป็นเรื่องของการเมาแล้วขับร้อยละ 41.24 รองลงมา คือ ขับเร็วร้อยละ 20.42 ทั้งนี้ ร้อยละ 70 คนที่บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นคนในชุมชน-หมู่บ้าน โดย 2 ใน 3 ของการเสียชีวิตเกิดในช่วงกลางคืน
"ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ทบทวน เพื่อหามาตรการแก้ไขและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป"
นพ.ธนะพงษ์กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าแม้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาจะมีการตั้งด่านตรวจเพิ่มขึ้น แต่จำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตยังสูงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยสัดส่วน 2 ใน 3 เกิดในช่วงกลางคืน ดังนั้น การออกแบบจุดตรวจ จุดสกัด การตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ในช่วงกลางคืนจึงมีความสำคัญที่ต้องนำข้อมูลกลับมา ทบทวน และควรเพิ่มลักษณะการตรวจโดยใช้วิธีสุ่มตรวจให้กระจายครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง และเพิ่มเวลาในช่วงกลางคืนมากขึ้น
"อย่างไรก็ตาม ชีวิตของคนไทยมีความสำคัญ ไม่แต่เฉพาะในช่วงเทศกาล การบังคับใช้กฎหมายจึงไม่ใช่แค่เพียงในช่วง 7 วันระวังอันตรายเท่านั้น แต่ควรทำต่อเนื่องทุกวันตลอดปี" นพ.ธนะพงษ์กล่าว พร้อมกับเสนอว่า รัฐบาลควรมีนโยบาย
1.เพิ่มทรัพยากรให้แก่สำนักงานตำ รวจแห่งชาติให้เพียงพอ อาทิ อุปกรณ์การตรวจเมา อุปกรณ์การตั้งจุดตรวจ รวมทั้งค่าตอบแทนในการตั้งจุดตรวจ
2.ลดค่าใช้จ่ายในจุดที่ไม่ส่งผลต่อความปลอดภัยทางถนน แต่เน้นเพิ่มความร่วมมือของท้องถิ่นและเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมสอดส่องดูแล
3.เพิ่มการสื่อสารประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะในประเด็นที่จะชี้ให้เห็นว่าตำรวจออกมาบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความปลอดภัย ไม่ใช่เรื่องของการจับ-ปรับอย่างเดียว
4.นำข้อมูลมาวิเคราะห์ออกแบบการบังคับใช้ให้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ต้องเพิ่มกวดขันเรื่องเมาแล้วขับ การสวมหมวกนิรภัยครอบคลุม 100% ที่สำคัญคือการมีข้อมูลกระทำความผิดซ้ำ เพราะการรู้ว่าผู้ขับขี่กระทำความผิดซ้ำจะช่วยให้ตำรวจวางบทลงโทษผู้กระทำความผิดได้อย่างเหมาะสม
6.ใช้ข้อมูลเพื่อติดตามกำกับอย่างต่อเนื่อง โดยผู้บริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องรู้ว่าจังหวัดใดมีผลงานด้านการบังคับใช้กฎหมายเพียงใด และถ้ามีข้อมูลบ่งชี้ว่าจังหวัดนี้มีการตายจากเมาแล้วขับ แต่ไม่มีการตรวจจับดำเนินคดีเมาแล้วขับ ก็ต้องหามาตรการเพื่อกำกับให้การทำงานตอบโจทย์ปัญหาของพื้นที่มากขึ้น.
| |
|
|