ผู้จัดการออนไลน์ [ วันอังคาร ที่ 11 เดือนมกราคม 2554 ]
เรียนรู้การปฏิรูประบบสุขภาพของไต้หวัน


โดย..นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี

"...สิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการ คือ การปฏิรูปเครือข่ายระบบบริการสุขภาพ กระจายอำนาจให้ระดับเขต ทั้งในการผลิต การกระจายบุคลากร โดยมีมหาวิทยาลัยในแต่ละเขตร่วมสนับสนุน เพิ่มจำนวนเตียงและหน่วยบริการให้เพียงพอ รวมทั้งการดูแลประชาชนในเขตของตัวเองอย่างบูรณาการ..."

ไต้หวันเป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบสุขภาพที่น่าสนใจ หากเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่าไต้หวันใช้เม็ดเงินเพียง 6.1% ของ GDP ในเรื่องสุขภาพ ขณะที่สหรัฐอเมริกาใช้เม็ดเงินประมาณ 16% อังกฤษ 8.4% ญี่ปุ่น 8.1% และ เกาหลีใต้ 6.8% ตามลำดับ (ข้อมูลจาก OECD Health data ปี 2550) ด้วยงบประมาณดังกล่าวไต้หวันสามารถทำให้ประชากรของตนมีอายุขัยเฉลี่ย ผู้หญิง เท่ากับ 81.7 ปี ผู้ชาย เท่ากับ 75.5 ปี และอัตราตายของทารกแรกเกิดที่อยู่ในระดับแนวหน้า (4.7 ต่อทารกแรกเกิด 1,000 คน) ดีกว่าสหรัฐอเมริกาเสียอีก ผู้หญิง เท่ากับ 80.7 ปี ผู้ชาย เท่ากับ 75.2 ปี และ 6.7 ต่อทารกแรกเกิด 1,000 คน


กว่าจะมาถึงจุดนี้ไต้หวันได้ปฏิรูประบบสุขภาพมาของตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 4 ประเด็นที่สำคัญ คือ 1) การปฏิรูปเครือข่ายบริการสุขภาพ (medical network reform) ก่อนการปฏิรูปไต้หวันก็เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาเรื่องการกระจายหมอและโรงพยาบาลที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ปี 2528 ไต้หวันเริ่มแบ่งการระบบสุขภาพออกเป็น 17 เขต กระจายอำนาจให้เขตมีบทบาทมากขึ้น เขตมีหน้าที่ในการผลิต การกระจายบุคลากร การจัดตั้งหน่วยบริการ และดูแลประชาชนของตนเอง และรัฐบาลยังจัดตั้งกองทุนพัฒนาบริการทางการแพทย์ (Medical care development fund) โดยมีเงินสนับสนุนและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจูงใจให้ภาคเอกชนไปตั้งหน่วยบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ชนบท ทำให้การกระจายตัวของแพทย์และหน่วยบริการดีขึ้น

2) การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ (Health insurance reform) โดยได้รวมหลักประกันสุขภาพทุกระบบ เช่นแรงงาน ข้าราชการ และผู้ด้อยโอกาส เข้าด้วยกันเป็นแบบภาคบังคับระบบเดียว (single fund) โดยประชาชนที่มีรายได้ทุกคนต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพ ที่มีสัดส่วนที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับอาชีพและฐานะทางการเงิน การไปใช้บริการในแต่ละระดับก็มีการกำหนดการร่วมจ่าย (co-payment) ทั้งค่าบริการและค่ายา ผลของการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพนั้นทำให้คนไต้หวันโดยเฉพาะคนจนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์มากขึ้น และไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย

3) การปฏิรูประบบข้อมูลสารสนเทศ (Health information reform) คนไต้หวันทุกคนมีบัตรสุขภาพแบบอิเลกทรอนิกส์ที่บันทึกข้อมูลการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาล ผลการตรวจวินิจฉัยต่างๆ ไว้ในบัตร เมื่อไปรับบริการที่ใดแพทย์ก็สามารถเรียกดูประวัติการรักษาที่ผ่านมาได้ทันที ทำให้เกิดการรักษาที่ต่อเนื่อง ไม่ซ้ำซ้อน เป็นประโยชน์ในการประสานงาน การวางแผน และการบริหารจัดการต่างๆ ส่งผลให้เกิดการประหยัดทรัพยากรในระยะยาว

4) การพัฒนาแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัว (family physicians development) เพื่อตอบสนองต่อระบบสุขภาพที่เปลี่ยนแปลง เพราะการแพทย์ปัจจุบันมาเน้นแต่การรักษาโรค ขณะที่ภาวะโรคเรื้อรังที่เพิ่มมากขึ้น สังคมผู้สูงอายุ ต้องอาศัยการดูแลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไต้หวันต้องเร่งผลิตแพทย์สาขาดังกล่าว พร้อมทั้งได้สร้างแรงจูงใจต่างๆ เพื่อให้มีแพทย์มาเรียนมากขึ้น แลยังเน้นการเปลี่ยนวิธีคิดและการผลิตบุคลากรของโรงเรียนแพทย์ เพื่อพัฒนาแพทย์สาขานี้ให้เพียงพอกับความต้องการ

ลองย้อนมาดูบ้านเรา ที่ผ่านมาเราปฏิรูปเพียงด้านเดียว คือ ระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ทำได้เพียงครึ่งๆ กลาง ๆ ทิ้งให้ประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงิน ขณะที่คนไทยกว่า 55 ล้านคนที่เหลือไม่จำเป็นต้องจ่าย นอกจากนั้นสิทธิประโยชน์ที่เขาเหล่านั้นได้รับกลับด้อยกว่า ผู้ที่ไม่ต้องจ่ายเงิน

ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการ คือ การปฏิรูปเครือข่ายระบบบริการสุขภาพ กระจายอำนาจให้ระดับเขต ทั้งในการผลิต การกระจายบุคลากร โดยมีมหาวิทยาลัยในแต่ละเขตร่วมสนับสนุน เพิ่มจำนวนเตียงและหน่วยบริการให้เพียงพอ รวมทั้งการดูแลประชาชนในเขตของตัวเองอย่างบูรณาการ ไม่ต้องส่งคนไข้ข้ามเขต หรือไปกรุงเทพมหานครโดยไม่จำเป็น และ การปฏิรูปข้อมูลสารสนเทศ เพื่อให้มีการดูแลได้อย่างต่อเนื่อง ลดความซ้ำซ้อนของระบบ เพื่อเกิดการประหยัดในระยะยาว เป็นต้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทเรียนจากไต้หวันคงจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาระบบสุขภาพของเราให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล