ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก จากการตรวจและรักษาของสถานพยาบาลต่างๆ มีรายงานจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2550 มีรายงานปริมาณผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติดังนี้
|
|
รวมแล้วขณะนี้ในพื้นที่ มีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 34,769 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีอาการกำเริบ 159 ราย ตาอักเสบ 782 ราย และโรคผิวหนัง 6 ราย โดยมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเฉลี่ยวันละประมาณ 1,500 ราย ทั้งนี้ปัญหาหมอกควันไม่ได้มีผลกระทบต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงการจราจรทั้งทางบก และทางอากาศ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทางภาคเหนืออีกด้วย
ในขณะที่หน่วยงานต่างๆ พยายามหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน อาทิ การทำฝนหลวง การรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันลดการเผาขยะ และการเผาในที่โล่ง นอกจากนี้ยังมีการส่งหน้ากากอนามัยจำนวน 130,000 ชิ้น และคู่มือการดูแลสุขภาพเนื่องจากควันไฟป่าไปให้ ประชาชนในพื้นที่อีก 50,000 ฉบับด้วย ล่าสุดจังหวัดเชียงใหม่เลื่อนการจัดเทศกาลสงกรานต์มาเป็นวันที่ 1 เม.ย. เพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศ
ปัจจุบันปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือยังมีการติดตามสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อาจมีบางท่านที่สงสัยว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหมอกอย่างไหนที่เป็นมลพิษทางอากาศ มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีเครื่องมือตรวจสอบหรือไม่ ผู้เขียนจึงได้อธิบายที่มาของการเกิดหมอกควัน วิธีการวัดคุณภาพอากาศ และท้ายที่สุดได้สรุปสถานการณ์ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือไว้ดังนี้
หมอกกับหมอกควันแตกต่างกันอย่างไร?
หมอกเกิดจากการกลั่นตัวของไอน้ำเมื่ออากาศหนาวเย็น ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณที่มีอากาศเย็นท้องฟ้าแจ่มใสไม่มีลม อาจทำให้เกิดน้ำค้าง น้ำค้างแข็งบริเวณใกล้พื้นดิน และหมอกมักเกิดในช่วงเวลากลางคืน หรือเช้าๆ หมอกนั้นไม่จัดว่าเป็นมลพิษทางอากาศ แต่จัดเป็นมลภาวะทางทัศนียภาพของผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะ
ส่วนหมอกควัน หมายถึง การสะสมของควันหรือฝุ่นในอากาศ ส่วนใหญ่เกิดจากเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และไฟป่า หมอกควันจัดเป็นมลพิษทางอากาศอย่างหนึ่งในบรรดาสารต่างๆ ที่ปะปนอยู่ในอากาศ อาทิเช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) สารตะกั่ว (Pb) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NOx) และก๊าซโอโซน (O3) เป็นต้น สำหรับหมอกควันจัดเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM 10) ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่การที่เราจะดูว่าฝุ่นละอองนั้นจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ๆ ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของฝุ่นเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับปริมาณฝุ่นที่ได้รับด้วย และเพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจได้ง่ายจึงได้มีการคิดค่าดัชนี ซึ่งสามารถบอกถึงระดับคุณภาพอากาศที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระดับต่างๆ ไว้ด้วย เรียกว่า ดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ Air Quality Index (AQI)
เกณฑ์ของดัชนีคุณภาพอากาศในประเทศไทย (AQI)
ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ระดับ 0 ถึงมากกว่าระดับ 300 ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยดัชนีคุณภาพอากาศระดับ 100 จะมีค่าเทียบเท่ามาตรฐานคุณภาพ อากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่าระดับ 100 แสดงว่า ค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐาน และคุณภาพอากาศในวันนั้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
|
ตารางที่ 1 เกณฑ์ของดัชนีคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย |
AQI |
ความหมาย |
สีที่ใช้ |
สีที่ใช้ |
0-50 |
ดี |
ฟ้า |
ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ |
51-100 |
คุณภาพปานกลาง |
เขียว |
ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ |
101-200 |
มีผลกระทบต่อสุขภาพ |
เหลือง |
ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังภายนอกอาคาร บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ไม่ควรทำกิจกรรมภายนอกอาคารเป็นเวลานาน |
201-300 |
มีผลกระทบต่อสุขภาพมาก |
ส้ม |
ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ควรจำกัดการออกกำลังภายนอกอาคาร |
มากกว่า 300 |
อันตราย |
แดง |
ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ควรจำกัดการออกกำลังภายนอกอาคาร |
|
อย่างไรก็ตาม การที่เราจะวัดระดับคุณภาพทางอากาศได้นั้น จำเป็นจะต้องมีการนำค่าสารพิษทางอากาศแต่ละประเภทมาคำนวณเพื่อหาค่าดัชนีคุณภาพอากาศแต่ละระดับ โดยมีสูตรการคำนวณดังนี้
การคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศรายวันของสารมลพิษทางอากาศแต่ละประเภท (i)
ดัชนีคุณภาพอากาศรายวันของสารมลพิษทางอากาศคำนวณได้จาก ค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศจากข้อมูลผลการตรวจวัด โดยแต่ละระดับของค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศสามารถนำมาเทียบเท่ากับค่าดัชนีคุณภาพอากาศที่ระดับต่างๆ (ดังตารางที่ 2) มีสูตรการคำนวณดังนี้
กำหนดให้
Xi = ความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศจากผลการตรวจวัด
Xij = ความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศที่เป็นค่าต่ำสุดของช่วงพิสัยที่มีค่า Xi นั้น
Xij+1 = ความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศที่เป็นค่าสูงสุดของช่วงพิสัยที่มีค่า Xi นั้น Ii = ค่าดัชนีย่อยคุณภาพอากาศ
Iij = ค่าดัชนีย่อยคุณภาพอากาศที่เป็นค่าต่ำสุดของช่วงพิสัยที่มีค่า Ii นั้น
Iij+1 = ค่าดัชนีย่อยคุณภาพอากาศที่เป็นค่าสูงสุดของช่วงพิสัยที่มีค่า Ii นั้น
AQI = ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ
|
ตารางที่ 2 ค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศที่เทียบเท่ากับค่าดัชนีคุณภาพอากาศ
เอกสารอ้างอิง United States Environmental Protection Agency, July 1999, Guideline for Reporting of Daily Air Quality - Air Quality Index (AQI), 40 CFR Part 58, Appendix G. อ้างใน www.pcd.go.th/info_serv/en_air_aqi.htm |
การเกิดหมอกควันในภาคเหนือ |
จากการรายงานของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า แนวโน้มการเกิดหมอกควันพบได้ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเริ่มมีแนวโน้มที่สูงขึ้นตั้งแต่ปลายเดือน ธันวาคม 2549 และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างชัดเจนตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2550 สาเหตุเพราะมีการเกิดไฟป่าทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชา เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่เกษตรกรจะทำการเผาเศษวัสดุเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับทำการเกษตรในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้สภาวะอากาศที่นิ่งทำให้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นสามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นานโดยไม่ตกลงสู่พื้นดิน และในปี 2550 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากร่องความกดอากาศสูงที่พาดผ่านพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลให้หลายพื้นที่มีอากาศเย็น ประชาชนมีการก่อไฟเพื่อให้ความอบอุ่น จึงส่งผลให้มีปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้นจากการเผาไหม้ดังกล่าว นอกจากนี้สภาพความกดอากาศ อุณหภูมิ และความชื้นยังก่อให้เกิดหมอกในตอนเช้า เมื่อหยดน้ำในอากาศรวมตัวกับฝุ่นละอองและสารมลพิษในอากาศเกิดเป็นลักษณะของ smog (smoke + fog) ขึ้นจึงเกิดสภาพฟ้าหลัว ส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัยและสุขภาพอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ปริมาณฝุ่นควันที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ในภาคต่าง ๆ มีแนวโน้มลดลง ยกเว้น ภาคเหนือ และภาคกลางบางจังหวัด ทั้งนี้เพราะได้รับอิทธิพลของความกดอากาศสูง อากาศเย็น และมีหมอกในตอนเช้า นอกจากนี้ยังพบการเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การเผ่าขยะในชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคเหนือมีรายงานว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 วันที่ 5 มีนาคม 2550 มีไฟป่าเกิดขึ้น 4,198 ครั้ง ส่วนใหญ่เกิดในภาคเหนือมากที่สุด และถือเป็นการเกิดไฟป่าที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้สถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือจึงมีความรุนแรงมากกว่าทุกปีที่เคยผ่านมา
สถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือ
จังหวัดที่อาจได้รับผลกระทบจากหมอกควันมีอยู่ 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน และพะเยาะ ในจำนวนนี้มีอยู่ 4 จังหวัดที่เป็นจุดเสี่ยงต่ออันตราย คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และลำปาง
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่จากการตรวจคุณภาพอากาศที่จุดตรวจที่ศูนย์ราชการรวมฯ และโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย พบว่า ในช่วงเดือนมีนาคมคุณภาพอากาศค่อนข้างมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะวันที่ 14 มีนาคม ณ จุดตรวจที่ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่อันตราย แต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมจนกระทั่งถึงเดือนเมษายน พบว่า แนวโน้มคุณภาพอากาศดีขึ้นอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
|
ดัชนีคุณภาพจังหวัดเชียงใหม่
|
ส่วนจังหวัดเชียงรายจากการตรวจคุณภาพอากาศ พบว่า ในช่วงเดือนมีนาคมจนกระทั่งถึงต้นเดือนเมษายนคุณภาพอากาศค่อนข้างมีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ในช่วงกลางเดือนเมษายนเป็นต้นมา พบว่า แนวโน้มคุณภาพอากาศดีขึ้นอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในวันที่ 15 เมษายน คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี
|
ดัชนีคุณภาพจังหวัดเชียงราย
|
สำหรับแม่ฮ่องสอนจากการตรวจคุณภาพอากาศ พบว่า คุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม จนถึงวันที่ 12 เมษายน และแนวโน้มคุณภาพอากาศเริ่มดีขึ้นอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน จนถึงวันที่17 เมษายน
|
ดัชนีคุณภาพจังหวัดแม่ฮ่องสอน
|
สำหรับจังหวัดลำปางจากการตรวจคุณภาพอากาศที่จุดตรวจมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง และอำเภอแม่เมาะ พบว่า ช่วงที่คุณภาพอากาศค่อนข้างมีผลกระทบต่อสุขภาพมีเพียง 6 วัน คือ ระหว่างวันที่ 11, 13, 14, 15, 18 และ19 มีนาคม หลังจากนั้นคุณภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ดี
|
ดัชนีคุณภาพจังหวัดลำปาง
|
เรียบเรียงโดย : ศิริพร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ |
แหล่งที่มา : |
Air Quality Index: AQI กรมควบคุมมลพิษ http://www.pcd.go.th/info_serv/en_air_aqi.thm |
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย http://www.rittiya.com |
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย http://www.disaster.go.th |
การเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพจากหมอกควันปี 2550 กรมควบคุมโรค
http://203.157.15.4/index.php?send=draught |
การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
http://thaienvimonitor.or.net/Concept/priority5.htm. |
รายงานสถานการณ์การเพิ่มสูงขึ้นของปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน กรมควบคุมมลพิษ http://gendb.pcd.go.th |
สุขภาพ อนามัย อาหาร ยา โรค Health food drug http://www.tttonline.net |
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 มีนาคม 2550 http://www.bangkokbiznews.com |
หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 19 มีนาคม 2550 ปีที่ 16 ฉบับที่ 5954 http://www.matichon.co.th |
หนังสือพิมพ์รายวันเชียงใหม่ วันที่ 13 มีนาคม 2550 http://www.chiangmainews.co.th |
|
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง : |
http://gendb.pcd.go.th(กรมมลพิษ)
http://www.ddc.moph.go.th(กรมควบคุมโรค)
http://www.disaster.go.th(กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) |
|
|