"วัณโรค" หรือที่เรียกกันว่าฝีในท้องนั้น เป็นที่น่าแปลกใจว่าโรคเก่าแก่โรคนี้ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขอยู่ทั้งในระดับสากลและประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีวิทยาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยแล้วก็ตาม ซึ่งในประเทศไทยเองก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า วัณโรค เป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญและยังติดอันดับ 22 ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดในโลกอีกด้วย
ประวัติความยาวนานกว่า 2400 ปีมาแล้ว
กว่า 2400 ปีมาแล้วที่วัณโรคอยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน หลักฐานที่ยืนยันคือการตรวจพบ DNA ของเชื้อวัณโรคในกระดูกสันหลังของมัมมี่อียิปต์ และ Hippocrates เขียนถึงวัณโรคว่าเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด และเกือบทุกรายจะเสียชีวิต (สมัยนั้นเรียกวัณโรคว่า Pthisis)
- ปีค.ศ.1720 นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ชาวอังกฤษ ตั้งทฤษฎีของวัณโรคว่าเป็นโรคที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ซึ่งคนที่เป็นน่าจะได้รับสิ่งนี้มาจากผู้ป่วยที่เป็นอยู่แล้ว (สมัยนั้นยังไม่มีคนรู้จักแบคทีเรีย)
- ปี 1882 Robert Koch พัฒนาวิธีย้อมเชื้อวัณโรคสำเร็จ และเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ได้เห็นเชื้อนี้ว่ามีจริงเสียที (หลังจากมีคนตั้งทฤษฎีไว้ 160 ปีก่อน !!!)
- การทดลองครั้งแรกในปี 1921 ของ Bacille Calmette-Guerin (BCG) กับเด็กแรกเกิด ที่มารดาเสียชีวิตจากวัณโรค ครั้งแรกที่ทดลอง Dr. Calmette ให้เด็ก "กิน" BCG (การใช้ BCG ครั้งแรกในโลก ให้โดยการกิน ไม่ใช่ฉีด !!!) ผลปรากฏว่าเด็กคนนั้นไม่เคยเป็นวัณโรคเลยตลอดชีวิต
สาเหตุของโรค
วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ซึ่งเป็น acid fast bacillus (AFB) ย้อมติดสีแดง ซึ่งจะมีอยู่ในปอดของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา
วิธีการแพร่กระจายเชื้อวัณโรค
- เชื้อจะแพร่กระจายจากคนสู่คนโดยการหายใจ
- การติดเชื้อเกิดจากการได้รับเชื้อจากผู้ป่วย เข้าสู่ร่ายกาย ในระหว่างการพูดคุยกับผู้ป่วย จากการไอหรือจามของผู้ป่วย การไอของผู้ป่วยทำให้เกิดละอองฝอย น้ำมูกน้ำลายขนาด 1 - 5 ไมครอน ซึ่งมีเชื้อวัณโรคอยู่ภายใน ซึ่งสามารถมีชีวิตอยู่ได้เป็นเวลานาน ทำให้อนุภาคของเชื้อวัณโรคเข้าสู่ถุงลมปอดได้ ประมาณร้อยละ 5 - 10 ของผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคเท่านั้นที่จะป่วยเป็นวัณโรค
- ผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ จะตรวจไม่พบวัณโรคในปอดโดย X-rays แต่จะทราบว่าติดเชื้อวัณโรคได้โดยการทดสอบทูเบอร์คิวลินจะให้ผลบวก
ประเภทของวัณโรค
วัณโรคเกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่ายกาย 80% มักจะเกิดขึ้นที่ปอด เราจึงแบ่งวัณโรคออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. วัณโรคปอด
2. วัณโรคนอกปอด เป็นวัณโรคของอวัยวะอื่น ๆ นอกเหนือจากปอด เช่น เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง ช่องท้องผิวหนัง กระดูกและข้อ เยื้อหุ้มสมอง ระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ
สถานการณ์ของโรค
จากการจัดอันดับประเทศที่มีภาวะวิกฤติเกี่ยวกับวัณโรคมากที่สุดในโลก ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (ปี 2007) ได้จัดอันดับประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคสูงสุด 22 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 18 ส่วน 5 ประเทศแรก ได้แก่ ประเทศอินเดีย จีน อินโดนีเชีย ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้ และมีข้อมูลคาดประมาณเกี่ยวกับวัณโรคของไทย (ตารางที่ 1) พบว่า
- ในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยรายใหม่ (incidence estimates) ประมาณ 91,000 รายต่อปี หรืออัตราป่วย 142 ต่อประชากรแสนคนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้จะพบผู้ป่วยที่มีผลการตรวจเสมหะเป็นบวกประมาณ 39,000 รายต่อปีหรืออัตราป่วย 62 ต่อประชากรแสนคนต่อปี
- มีผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตประมาณ 13900 รายต่อปี ซึ่งแยกเป็น
o ผู้ที่เสียชีวิตด้วยวัณโรค (HIV-negative) ประมาณ 10000 รายต่อปีหรืออัตราตาย 15 ต่อประชากร แสนคนต่อปี
o ผู้ที่เสียชีวิตด้วยวัณโรคซึงเป็นผู้ป่วยเอดส์ (HIV-positive) ประมาณ 3900 รายต่อปีหรืออัตราตาย 6 ต่อประชากรแสนคนต่อปี
- ความชุกของวัณโรค (prevalence) ประมาณ 123 คนต่อปีหรืออัตรา 192 ต่อประชากรแสนคนต่อปี
ตารางที่ 1 ข้อมูลคาดประมาณการระบาดของวัณโรค 5 ประเทศแรก และประเทศไทย ปี 2007
* ข้อมูลการประมาณอุบัติการณ์และความชุกรวมผู้ป่วยวัณโรคในผู้ป่วยเอดส์ด้วย
ที่มา : Global Tuberculosis Control ใน WHO REPORT 2009
อ้างอิงใน : http://www.who.int/tb/publications/global_report/2009/pdf/chapter1.pdf หน้า 7
ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย จากรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขผู้ป่วยเอดส์มีโอกาสเป็นวัณโรคได้มากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า เพราะร่างกายขาดภูมิคุ้มกัน ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายปัญหาการติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์ที่อยู่ในระดับสูงทำให้จำนวนผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ในปี 2551 มีผู้ป่วย 65,252 ราย หรืออัตรา 113.51 รายต่อประชากรแสนคน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 1.8 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ป่วยเป็นวัณโรคสูงถึงร้อยละ 30 (รูปที่ 1)
รูปที่ 1 อัตราผู้ป่วยด้วยวัณโรค ปี 2542 - 2551
ที่มา : สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
อ้างอิงใน : ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2552 หน้า 4 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ http://www.nesdb.go.th/temp_social/ts/temp_social_1-2552.pdf
ปัญหาดื้อยา
จากการรายงานปัญหาดื้อยาในภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2552 (รูปที่ 2) พบว่า
- เชื้อวัณโรคดื้อยาเกิดขึ้นในตัวผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด เนื่องจากการย้ายถิ่นที่อยู่ และขาดการ รับประทานยาไม่ครบตามสูตร 6 เดือนอย่างต่อเนื่อง
- การที่เชื้อดื้อยาส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษาสูงถึงรายละ 2 แสนบาท เทียบกับการรักษาผู้ป่วยวัณโรคทั่วไปที่มี ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อรายประมาณปีละ 16,800 บาท คิดเป็นภาพรวมทั้งประเทศที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายปีละ 1,500 ล้านบาท
- การรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่จะใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสวัสดิการภาครัฐ ทำให้เป็นภาระต่องบประมาณ
รูปที่ 2 ร้อยละการใช้บริการในสถานพยาบาลตามประเภทสวัสดิการของผู้ป่วยวัณโรค ปี 2551
ที่มา : สำนักวัณโรค กระทรวงสาธารณสุข
อ้างอิงใน : ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2552 หน้า 5 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม
แห่งชาติ http://www.nesdb.go.th/temp_social/ts/temp_social_1-2552.pdf
อาการของโรค
1. ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ บางรายไอแห้งๆ บางรายอาจมีเสมหะสี เหลือง เขียว หรือไอปนเลือด
2. เจ็บแน่นหน้าอก
3. มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือเย็น
4. เหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย
5. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
อาการเหล่านี้อาจติดเชื้อที่ระบบต่าง ๆ ได้ เช่น
- อาการไอเรื้อรัง ไม่ว่าจะมีเสมหะหรือ มีเลือดปนเสมหะหรือไม่ (วัณโรคปอด)
- ปวดศีรษะเรื้อรังนานเป็นสัปดาห์หรือเดือน ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ และซึมลง (วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง)
- ถ่ายเหลวเรื้อรัง ถ่ายเป็นน้ำวันละหลายหน (วัณโรคทางเดินอาหาร)
- ปวดหลังเรื้อรัง ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเวลานอน (วัณโรคกระดูกสันหลัง)
- แน่นใต้ชายโครงขวา ตับโต อาจมีตัวเหลืองตาเหลืองหรือไม่ก็ได้ (วัณโรคของตับ หรือวัณโรคชนิดแพร่กระจาย)
- ผื่นเฉพาะที่ ที่โตช้า ๆ เป็นเรื้อรังและรักษาไม่หาย ไม่เจ็บ (วัณโรคผิวหนัง)
อาการเหล่านี้ควรระวังเป็นอย่างยิ่ง เมื่อผู้นั้นมีการติดเชื้อไวรัส HIV
เนื่องจากมีร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ง่าย
การดูแลรักษาเมื่อป่วย
1. ไปพบแพทย์ตามนัด และเก็บเสมหะส่งตรวจทุกครั้งตามแพทย์สั่ง
2. กินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ผัก ผลไม้ เพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรง
3. ปิดปาก จมูก เวลาไอหรือจามทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
4. จัดบ้านให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
5. ให้บุคคลในบ้านไปรับการตรวจ ถ้าพบว่าป่วยเป็นวัณโรคแพทย์จะได้ให้การักษาทันที
6. กินยาให้ครบถ้วนทุกชนิดตามที่แพทย์สั่ง และกินติดต่อกันสม่ำเสมอทุกวัน
วิธีป้องกันตัวให้ห่างไกลวัณโรค
1. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายกินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่
2. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค
3. ถ้ามีผู้ป่วยวัณโรคอยู่ในบ้าน ควรเอาใจใส่ดูแลให้กินยาครบถ้วนสม่ำเสมอทุกวัน
4. ควรตรวจร่างกาย โดยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละครั้ง
5. พาบุตร หลาน ไปรับการฉีดวัคซีน บี ซี จี
6. หากมีอาการผิดปกติ น่าสงสัยว่าจะเป็นวัณโรค ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ โดยการเอกซเรย์ปอด และตรวจเสมหะ |