ปัญหาสุขภาพกับมนุษย์ยุคดิจิตอล





สังคมไทยในยุคปัจจุบัน มีการใช้อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์กันอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์, MP-3 และ IPOD รวมไปถึงอุปกรณ์เสริม ได้แก่ Bluetooth, Small talk หรือ Hand free ซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือซึ่งวัตถุประสงค์ของการใช้ไม่ใช่แค่เพียงเครื่องมือสื่อสารอย่างเดียวเท่านั้น ยังใช้ในการดูหนัง ฟังเพลง ถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอ เล่นเกม รวมถึงการส่ง e-mail หรือการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต บริการข้อมูลข่าวสาร และชำระค่าใช้บริการต่าง ๆ ช่วยในการตัดสินใจและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและเรื่องส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิผลแม้ในระหว่างการเดินทาง อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้หากใช้อย่างไม่ถูกวิธีก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นได้เช่นกัน


แนวโน้มการใช้อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น

จากการเปรียบเทียบจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ (ข้อมูลจากการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2551 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ) พบว่า

-  มีอัตราการใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ
   เพิ่มขึ้นทั้ง 3 ประเภทโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีผู้ใช้ประมาณ 16.54 ล้านคน (ร้อยละ28.2) ในปี 2547 ได้
   เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวคือ 31.86 ล้านคน (ร้อยละ 52.8) ในปี 2551

-  มีจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน คือ ในปี 2547 มีจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 12.54
   ล้านคน (ร้อยละ 21.4) และจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 6.97 ล้านคน (ร้อยละ 11.9)แต่ในปี 2551 มีผู้ใช้เพิ่มขึ้น
   เป็น 16.99 ล้านคน (ร้อยละ 28.2) และ 10.96 ล้านคน (ร้อยละ 18.2) ตามลำดับ (รูปที่ 1)


รูปที่ 1 ร้อยละของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปที่ใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์ พ.ศ.22547-2551


ที่มา : รายงานการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2551 หน้า 1
อ้างใน : http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/themes/theme_5-1-3.html


นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มคนที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ กลุ่มเด็กและวัยรุ่น โดยในกลุ่มอายุ 6-14 ปี มีอัตราการใช้คอมพิวเตอร์มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 61.6 ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 15-24 ปี คือร้อยละ 54.7 นับว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่หลายๆ คนควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง(รูปที่ 2)


รูปที่ 2 ร้อยละของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จำแนกตามกลุ่มอายุ พ.ศ. 2551


ที่มา : รายงานการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2551 หน้า 16
อ้างใน : http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/themes/theme_5-1-3.html



ผลกระทบกับสุขภาพ

โทรศัพท์มือถือ

ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่มักมีพฤติกรรมการใช้แนบหูผู้ใช้กับเครื่องอยู่ตลอดช่วงเวลาของการใช้งาน นั้นจะทำให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดจากการรับ-ส่งสัญญาณของโทรศัพท์มือถือกระทบกับอวัยวะโดยตรง ทั้งบริเวณ หู ตา และเข้าไปถึงสมองส่งผลให้เกิดการทำลายเซลล์และเนื้อเยื้อในบริเวณดังกล่าว และถ้าผู้ใช้ยังคงมีพฤติกรรมทำนองนี้เป็นประจำจะเกิดผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวดังนี้

ผลกระทบในระยะสั้น

อาจเกิดอาการปวดหู ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว มึนงง ขาดสมาธิและเครียด เนื่องจากระบบพลังงานในร่างกายถูกรบกวน และ

ผลกระทบในระยะยาว

อาจทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม มะเร็งสมอง มะเร็งเม็ดเลือดขาว นอกจากนี้ ผลจากการศึกษาพบว่า เนื้องอกในสมองมีความสัมพันธ์กับการใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะการเกิดเนื้องอกในสมองมักจะเป็นข้างเดียวกับข้างที่ใช้ฟัง-พูดโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ

เครื่องเล่น MP-3, IPOD และหูฟังของโทรศัพท์มือถือ

จากสรุปภาวะสังคมรายเดือน (กรกฎาคม2552) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวว่า การเป็นโรคหูเสื่อมหรือหูดับ สาเหตุมาจากการนิยมฟังเพลงโดยใช้หูฟังจากเครื่องเล่น MP-3 หรือ IPOD รวมถึงการใช้หูฟังของเครื่องโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน และหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังมาก เช่น ในศูนย์การค้าก็ต้องเปิดเสียงให้ดังเพื่อให้ได้ยินชัดขึ้นซึ่งเกินระดับมาตรฐานการรับเสียง ส่งผลให้การได้ยินของเด็กไทยมีปัญหาค่อนข้างมาก

จากผลการสุ่มตรวจการได้ยินของของนักเรียนวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานคร ประมาณ 400 คน ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าร้อยละ 25 มีความผิดปกติในการรับฟังเสียง ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ปี 2550 มีผู้พิการทางหูเพิ่มขึ้นวันละ 35 คน หรือทั้งประเทศคาดว่าจะมีผู้ป่วยอาการประสาทหูเสื่อมประมาณ 2 ล้านคน

การใช้คอมพิวเตอร์

ผลกระทบจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะเล่นเกม ทำงาน หรือเล่นอินเทอร์เน็ตมีดังนี้

1. ปัญหาเกี่ยวกับสายตา การใช้คอมพิวเตอร์นานเกินกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน จะทำให้ตาขาดน้ำหล่อเลี้ยงเกิดอาการระคายเคืองได้ และอาการที่ตามมาคือ ตาพร่าและมองไม่เห็นชั่วคราว รวมทั้งสายตาสั้นนอกจากนี้ยังมีอาการไมเกรนมาด้วย เพราะกล้ามเนื้อตาจะบีบรัดเลนส์ตาจนล้า

2. Computer Vision Syndrome (CVS) จะมีอาการเมื่อยล้าตา ปวดตา เคืองตา ตาแห้ง น้ำตาไหล ตามัว เห็นภาพซ้อน ปวดคอ หลังและไหล่

3. Repetitive Strain Injury หรือ RSI อาการนี้จะเกิดขึ้นจากการที่คนเรานั่งทำงานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์แบบไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น เอามือวางไว้บนคีย์บอร์ด และสามารถเกิดได้ทุกส่วนของรางกาย ตั้งแต่แขน ข้อมือ ข้อนิ้ว แผ่นหลัง ต้นคอ หัวไหล่และสายตา หากปล่อยไว้นานๆ อาจต้องผ่าตัดเอ็นก็มี

4. อาการท้องร่วงเพราะคีย์บอร์ด (Qwerty Tummy) ซึ่งชื่อของอาการนี้เอามาจากตัวอักษรชุดแรกบนแป้นคีย์บอร์ดนั่นเอง สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงคือ คีย์บอร์ดมักมีแบคทีเรียสะสมอยู่ หลายคนมักรับประทานอาหารหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่มีคีย์บอร์ดตั้งอยู่ แบคทีเรียเหล่านี้อาจจะปะปนในอาหารได้

5. Carpal Tunnel Syndrome เกิดจากการใช้งานซ้ำๆ ที่บริเวณข้อมือ ทำให้เอ็นรอบบริเวณข้อมือหนาตัวขึ้น แล้วไปกดเส้นประสาทที่วิ่งผ่าน ทำให้เกิดอาการชาและเจ็บได้

แนวทางป้องกันโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

จะเห็นได้ว่ากลุ่มเสี่ยงคือวัยเด็กและวัยรุ่น เพราะฉะนั้น "ครอบครัว" โดยเฉพาะผู้ปกครองควรให้ความสำคัญและหาวิธีการเพื่อป้องกันก่อนที่จะกลายเป็นปัญหา ซึ่งมีแนวทางในการปฏิบัติเบื้องต้นดังนี้

- ให้ความเอาใจใส่และเข้าใจบุตรหลานที่เริ่มเป็นวัยรุ่น

- แบ่งเวลาสำหรับพูดคุยกันในแต่ละวัน

- ให้คำแนะนำด้วยความเข้าอกเข้าใจ แสดงถึงความรักและห่วงใย

- สอดแทรกความรู้ถึงผลกระทบจากการใช้อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์เสริมในการสนทนาและฟังเพลงเป็นเวลานาน หรือเปิดเสียงดังเกินไป โดยชี้ให้เห็นถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากใช้งานอย่างไม่เหมาะสมหรือผิดวิธี

- กระตุ้นให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมภายในครอบครัวมากขึ้น

- ส่งเสริมให้เด็กมีงานอดิเรกทำ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ แม้กระทั่งการเล่นกีฬาที่ชื่นชอบ



เรียบเรียงโดย :  ชัญญาภรณ์ น้ำค้าง สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา :  - สำนักงานสถิติแห่งชาติ. รายงานการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2551. จำนวน 53 หน้า อ้างใน : http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/themes/theme_5-1-3.html

 - www.m-society.go.th. ภาวะสังคมรายเดือนกรกฎาคม 2552. อ้างใน http://www.m-society.go.th/msostat.php?page=1&sortby=

 - หมอชาวบ้าน. Computer vision syndrome. อ้างใน http://www.doctor.or.th/node/7253

 - www.thaicyberpoint.com. การรักษาสุขภาพกับการใช้คอมพิวเตอร์. อ้างใน http://www.thaicyberpoint.com/ford/blog/id/182/

 - www.cot.co.th. กันไว้ดีกว่าแก้ ก่อนเกิดโรคคอมพิวเตอร์. อ้างใน http://www.cot.co.th/detail.php?ArticleID=291




 












หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล