ศ.ดร.นิพนธ์ ตั้งธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ภาวะโรคร้อนในปัจจุบันว่า นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าเมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า อีกประมาณ 70 ปี ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นไปอีก 4 องศาเซลเซียสโดยเฉลี่ย ซึ่งปกติอากาศในประเทศไทยก็ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมินับจากนี้ไปจะไม่ใช่การเพิ่มขึ้นแบบขึ้นๆ ลงๆ แต่เป็นการขึ้นอย่างถาวร (permanent) ซึ่งถ้าสูงขึ้นแค่ 2-3 องศาเซลเซียส ก็ทำให้เกิดผลกระทบมากมาย
เมื่อถึงหน้าร้อนก็มีโรคภัยไข้เจ็บที่ต้องระมัดระวัง อาทิเช่น โรคระบบทางเดินอาหารหรือที่ทั่วไปเรียกว่า โรคท้องร่วง และโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก(Heat stroke) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด และเป็นสาเหตุการตายในต่างประเทศ ปีละประมาณ 371 คน แต่ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานผู้เสียชีวิต
โรคฮีทสโตรกคืออะไร ? นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า โรคนี้เรียกว่า โรคลมแดด เป็นอาการที่เกิดจากการได้รับความร้อนมากเกินไปไม่ว่าจะเป็นการออกกำลัง หรือการเล่นกีฬาในภาวะอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน อาจจะเกิดขึ้นได้แม้ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง ถ้าอุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาอย่างเร่งด้วย เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิต 17-70%
อาการของโรคนี้เป็นอย่างไร ? อาการที่สำคัญของโรคนี้คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่เป็นจะ กระหายน้ำมาก ปวดศรีษะ มึนงง วิงเวียน คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดลดลง ช๊อค ผิวหนังแห้งและร้อน หมดสติ ซึ่งต่างจากการเพลียแดดหรือเป็นลมแดดทั่วๆ ไป ซึ่งมักจะพบมีเหงื่อออกด้วย เมื่อเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะกลไกการทำงานของร่างกาย หลังจากที่ได้รับความร้อนจะมีการปรับตัวโดยส่งน้ำหรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายใน เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทำให้ผิวหนังขาดเลือดและน้ำไปหล่อเลี้ยง จึงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ หากมีอุณหภูมิเกิน 40 องศาเซลเซียสถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน
การช่วยเหลือผู้ป่วยควรทำอย่างไร ? นำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศรีษะ ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด ในผู้ป่วยที่อาการยังไม่มากควรให้ดื่มน้ำเปล่าธรรมดามาก ๆ
ใครบ้างที่เสี่ยงกับการเป็นโรคนี้ ? กลุ่มที่เสี่ยงต่อการขาดน้ำได้แก่ กลุ่มเด็กหรือผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่ากับคนหนุ่มสาว และอีกกลุ่ม คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องกินยาควบคุมความดัน เช่น ยาขับปัสสาวะ ซึ่งมีผลต่อการขับสารโซเดียมออกจากร่างกาย ทำให้มีโอกาสเกิดความผิดปกติของระดับเกลือแร่ได้เร็วกว่าผู้อื่น รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือผู้ที่อดนอน เนื่องจากจะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ ส่วนผู้ที่ดื่มสุราหรือเบียร์ ร่างกายจะมีโอกาสสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม ทั้งนี้เพราะมีการขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม
|