|
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันศุกร์ ที่ 21 เดือนมกราคม 2554 ] |
|
สธ.ไทย-อียิปต์จับมือทำเอ็มโอยูสุขภาพ |
เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ทำเนียบเอกอัครราช ทูตไทยประจำสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ ศ.นพ.ฮาติม ยาบาลี่ รมว.สาธารณสุขและประชากรสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ว่าได้หารือเกี่ยวกับการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) ใน 3 ด้าน คือด้านสุขภาพ ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และด้านการผลิตยา โดยครอบคลุมใน 8 สาขา และ 7 กิจกรรม อาทิ การแลกเปลี่ยนข่าวสารและประสบการณ์ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ การเข้าร่วมกิจกรรมทางการแพทย์ที่จัดขึ้นในแต่ละประเทศ โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานยกร่างเอ็มโอยูร่วมกัน ฝ่ายประเทศไทยมี นายชลิต มานิตยกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ และ นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นตัวแทน ซึ่งเมื่อจัดทำร่างเอ็มโอยูแล้วเสร็จ จะมีการเชิญ รมว.สาธารณสุข และประชากรของอียิปต์มาลงนามที่ประเทศไทย "การทำเอ็มโอยูครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์แก่ทั้ง 2 ประเทศ และช่วยให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งสปา นวดไทย และผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ที่สอดคล้องกับนโยบายศูนย์กลางด้านสุขภาพแห่งเอเชีย (เมดิคัล ฮับ) ที่เรากำลังผลักดัน และยังอาจเป็นช่องทางในการขยายตลาดผลิตและจำหน่ายยาของไทยอีกด้วย ซึ่งเอ็มโอยูที่จะลงนามในครั้งนี้มีอายุ 5 ปี"นายจุรินทร์ กล่าว นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า การเดินทางมาครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้นำโครงการให้บริการตรวจสุขภาพ และการให้บริการด้านสังคมจิตใจแก่นักศึกษาและชุมชนชาวไทย ที่อาศัยที่อียิปต์จำนวน 2,600 คน มาสานต่อที่อียิปต์เป็นครั้งแรกด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ดำเนินการมาแล้วในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง เยอรมนี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา แรงงาน หรือชุมชนไทย มักจะประสบปัญหาคล้ายกัน คือ ปัญหาการสื่อสาร ความพร้อมในการเตรียมตัวในการใช้ชีวิตในต่างประเทศ ปัญหาข้อกฎหมาย การปรับตัว ปัญหาอารมณ์ ปัญหาสุขภาพจิต เช่น คิดถึงบ้าน หรือ โฮม ซิก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง นอกจากนี้มีปัญหาการหลบหนีเข้าเมือง โดยขอวีซ่านักท่องเที่ยว แต่อยู่ทำงานต่อ ทำให้ถูกกดขี่จากนายจ้าง ซึ่งสถานทูตก็ต้องไปช่วยเหลือ.
| |
|
|