วันนี้ทางโครงการวิจัยและพัฒนาศักยภาพของระบบสารสนเทศด้านอุบัติเหตุ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และโรงพยาบาลขอนแก่น ได้จัดประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ Trauma Care ระหว่างโรคพยาบาลจากภาคต่าง รวมมีผู้เข้าร่วมการประชุม 41 คน โดย ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์และสิ่งที่คาดหวังจากการประชุมในวันนี้ว่า งาน Trauma Care ได้มีการพัฒนามานานไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการพัฒนา Trauma registry และ Trauma Audit สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสัญญาอันดี ถึงการเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์ท่ามกลางความวิตกกังวล ภาวะคุมคามจากภัยพิบัติต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น พายุนากีส ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนับว่าประเทศไทยยังโชคดีอยู่มาก เพราะมีสินทรัพย์ทางปัญญาซึ่งพร้อมที่จะรับมือกับเรื่องร้ายๆ เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ สิ่งที่สำคัญคือ การพัฒนาภูมิปัญญาและระบบสารสนเทศที่ได้ช่วยกันพัฒนามานานถึง 17 ปี น่าจะช่วยให้งาน Trauma Care ประสบผลสำเร็จ โดยมีวิทยากรที่มาให้ความรู้ในการพัฒนาระบบ Trauma Care จำนวน 2 ท่าน คือ นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย และดร.อัมรินทร์ ทักขิญเสถียร นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย จากโรงพยาบาลขอนแก่น ได้บรรยายถึงฟันเฟืองของระบบควบคุมการบาดเจ็บไว้ว่า เรื่องของภัยพิบัตินับวันจะเกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ มีหลายประเทศที่ได้รับความเสียหายมากมาย เพราะไม่มีการเตรียมความพร้อม ทั้งนี้มีเหตุการณ์ที่สร้างความเสียมากมาย นับตั้งแต่ภัยธรรมชาติ เช่น สึนามิ หรืออุบัติเหตุต่างๆ เช่น เครื่องบินวันทูโก และไม่นับเหตุการณ์เล็ก ๆ น้อย เช่น รถชนคนตาย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุที่เราต้องเผชิญหน้าและแบกรับภาระกันอยู่ทุกวัน ดังนั้นความเชื่อที่ว่า "เหตุการณ์อย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นกับบ้านเราหรอก" เป็นความเชื่อที่ใช้ไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมา ได้สร้างบทเรียนเกี่ยวกับการให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินของประเทศไทยไว้ว่า เมื่อเกิดเหตุการณฉุกเฉินเรายังขาดการประสานงานที่ดี หมายเลขโทรศัพท์ในการแจ้งเหตุฉุกเฉินประชาชนควรจะทราบแต่กลับไม่ทราบ หน่อยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการสนับสนุนบริการยังขาดการเชื่อมโยงกัน และยังขาดมาตรฐานในการรักษาแผลที่สกปรก จากบทเรียนที่ผ่านมาจึงเกิดคำถามว่า หากเกิดภัยพิบัติอย่างพายุนากีสเข้ามา ประเทศไทยจะเตรียมรับมือต่อเหตุการณ์เช่นนี้อย่างไร ขณะนี้ทุกโรงพยาบาลยังมีปัญหา Hospital care และ Evaluation เนื่องจากระบบข้อมูล Trauma Care ยังไม่เป็นระบบ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำ Trauma Registry ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการนำไปใช้วางยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาระบบ Trauma Care นอกเหนือจาก Trauma Registry แล้ว ดร.อัมรินทร์ ทักขิญเสถียร ยังได้บรรยายถึง วิธีการวิเคราะห์แบบ Meta-analysis เพื่อนำข้อมูล Trauma Registry ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ระดับชาติไปใช้ประโยชน์ ต่อการวางแผนระบบบริการผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย ในตอนท้ายๆ ของการประชุม นักวิจัยจากคณะวิศวกรรม สถาบัน AIT ได้นำเสนอ โปรแกรมสารสนเทศอุบัติเหตุ Provincial Road Safety Management System (PRSS) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ได้รับการพัฒนาภายใต้โครงการวิจัย และพัฒนาศักยภาพของระบบสารสนเทศด้านอุบัติเหตุจราจร โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ โปรแกรมนี้พัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการข้อมูลด้านอุบัติเหตุจราจร ที่ได้มาจากข้อมูลทุติยภูมิ จากฐานข้อมูลหลัก ได้แก่ ฐานข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บของโรงพยาบาล ฐานข้อมูลอุบัติเหตุจากกรมทางหลวง และฐานข้อมูลอุบัติเหตุจากตำรวจ ทั้งนี้ นพ.พินิจ ฟ้าอำนวยผล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจไว้ว่า ความรู้ที่ได้ในวันนี้ถือว่ามีประโยชน์ สำหรับแนวคิดต่างๆ ที่ได้นำเสนอนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะระบบข้อมูลมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องขยายข้อมูลไปสู่กลุ่มผู้ป่วยทุกราย นอกจากนี้อยากจะเห็นการขยายผลโปรมแกรม PRSS ไปยังโรงพยาบาลด้วย ทั้งนี้เพื่อให้โรงพยาบาลได้นำไปใช้ประโยชน์ โดยทางสำนักงานฯ ยินดีให้การสนับสนุน