"โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya)" เมื่อได้อ่านชื่อโรคนี้แล้ว คงทำให้ผู้อ่านหลายต่อหลายคนสงสัย เพราะไม่เคยได้ยินหรือรู้จักกับโรคนี้มาก่อน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม โรคนี้ก็กำลังเป็นโรคที่ทำให้คนไทย โดนเฉพาะบุคลากรในแวดวงทางด้านสาธารณสุขต้องกลับมาตื่นตัวกันอีกครั้ง...
เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันสักหน่อย!!!
โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่ติดต่อจากแมลง โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค อาการของโรคนี้คล้ายๆกับโรคไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
การกำเนิดขึ้นของโรคนี้!!!
เชื้อไวรัสชิคุนกุนยานี้มีการอุบัติขึ้นในทวีปแอฟริกา โดยผู้บรรยายลักษณะของโรคนี้เป็นคนแรกคือ Marion Robinson และ W.H.R.Lumsden ในปี ค.ศ.1955 โดยก่อนหน้านี้ประมาณ 3 ปี มีการระบาดของโรคในดินแดนที่ราบสูงมากอนดี ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างประเทศโมแซมบิกและแทนซาเนียในปัจจุบัน หลังจากนั้นก็พบการระบาดของเชื้อขิคุนกุนยานี้เป็นครั้งคราวในทวีปแอฟรกา เอเซียใต้ หรือแม้กระทั่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
อุบัติการณ์ของโรคจากทวีปแอฟริกามายังทวีปเอเซียจนถึงประเทศไทย!!!
หลายประเทศในทวีปแอฟริกามีการพบเขื้อชิคุนกุนยา โดยมีการแพร่เชื้อ 2 วงจรคือ Primate cycle (Rural type: คน-ยุง-ลิง) ซึ่งมีลิงบาร์บูนเป็น Amplifier host ทำให้เกิดผู้ป่วยจากเชื้อนี้ประปราย หรืออาจมีการระบาดเล็กๆเป็นครั้งคราว และเมื่อผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเข้าไปในพื้นที่ที่มีเชื้ออยู่ และคนๆนั้นอาจจะนำมาสู่ชุมชนเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มียุงลายชุกชุมมาก จึงทำให้เกิดวงจรที่ 2 ขึ้นโดยเป็นวงจรในเมือง (Urban type: คน-ยุง) และจากคนไปคน โดยมียุงลายเป็นพาหะ
ตารางที่ 1 การระบาดของโรคชิคุนกุนยาในประเทศไทย |
ครั้งที่ | พ.ศ. | จังหวัด | จำนวนผู้ป่วย (คน) | 1 | 2531 | สุรินทร์ | N/A |
2 | 2534 | ขอนแก่น | N/A |
3 | 2534 | ปราจีนบุรี | N/A |
4 | 2536 | เลย | N/A |
5 | 2536 | นครศรีธรรมราช | N/A |
6 | 2536 | หนองคาย | N/A |
7 | 2551-2552 | สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส | 9,000 | |
ในทวีปเอเซีย การแพร่ของเชื้อชิคุนกุนยาต่างจากในแอฟริกา คือเป็นการแพร่เชื้อจากคนไปคน โดยมียุงลายเป็นพาหะสำคัญ ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคเป็นไปตามการแพร่กระจายและความชุกชุมของยุงลาย โดยมีการรายงานการพบเชื้อจากประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย พม่า เขมร เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนิเซีย รวมถึงประเทศไทย โรคนี้จะพบมากในช่วงฤดูฝน เมื่อยุงลายมีจำนวนเพิ่มขึ้น และสามารถพบโรคนี้ได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากโรคไข้เลือดออกที่ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 15 ปี
สำหรับในประเทศไทย พบเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาครั้งแรกจากผู้ป่วยในโรงพยาบาลเด็ก กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2501 ต่อจากนั้นก็พบการระบาดของโรคชิคุนกุนยา 6 ครั้ง ในปี พ.ศ.2531 ที่จังหวัดสุรินทร์ ปี พ.ศ.2534 ที่จังหวัดขอนแก่นและปราจีนบุรี ในปี พ.ศ.2536 ที่จังหวัดเลย, นครศรีธรรมราช และหนองคาย และในขณะนี้ (ปี พ.ศ. 2551-2552) ที่จังหวัดสงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส (ตารางที่ 1)
การติดต่อและระยะฟักตัวของโรคนี้!!!
เชื้อไวรัสชิคุนกุนยาติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้
ระยะฟักตัวของโรคโดยทั่วไปประมาณ 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วัน ระยะติดต่อเป็นช่วงระยะเวลาที่ผู้ป่วยไข้สูง ประมาณวันที่ 2 - 4 เนื่องจากเป็นระยะที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาอยู่ในกระแสเลือดมากที่สุด
อาการของโรคนี้!!!
1. ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง แต่ไม่ ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่
2. ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัด คือ อาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า จนบางครั้งอาจจะเรียกโรคนี้ว่า "โรคไข้ปวดข้อยุงลาย"
3. อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี
4. ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก อาจพบ tourniquet test ให้ผลบวก และจุดเลือดออกบริเวณผิวหนังได้
ความแตกต่างระหว่างโรคชิคุนกุนยากับโรคไข้เลือดออก!!!
1. ในโรคชิคุนกุนยา ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างฉับพลันกว่าในโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยมักจะมาโรงพยาบาลเร็วกว่า ส่วนระยะของไข้สั้นกว่าในโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยที่มีระยะไข้สั้นเพียง 2 วัน พบในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออก ซึ่งโดยส่วนใหญ่ไข้จะลดลงใน 4 วัน
2. ถึงแม้จะพบจุดเลือดได้ที่ผิวหนัง และการทดสอบทูนิเกต์ให้ผลบวกได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบจำนวนทั้งที่เกิดเองและจากทดสอบน้อยกว่าในโรคไข้เลือดออก
3. ไม่พบผื่นเลือดออกที่มีลักษณะวงขาวๆในโรคชิคุนกุนยา แต่พบผื่นแบบผื่นแดงนูนราบ และพบอาการตาแดงในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออก
4. พบอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและปวดข้อในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออก
5. ในโรคชิคุนกุนยา เนื่องจากไข้สูงฉับพลัน พบการชักร่วมกับไข้สูงได้ถึงร้อยละ 10-15
การรักษาและการป้องกันโรคนี้!!!
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจงสำหรับโรคชิคุนกุนยา ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการและประคับประคอง เช่น การให้ยาลดอาการไข้ ปวดข้อ และการพักผ่อน ส่วนการป้องกันโรคชิคุนกุนยาที่ดีที่สุดคือ ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด สวมเสื้อและกางเกงขายาวเวลาเข้าสวน หรือทายาป้องกันยุงกัด และที่สำคัญที่สุด คือ การร่วมกันทำลายลูกน้ำยุงลายทั้งในบ้านและในสวนที่เป็นแอ่งน้ำ
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หากเราพิจารณากันอย่างรอบคอบแล้วก็จะพบว่า โรคชิคุนกุนยา ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากเพียงแต่พวกเรานั้น รู้เท่าทันและเตรียมพร้อมรับมือกับ โรคนี้มากน้อยเพียงใด...เท่านั้นเอง!!! |
|
|