"เด็กอ้วน" ภัยเงียบที่มาพร้อมกับความน่ารัก








 

"เด็กอ้วนจ้ำม่ำ" หลายๆ คน โดยเฉพาะพ่อแม่อาจมองว่าเด็กคนนี้น่ารักน่าชังเชียว แก้มเป็นกระติกน่าหยิบน่าจับ จึงทำให้เป็นค่านิยมอย่างหนึ่งว่าต้องเลี้ยงดูเด็กๆ ให้อ้วนจ้ำม่ำ มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่แท้ที่จริงแล้วภายใต้ความน่ารักน่าชังของเด็กอ้วนนั้นอาจมีอะไรบางอย่างแฝงอยู่โดยเฉพาะโรคหรืออาการต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ภาวะนอนกรน ภาวะตับอักเสบและถุงน้ำดีอักเสบ โรคผิวหนังที่พบได้บ่อย คือ โรคเชื้อราที่ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้อาจส่งผลกระทบด้านจิตใจ ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง กังวล และซึมเศร้าได้ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับมาตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหานี้ เพื่อเด็กๆ จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า

การประเมินการเจริญเติบโตของเด็กโดยเฉพาะภาวะอ้วน

การประเมินการเจริญเติบโตของเด็กควรดูที่ "น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นควบคู่กับอัตราการเพิ่มของความสูง" มีได้ 2 วิธี ดังนี้

1. การประเมินการเจริญเติบโตของเด็กโดยดูน้ำหนักเทียบกับส่วนสูง เป็นการดูลักษณะของการเจริญเติบโตได้ว่าเด็กมีน้ำหนักเหมาะสมกับส่วนสูงหรือไม่ เพื่อบอกว่าเด็กมีรูปร่างสมส่วน อ้วนหรือผอม ตามเกณฑ์อ้างอิงน้ำหนักส่วนสูงซึ่งประเมินโดยดูที่กราฟการเจริญเติบโตน้ำหนักตามเกณฑ์อายุร่วมกับส่วนสูงตามเกณฑ์อายุของเด็กในสมุดสุขภาพ หรือเปรียบเทียบการเพิ่มของน้ำหนักและความมสูงที่ได้สัดส่วนกันโดยดูจากตารางเปรียบเทียบน้ำหนักต่อความสูง (Weight for height chart)
(คลิกดูคู่มือแนวทางการใช้เกณฑ์อ้างอิงน้ำหนัก ส่วนสูงเพื่อประเมินภาวะโภชนาการเจริญเติบโตของเด็กไทย 2543 กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)

ตัวอย่าง กราฟน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงของเพศชายและเพศหญิง อายุ 5-18 ปี

โดยเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกิน แบ่งเป็น 2 ระดับย่อย คือ

- อยู่เหนือเส้น +2 S.D หรือ +3 S.D แสดงว่ามีน้ำหนักมากกว่าเด็กที่มีส่วนสูงเท่ากัน เป็นเด็กอ้วนระดับ 1 เด็กมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นผู้ใหญ่อ้วนในอนาคต

- อยู่เหนือเส้น +3 S.D มีภาวะโภชนาการเกินมากเป็นโรคอ้วนระดับ 2 เด็กมีโอกาสเสียงต่อการเป็นผู้ใหญ่อ้วนมากยิ่งขึ้นในอนาคต



                     ที่มา: กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
                     อ้างอิงใน : http://202.129.0.133/els/upload/fclub/FClub%2708%20web/core%20content/4/2.html


2. คำนวณค่าดรรชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) ซึ่งเป็นอัตราส่วนระหว่างน้ำหนัก (เป็นกิโลกรัม) ต่อ ส่วนสูง (เป็นเมตร) ยกกำลังสองซึ่งในเด็กจะต้องเปรียบเทียบกับตาราง BMI Chart ตามอายุ โดยถือว่าอ้วนเมื่อ ค่า BMI มากกว่า 80 เปอร์เซ็นไทล์

สถานการณ์โรคอ้วนในเด็ก

จากการสำรวจสถานะสุขภาพประชากรไทย 2 ครั้งใน พ.ศ. 2534 และ พ.ศ. 2539 - 2540 โดยใช้เกณฑ์อ้างอิงน้ำหนักและส่วนสูงของกองโภชนาการปี พ.ศ. 2530 พบว่า

- เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า และเมื่อเปรียบเทียบการสำรวจในปี พ.ศ.2539 - 2540 กับ พ.ศ.2544 โดยใช้เกณฑ์อ้างอิงน้ำหนักและส่วนสูงของประชากรไทย พ.ศ. 2542 พบว่า

- เด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 7.9 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 36 ในระยะเวลาเพียง 5 ปี

- ขณะที่พบเด็กวัยเรียนอายุ 6-13 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 6.7 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 ในระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้จากผลการสำรวจเด็กนักเรียนอนุบาลและประถมศึกษาของกรมอนามัย เมื่อปี พ.ศ. 2544, 2545 และ2546 พบเด็กมีภาวะโภชนาการเกินสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือร้อยละ 12.3, 12.8 และ 13.4 (รูปที่ 1)



รูปที่ 1 กราฟแสดงร้อยละของเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกิน ปี 2544-2546


                     ที่มา : แพทย์หญิงลัดดา เหมาะสุวรรณ.โภชนาการในเด็กไทย. สถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว : หน้า 51
                     อ้างใน : http://www.cf.mahidol.ac.th/autopage/file/MonAugust2008-12-30-1-Copy%20of%202.pdf

สอดคล้องกับข้อมูลจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย พบว่าจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กชั้นประถมศึกษา 6 โดย จำนวน 47,389 คนในโรงเรียนประถมศึกษาในเขตเมืองทั่วประเทศจำนวน 268 โรงเรียน ในปี 2548 พบว่า

- เด็กอ้วนร้อยละ 12

- เด็กท้วมร้อยละ 5

- บางโรงเรียนในภาคกลางมีเด็กอ้วนถึงร้อยละ 25

ส่วนข้อมูลจากการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย ปี 2546 (น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง) พบว่า ภาวะโภชนาการเกิน (เริ่มอ้วน+อ้วน) พบอัตราสูงในช่วงวัยทารกและลดลงในช่วงวัยก่อนเรียนอายุ 1-5 ปี จากนั้นค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งจนถึงในช่วงอายุ 12-14 ปี และเพิ่มขึ้นอีกครั้งในอายุ 15-18 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถึงร้อยละ 12.9 (รูปที่ 2)



รูปที่ 2 กราฟแสดงร้อยละของทารกและเด็กก่อนวัยเรียน ตามการจัดระดับภาวะโภชนาการโดยใช้น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงมาตรฐานใหม่ จำแนกตามกลุ่มอายุ ปี 2546


                     ที่มา : รายงานการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2546 หน้า 93-94
                     อ้างใน : http://nutrition.anamai.moph.go.th/download/nutrition2546.pdf

เมื่อพิจารณาตามรายภาค พบภาวะโภชนาการเกิน (เริ่มอ้วน+อ้วน) พบมากที่สุดในภาคกลางทุกกลุ่มอายุ ยกเว้นเด็กอายุ 0-5 ปีซึ่งพบมากที่สุดในภาคเหนือ โดยภาคที่มีความชุกสูง คือ ภาคกลางและภาคใต้ในกลุ่มอายุ 15-18 ปี คือ ร้อยละ 19.1 และ 17.2 ตามลำดับ (รูปที่ 3)

รูปที่ 3 กราฟแสดงร้อยละของเด็กวัยเรียนและเยาวชนตามการจัดระดับภาวะโภชนาการ โดยใช้น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงมาตรฐานใหม่จำแนกตามกลุ่มอายุ ปี 2546


                     ที่มา : รายงานการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2546 หน้า 96
                     อ้างใน : http://nutrition.anamai.moph.go.th/download/nutrition2546.pdf

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ชัดเจนว่า สถานการณ์ของการเป็นโรคอ้วนในกลุ่มเด็กยังคงอยู่ในอัตราที่สูงและคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้ ดังนั้นเด็กเป็นโรคอ้วนจึงถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ใหญ่ควรให้การควบคุมและป้องกัน


เทคนิคการสร้างสุขนิสัยการรับประทานอาหารที่ดี

1. ให้เด็กทานอาหารให้เป็นเวลา หากเด็กไม่ทานอาหารมื้อใดไม่ควรให้ทานเสริม ไม่ทานจุบจิบระหว่างมื้ออาหาร งดการทานน้ำหวานก่อนมื้ออาหาร
2. จำกัดเวลาอาหาร (ประมาณ 30 นาที) ไม่ควรตั้งอาหารไว้บนโต๊ะตลอดเวลา
3. คุณพ่อคุณแม่และคุณครูควรตระหนักว่ามนุษย์มีสัญชาติญาณในการทานอาหารเมื่อหิว หากมีความเข้าใจกฎธรรมชาตินี้ จะลดความกังวลเมื่อเด็กไม่ยอมทานอาหาร
และหลีกเลี่ยงการบังคับให้เด็กทานด้วยการป้อนแบบยัดเยียดเพราะจะทำให้เด็ก ๆ มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการทานอาหาร ควรฝึกให้เด็กทานด้วยตัวเอง
4. เด็กอนุบาลบางครั้งยังกลัวอาหารที่ไม่คุ้นเคย อาจไม่กล้าลองของใหม่ๆ โดยเฉพาะผัก คุณพ่อ คุณแม่ควรอธิบายให้เด็กทราบ ให้กำลังใจ ให้เด็กลองไม่ควรบังคับข่มขู่ ต้องยอมรับความคิดเห็น และการตัดสินใจของเขา
5. คุณพ่อ คุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการรับประทานอาหารที่หลากหลาย เนื่องจากเด็กมักเลียนแบบพ่อแม่ในทุกๆ เรื่อง
6. สร้างมารยาทในการทานอาหาร บอกให้เด็กทราบมารยาทบนโต๊ะอาหาร ไม่เล่นขณะทานอาหาร หากเด็กควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือมีพฤติกรรมไม่เป็นที่ยอมรับ ต้องแยกเด็กออกไปชั่วคราว โดยไม่อนุญาตให้เด็กถืออาหารติดมือไปทานที่อื่น ต้องให้เด็กเรียนรู้ความหิวและรอทานในมื้อถัดไป ไม่ให้อาหารเสริมพิเศษ
7. สร้างวุฒิภาวะที่เหมาะสม ส่วนใหญ่เด็กมักเรียนรู้การทานอาหารเกือบทุกชนิดได้ เพียงแต่ใช้เวลาเริ่มเร็วต่างกัน พ่อแม่ต้องพยายามจัดอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้เด็กคุ้นเคย และทดลอง





เรียบเรียงโดย :  ชัญญาภรณ์ น้ำค้าง สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง : -www.pattayahealth.com. โรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่น.
อ้างใน http://www.pattayahealth.com/pattayahealth/healthtip_detail.php?tid=8


-กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. โรคอ้วนในเด็ก. จำนวน 1 หน้า.
อ้างใน http://nutrition.anamai.moph.go.th/fatboy.htm


-กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2543). คู่มือแนวทางการใช้เกณฑ์
อ้างอิงน้ำหนัก ส่วนสูงเพื่อประเมินภาวะโภชนาการเจริญเติบโตของเด็กไทย.
อ้างใน http://www.forums.dmh.go.th/index.php?topic=5943.0


-แพทย์หญิงลัดดา เหมาะสุวรรณ. โภชนาการในเด็กไทย. สถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนา เด็กและครอบครัว. จำนวน 4 หน้า. อ้างใน
http://www.cf.mahidol.ac.th/autopage/file/MonAugust2008-12-30-1-Copy%20of%202.pdf


-กองโภชนาการ. รายงานการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย
ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2546. จำนวน 365 หน้า
อ้างใน http://nutrition.anamai.moph.go.th/download/nutrition2546.pdf


-www.sanook.com. นน.-ส่วนสูงเด็กไทยต่ำกว่าเกณฑ์ 5.2 แสน. จำนวน 1 หน้า
อ้างใน http://news.sanook.com/education/education_154678.php


-www.preschool.or.th. โรคอ้วนในเด็กอนุบาล…ภัยเงียบที่แฝงมากับความน่ารัก.
อ้างใน http://www.preschool.or.th/article_kindergarten/journal_fat.html


-กองโภชนาการ. คู่มือแนวทางการใช้เกณฑ์อ้างอิงน้ำหนัก ส่วนสูงเพื่อประเมินภาวะโภชนาการเจริญเติบโตของเด็กไทย 2543 กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. จำนวน 49 หน้า.
อ้างใน http://nutrition.anamai.moph.go.th/weight.pdf




 












หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล