ทั้งนี้โรคที่ฟักตัวได้ดีในสภาพร้อนชื้นของโลก มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นภายในระยะเวลา 10-20 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย รวมทั้งโรคจากอาหารและน้ำ เช่น อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ บิด อาหารเป็นพิษ เป็นต้น นอกจากนี้สภาพอากาศที่ร้อนชื้นยังทำให้แบคทีเรียในอากาศมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ โอกาสในการแพร่ระบาดสูง และในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่า โรคเหล่านี้ หากไม่รีบรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ อาจมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 60%
นพ.ธวัช กล่าวต่อว่า สำหรับโรคไข้เลือดออก ถือว่าเป็นโรคที่ต้องจับตามองมากที่สุด เพราะนอกจากจะยังไม่มียาหรือวัคซีนในการรักษาแล้ว ปัจจุบัน ยังพบว่ายุงลายซึ่งเป็นพาหะสำคัญของโรค ซึ่งเคยออกหากินในเวลากลางวัน ได้เปลี่ยนมาออกหากินในเวลาพลบค่ำด้วย มีการศึกษาพฤติกรรมการหากินของยุงลายจากเดิมที่จะหากินในช่วงเวลากลางวัน ก็ขยายเวลาไปถึง 5 ทุ่ม ทำให้ยากต่อการป้องกันหรือวินิจฉัยโรค เพราะที่ผ่านมา ยุงที่หากินในช่วงหัวค่ำไปจนถึงดึกนั้นส่วนใหญ่จะเป็นยุงรำคาญ แต่ตอนนี้ไม่สามารถระบุได้เพราะในช่วงหัวค่ำถึงกลางดึกยุงลายก็ออกหากินเหมือนกัน ประชาชนจึงควรจะระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด ทุกช่วงเวลาจะปลอดภัยที่สุด ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาของ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการเปลี่ยนแปลงชีวนิสัยของยุงลายภายหลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในธรรมชาติ พบว่า ยุงลายตัวผู้ ซึ่งปกติจะไม่กินเลือดคน แต่จะกินน้ำหวานจากพืช กลับพบว่า มีเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก ทำให้สงสัยว่ายุงลายตัวผู้ได้เชื้อนี้มาจากแหล่งใด ในเมื่อไม่กินเลือดคน
นพ.ธวัช กล่าวอีกว่า ได้มีการศึกษาต่อเนื่อง ทำให้ทราบว่า ยุงลายตัวผู้น่าจะได้รับเชื้อนี้มาจากแม่ยุงลายที่ติดเชื้อผ่านทางไข่ และยุงลายตัวผู้ที่ติดเชื้อก็สามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสเดงกีไปยังตัวเมียที่มาผสมพันธุ์ได้ ซึ่งในธรรมชาติยุงตัวผู้ผสมพันธุ์ได้หลายครั้งจึงมีโอกาสแพร่เชื้อได้มาก และตัวเมียที่ได้รับเชื้อมาจากตัวผู้ก็สามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสเดงกีที่ได้รับจากตัวผู้ไปให้กับลูกได้ แต่ยุงลายตัวเมียจะไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อนี้ให้กับยุงลายตัวผู้ที่มาผสมพันธุ์ได้ ดังนั้น จึงอาจเป็นไปได้ว่าไวรัสเดงกีถ่ายทอดผ่านน้ำเชื้อของยุงลายตัวผู้
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบเชื้อไวรัสเดงกีในลูกน้ำยุงลายอีกด้วย แต่ที่น่าสนใจก็คือ หลังจากที่ผู้ศึกษาได้สกัดเอาเชื้อไวรัสเดงกีที่อยู่ในตัวยุงลายตัวผู้ออกมาศึกษาด้วยวิธี อาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจแบบพิเศษก็พบว่ายุงลายตัวผู้บางตัวมีเชื้อไวรัสเดงกี 2 สายพันธุ์ในตัวเดียวกัน ซึ่งถือว่าอันตราย จำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไปอีกว่า เชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไปหรือไม่ เพื่อหาแนวทางควบคุมการระบาดของไข้เลือดออก รวมถึงการกำจัดและควบคุมยุงลายทั้งปี ไม่ใช่รอให้มีการระบาดก่อนแล้วค่อยมากำจัดยุงลายหรือลูกน้ำยุงลายทีหลัง
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังดำเนินการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละประเทศ ในประเทศไทยเองมีหน่วยปฏิบัติการเทคโนชีวภาพทางการแพทย์ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทย์ศิริราชพยาบาล และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้พยายามคิดค้นนวัตกรรมการป้องกันไข้เลือดออกเป็นเวลาหลายสิบปี นับตั้งแต่ค้นคว้าจนพบความรู้ใหม่ พัฒนาเทคนิควิธีการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อความแม่นยำและรวดเร็ว ตลอดจนพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่สามารถจะนำมาใช้กับคนไทยในระยะเวลาอีกไม่นานนัก ในเรื่องความหวังของการมีวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคไข้เลือดออก ไทยได้จัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล มาตั้งแต่ พ.ศ. 2527 และได้ค้นคว้าการพัฒนาการผลิตวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้คิดค้นวัคซีนไข้เลือดออกกล่าวว่า อีกไม่เกิน 1- 2 ปี วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ * รายละเอียด *จะสำเร็จ แค่ฉีดยาเข็มเดียวสามารถป้องกันเชื้อได้ทั้งหมด ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบความปลอดภัย
สถานการณ์ไข้เลือดออก
สำหรับสถานการณ์ไข้เลือดออกทั่วประเทศในปีนี้ จากรายงานสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 16
มิถุนายน 2550 พบว่า จังหวัดกว่าร้อยละ 50 ของประเทศมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 16,167 ราย เสียชีวิตแล้ว 15 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2,556 ราย จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2549 ร้อยละ 30 ที่น่าเป็นห่วงคือเพียง 2 สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน 2550 พบผู้ป่วยแล้ว 2,676 ราย โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงสิงหาคมจะเป็นช่วงที่พบผู้ป่วยสูงทุกปี ซึ่งปีนี้ผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่สุดคือเด็กวัยเรียนอายุ 5-14 ปี ร้อยละ 53 รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 24 และกลุ่มวัยทำงาน อายุ 25-34 ปี ส่วนผู้ใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไปป่วยแล้วกว่า 1,000 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากมักซื้อยารับประทานเอง และปล่อยจนมีอาการหนักจึงไปพบแพทย์ เสี่ยงต่อภาวะช็อกและเป็นอันตรายถึงชีวิต
จะ....ป้องกันไข้เลือดออกอย่างไรดี ?
การป้องกันง่ายๆ มีอยู่ 2 แนวทางคือ
อย่างแรก ถ้าไม่มียุงลาย ก็ไม่มีโรคไข้เลือดออก เพราะคนที่เป็นไข้เลือดออกไม่สามารถมากัดเพื่อแพร่เชื้อสู่เราได้
ส่วนการป้องกันอีกทางหนึ่งนั้นก็คือ ไม่โดนยุงลายกัด ก็ไม่เป็น ดังนั้นจึงควรนอนกางมุ้งหรือจะหาอะไรครอบคลุมก็ตาม แต่อย่าให้ยุงกัดได้ และควรอยู่ในที่ที่มีแสงสว่างและอากาศถ่ายเทสะดวก
* รายละเอียด *
ทำไมต้องกำจัดแหล่งยุงลายทุก 7 วัน ?